13 February 2015

Coaching   คือ การช่วยให้คนคนหนึ่งพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากจุดใดจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

ในการโค้ช เราต้องประยุกต์ใช้วิธีการสื่อสารและการสอนของเรา   ผมและทีม The  coachแนะนำให้ใช้   4-Is  Coaching Model:  การ โค้ชเริ่มต้นด้วยการสังเกตรายบุคคล ( Individualization ) ว่าเราควรจะเลือกใช้วิธีไหนระหว่าง    การสอน (Instruct)    การสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire)   หรือ    การตั้งคำถามให้คิด (Inquire)

สำหรับรายละเอียดของแต่ละวิธีคือ

1. Instruct    หรือการสอน เป็นวิธีช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้โดยการบอก สอน หรือสั่ง วิธีนี้ใช้ได้ดีในการสอนกระบวนการทำงาน หรือความรู้เฉพาะทาง เช่น บอกให้ทีมทราบเกี่ยวกับค่านิยมขององค์กร เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ทราบมาก่อน

2. Inspire หรือการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นวิธีช่วยให้ผู้อื่นเรียนทางอ้อม มีแนวทางที่เราสามารถใช้ได้ คือ

2.1  ทำ อย่างที่พูด หรือทำตัวเป็นตัวอย่าง ทำสิ่งที่พูดและพูดในสิ่งที่ทำ เช่นเราอยากให้ทีมทำงาน โดยใช้ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง เราอาจต้องลองรับคำร้องทุกข์ของลูกค้าด้วยตนเองบ้าง

2.2  เล่าเรื่อง มีเรื่องราวมากมายที่ใช้ในการโค้ชได้ เทคนิคคือเราควรจัดประเภทเรื่องที่มี เช่น

– ทัศนคติเชิงบวก ความเป็นมืออาชีพ   การรับมือความยากลำบาก ภาวะผู้นำ หรือการบริหาร
แชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าเราได้รับความเชื่อถือจากพวกเขาแล้วเพราะเขารู้ว่าเราคือใคร เป็นคนอย่างไร ความสำเร็จในอดีตเป็นเช่นไร  การแบ่งปันประสบการณ์อาจช่วยได้ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมถามพวกเขาก่อนว่าอยากฟังหรือไม่

การโค้ชโดยสร้างแรงบันดาลใจนั้นไม่เป็นการสั่งการมากไป  เราอาจเป็นแบบอย่างที่ดีและแบ่งปันประสบการณ์กับพวกเขา แต่สุดท้ายพวกเขาจะเลือกเองว่าจะนำสิ่งที่เราเล่าไปใช้หรือไม่

3. Inquire เป็นการโค้ชโดยการถาม เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการโค้ชคนทำงานที่ต้องใช้ความคิดเป็นหลัก เราใช้คำถามเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้อื่นคิดได้ดีมากขึ้น แต่ก็เป็นวิธีที่ยากที่สุดในบรรดา 3Is การโค้ชทั้งสามแบบ  แต่ละแบบก็เหมาะกับแต่ละบุคคลในแต่ละสถานการณ์ ดังนั้น   จึงต้องใช้เทคนิค  Individualize”  ก่อนลงมือโค้ชเพื่อประเมินดูว่าควรจะเลือกวิธีไหนในสามทางเลือก       อย่างไรก็ตาม  Inquire หรือการใช้คำถามในการโค้ชนั้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย เพราะว่าแนวคิดนี้พัฒนามาจากตะวันตก  ซึ่งมีวัฒนธรรมในการเรียนรู้ที่ฝึกให้คนคิดในเชิงวิพากษ์   (Critical Thinking)  โดยพ่อแม่และครูในสังคมตะวันตกจะใช้คำถามสอบถามเพื่อให้คนแสดงความคิด     การคิดเชิงวิพากษ์นั้นมาจากโสกราตีส  (Socrates)  ซึ่งเป็นคนที่ใช้กระบวนการนี้จนมีคำศัพท์เทคนิคโดยเฉพาะว่า Socratic Method  หรือวิธีการของโสกราตีสนั่นเอง

เตรียมตัวว่าที่ CEO

ดร.ศักดิ์  เป็นหนึ่งในคนเก่งในองค์กรชั้นนำแห่งหนึ่ง  ในการคุยกันครั้งก่อน เขาบอกผมว่าเขาปรารถนาที่จะเป็นซีอีโอในห้าปีข้างหน้า  ผมให้การบ้านเขาไประบุว่าผู้นำในอนาคตต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง  แล้วนำมาคุยกันในวันนี้

“โค้ช เกรียงศักดิ์  ผมลองไปค้นคลิปในยูทูบของ Harvard Business Review  ผมพบคลิป “Ask the Coach” ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ Marshall Goldsmith กูรูด้านภาวะผู้นำผู้โด่งดัง  มาร์แชลอ้างถึงงานวิจัยที่ เขาและทีมงานสัมภาษณ์ผู้บริหาร 200 ท่านทั่วโลกว่า  “ผู้นำในอนาคตจะมีคุณสมบัติแตกต่างอย่างไรกับผู้นำในอดีต”    ซึ่งเขาระบุออกมาดังนี้ครับ

1. คิดแบบโลกาภิวัฒน์
2. สนุกกับการทำงานร่วมกับคนที่มีวัฒนธรรมและพื้นฐานที่หลากหลาย
3. เข้าใจและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเป็น
4. สร้างพันธมิตร
5. แบ่งปันภาวะผู้นำ (Sharing Leadership)
6. เรียนรู้เก่ง”

“ดร.ศักดิ์  แล้วเรื่องไหนที่อยากคุยในวันนี้ครับ”

“การแบ่งปันภาวะผู้นำครับ  มาร์แชลยกคำพูดของปีเอตร์ ดรั๊กเกอร์ว่า  “ผู้นำในอดีตรู้ว่าจะสั่งอะไร  แต่ผู้นำในอนาคตรู้ว่าจะถามอย่างไร”

มาร์แชลบอก ต่อว่า  “การเปลี่ยนแปลงสำหรับเรื่องของภาวะผู้นำก็คือ  ในอดีตผู้นำรู้มากกว่าผู้ตามซึ่งเป็นระบบพี่สอนน้อง  คนทำงานเก่งทำงานมากรู้มากจึงได้รับการโปรโมทสูงขึ้นไปเพราะรู้งานเยอะกว่า ลูกน้อง  แต่ว่าในโลกสมัยใหม่ผู้นำมีผู้ตามเป็น Knowledge Workers ไปแล้ว Knowledge Workers คือใคร  คือ คนที่ใช้ความรู้ในการทำงานซึ่งเขามักจะมีความรู้และข้อมูลในงานของเขา มากกว่าหัวหน้าเขา  เมื่อเราต้องบริหารคนที่รู้มากกว่าเรา  เราจึงไม่สามารถจะบอกว่าต้องทำอะไรอย่างไร  เราต้อง  ถาม  ฟัง  และเรียนรู้  ซึ่งทำให้ภาวะผู้นำเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของการแบ่งปันภาวะผู้นำ”

Coach

Q : “ดร.ศักดิ์  ประเมินตนเองในเรื่องการแบ่งปันภาวะผู้นำ อย่างไรครับ”
“จากคะแนน 1-10 ผมคิดว่าผมได้เพียง 5 ครับ”

Q : “อยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไรครับ”
“ผมต้องการเห็นตัวเองเป็น 10 ใน 5 ปีข้างหน้าครับ  แต่ว่าระยะสั้นคือสิ้นปีนี้ผมอยากจะอยู่ที่ 8 ครับ”

Q : “จะต้องทำอย่างไรบ้างครับเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนี้”
“โค้ช  ผมคิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง  ตามขั้นตอนนี้ครับ

1. เปลี่ยนทัศนคติ
2. เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
3. ฝึกทักษะใหม่ๆ ทีละเรื่องครับ”

Q : “ดร.ศักดิ์  คุณเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของตัวเองดีมากเลยครับ  เยี่ยมเลยอย่างนี้  ว่าแต่ว่าปัจจุบันนี้ทัศนคติเดิมของคุณในเรื่องนี้คืออะไรครับ”
“เดิม ผมเชื่อว่าผมจะสำเร็จผมต้องใช้ภาวะผู้นำและอำนาจโดยลำพัง  ซึ่งหมายความว่าผมต้องรู้ทุกเรื่องในฝ่ายงานของผม  ผมต้องตัดสินใจในทุกๆเรื่อง”

Q : “ทำไมจึงเกิดความเชื่อแบบนั้นละครับ  มันมีที่มาอย่างไรครับ”
“ผม คิดว่าผมฝึกตัวเองมาแบบนั้นครับ  ผมเป็นคนเรียนเก่งตั้งแต่มัธยม  ผมตัดสินใจทุกเรื่องด้วยตัวเองตั้งแต่มัธยมจนถึงปริญญาเอก  เมื่อผมเริ่มทำงานตั้งแต่เป็นระดับปฎิบัติการ  ผมก็ทำแบบนี้มาตลอด  มันเวิร์คในอดีตครับ  แต่ว่ามันจะไม่ช่วยให้ผมเป็นซีอีโอที่ยอดเยี่ยมหากผมไม่เรียนรู้ที่จะเริ่ม แบ่งปันภาวะผู้นำครับ”

Q : “ทัศนคติคุณเปลี่ยนไปแล้วนี่ครับ”
“จริงหรือครับ”

ผมพยักหน้า

“โค้ช  แต่ผมกลัวว่าผมรู้ว่าควรที่จะคิดแบบนี้  แต่ว่าผมอาจจะกลับไปประพฤติแบบเดิมเพราะว่ามันคุ้นเคยกว่า”

Q : “ดร.ศักดิ์  เป็นไปได้สูงครับ  นั่นคือ  สาเหตุที่เราควรจะเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ที่เราอยากจะเห็น  คุณต้องฝึกพฤติกรรมใหม่นี้เพื่อเสริมความคิดใหม่  มันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยหลักที่ว่า         “ฝืนจนกระทั่งเป็นธรรมชาตินะครับ”

เขาพยักหน้า

Q : “ดร.ศักดิ์  คิดว่ามีพฤติกรรมที่อยากเปลี่ยนแปลง  คือ  อะไรบ้างครับ”
“โค้ชครับ  เมื่อผมทำงานกับแต่ละคนที่รายงานตรงกับผม   ผมจะทำในสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นคือ  สังเกต  ถาม  และฟัง  ครับ”

Q : “ทักษะทั้งสามนี้ง่ายแต่สำคัญ  ผมมั่นใจว่าคุณรู้ว่าจะทำอย่างไร  แต่จะทำให้มากขึ้นนั้นไม่ง่ายเลย  คุณคิดว่าจะวางแผนอย่างไรดีครับ”
“ผมต้องมั่นใจในตัวพวกเขาก่อนว่าพวกเขาจะรับผิดชอบ  และพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันภาวะผู้นำไปจากผมครับ”

Q : “ทีมงานของคุณมีความสามารถและรับผิดชอบกันเพียงใดครับ”
“พวกเขาทำได้ดีทั้งสองเรื่องครับ  แต่ว่าผมต้องแจ้งให้พวกเขาทราบการเปลี่ยนแปลงก่อน  เพราะว่าหากผมเริ่มเปลี่ยนเป็น สังเกต ถาม และฟังมากขึ้น  พวกเขาอาจจะแปลกใจกับการเปลี่ยนแปลงของผม  เผลอๆพวกเขาอาจจะสงสัยในเจตนาของผม  เมื่อเริ่มสงสัยแล้ว  พวกเขาอาจจะไม่กล้ารับการแบ่งปันภาวะผู้นำไปจากผมครับ  ผมคิดว่าลำดับแรกเลยคือการสื่อสารให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมผมจึงเปลี่ยนแปลงไป  และวิธีการจะเปลี่ยนแปลงไปนั้นจะทำอะไรบ้าง”

Q : “เยี่ยมเลยครับ  เรามาคุยกันต่อในคราวหน้านะครับ”




Writer

โดย เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย

Executive Coach; www.thecoach.in.th