16 April 2015

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคมในเอเซียตะวันออกมีการเปลียนแปลงที่สำคัญหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อโลก    รวมถึงประเทศไทย  ปีนี้เรามาลองดูกันว่าประเทศที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้  เช่น  จีน    เกาหลีใต้   และญี่ปุ่น  จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าจับตามองกันบ้าง

 ประเทศจีน     

เศรษฐกิจ 

ประเทศจีนเริ่มมี GDP  ต่ำกว่า 10%    ในปีค.ศ 2011   และในปี ค.ศ 2014 GDP ของจีนลดเหลือ 7.4%    ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ คือ 7.5%   ซึ่งเป็นการพลาดเป้าครั้งแรกและโตต่ำที่สุดตั้งแต่ปีค.ศ. 1990   สาเหตุที่ปีค.ศ 2014   เศรษฐกิจของจีนโตต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากตลาดโลกถดถอย ทำให้ภาคการส่งออกลดลง เพราะเศรษฐกิจจีนยังพึ่งพาต่างชาติเป็นหลัก ขณะนี้ จีนกำลังปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะเริ่มมีโครงสร้างแรงงานที่ไม่สมดุล จีนขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ในขณะที่มีบัณฑิตจบใหม่ว่างงาน อสังหาริมทรัพย์กำลังล้นตลาด และมณฑลท้องถิ่นก่อหนี้จำนวนมาก

ในปีค.ศ 2015 จีนตั้งเป้า GDP ที่ 7% ซึ่งสีจิ้นผิงประกาศจะเน้นระดับการเติบโตในระดับ Medium-High และถือว่าระดับนี้เป็นระดับปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อไปเศรษฐกิจจีนจะโตแบบไม่หวือหวาแต่เน้นความมั่นคง สำหรับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจ  มี 2 นโยบายหลักที่จะกระทบต่อโลก คือ
1. One Belt One Road เป็นการฟื้นฟูเส้นทางสายไหม โดยสร้างถนน รถไฟเพื่อเชื่อมจีนเข้ากับโลกตะวันออกกลางและยุโรป และฟื้นเส้นทางเดินเรือเชื่อม AEC เอเชียใต้ แอฟริกาตะวันออก จนถึงยุโรป
2. ตั้งธนาคารกลาง 3 แห่ง เพื่อแข่งกับ World Bank, IMF ได้แก่
• Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) โดยจีนเป็นผู้ลงทุนใหญ่ที่สุด มีเอเชียแปซิฟิก 19 ประเทศรวมทั้งไทย ล่าสุดมีอังกฤษ อิตาลีร่วมลงทุนเพื่อมีโอกาสได้โครงการจากจีน
• New Development Bank (NDB) จีนร่วมลงทุนกับประเทศกลุ่ม BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้
• Silk Road Fund ลงทุนในลาว ไทย สิงคโปร์

จีนมีแผนจะปรับโครงสร้างใหม่เน้นการเติบโตจากการบริโภค ไม่พึ่งพาการส่งออก และสร้างความเป็นเมืองให้กับชนบท (Urbanization) เพื่อช่วยเรื่องเศรษฐกิจในปัญหาแรงงานอพยพต่างมณฑล ดังนั้น จะทำให้แรงงานอยู่ติดถิ่นและเพิ่มค่าจ้างแรงงานยกระดับเป็นชนชั้นกลาง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศและเป็นพลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้   จีนตั้งเป้าหมายในปีค.ศ 2021 (100 ปีครบรอบก่อตั้งพรรค) คนจีนต้องกินดีอยู่ดีทั่วหน้า และปีค.ศ 2049   (100 ปีก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน  ) จีนจะเป็น Fully Developed Nation    หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยการส่งออกอุตสาหกรรมรายได้ต่ำไปที่อื่น   ทั้ง AEC และแอฟริกาใต้   แล้วจีนจะมุ่งทำเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งจีนจะทำให้ Productivity สูงขึ้นเพื่อรองรับค่าจ้างแรงงานที่จะสูงขึ้น

ผลกระทบต่อไทย  คือ   การส่งออกของจีนส่วนใหญ่เป็น  Intermediate Product ถ้าการส่งออกของจีนลดลงตามนโยบาย  New Normal  จะส่งผลให้การนำเข้า  Raw Material จากประเทศไทยลดลงตาม ดังนั้น   ถ้าจีนจะเพิ่มชนชั้นกลาง  ไทยควรปรับโครงสร้างการส่งออก ผลิตสินค้า Consumer Product เช่น อัญมณี หรือ Final Goods  ที่เป็นที่ต้องการของคนกลุ่มนี้

การเมือง
ในปีค.ศ 2014 มี 5 สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ คือ
1. การกระชับอำนาจของสีจิ้นผิง โดยแบ่งผู้นำออกเป็นกลุ่มย่อยแล้วตนเองเป็นประธานในทุกกลุ่มเพื่อรวมอำนาจไว้ และดึงพรรคพวกมาคุมตำแหน่งระดับสูงทั้งในพรรคและกองทัพ
2. การปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างเข้มข้น ทั้งสมาชิกพรรคระดับสูงและคนทั่วไป
3. การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศและในทะเลมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการควบคุมได้
4. ปัญหาชนกลุ่มน้อยอย่างอุยกูร์ก่อความรุนแรงเกิดขึ้นทุกเดือน ยิ่งจีนปราบปรามแบบเข้มงวดก็ยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น
5. การต่างประเทศ จากเดิมที่จีนไม่แสดงบทบาททางการต่างประเทศมาก ซึ่งตั้งแต่สีจิ้นผิงขึ้นมาเป็นผู้นำมีการประกาศ Chinese Dream ฟื้นฟูความเป็นจีนจากชาวจีนที่อยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ จีนยังสร้าง Nationalism สร้างความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐในระดับที่เท่าเทียมกัน และมีนโยบายกับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการใช้ Smart Power (Hard&Soft Power) ที่เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

การที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็น Rising Power และการรุกรานเกาหลีทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐชะงักไป 2 ปี โอบามาวางนโยบายเรื่อง Pivot to Asia ขึ้นเพื่อที่จะย้ายกำลังทหารเข้ามาในเอเชียเพื่อปิดล้อมจีน ในขณะเดียวกันก็ทำให้อินเดียหวาดระแวงจีน และพยายามสร้างความใกล้ชิดกับเวียดนาม ปากีสถาน ออสเตรเลีย สหรัฐ และญี่ปุ่น ในหลายปีที่ผ่านมา จีนพัฒนากองทัพมากขึ้นเพื่อป้องปรามไม่ให้สหรัฐโจมตี ส่งผลให้มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเชิงอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นไปด้วย

ในอนาคต ถ้าหากจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้จริง ผู้เชี่ยวชาญมองเป็น 2 Scenarios คือ   แบบแรก คือ จะเกิดการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ท้าทายต่อโลกตะวันตกในหลายด้าน ทั้งแนวทางการพัฒนาของรัฐและการตีความประชาธิปไตยที่ต่างจากตะวันตก ซึ่งจีนมองประชาธิปไตยว่า ทุกประเทศในโลกควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งกติกาในการค้าระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน USD แต่ใช้เงินท้องถิ่นแทน
แบบที่ 2 คือจีนจะเป็นมหาอำนาจแบบ Partial เพราะไม่มี Soft Power แบบที่สหรัฐมี และเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบจีนมากนัก โดยเฉพาะปัญหาการแย่งดินแดนใน South China Sea ดังนั้นจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อโลกมากนัก

สังคม
จีนมีปัญหาความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจน คน 470 ล้านคนเป็นแรงงานเถื่อนทำงานนอกมณฑล ซึ่งใช้สวัสดิการโรงพยาบาลรัฐไม่ได้ รัฐบาลจีนจึงพยายามผ่อนปรนให้แรงงานที่มีนายจ้างชัดเจนสามารถย้ายทะเบียนบ้านได้ นอกจากนี้ จีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับต้นทำให้จีนเริ่มผ่อนผันให้พ่อหรือแม่ที่เป็นลูกคนเดียวมีลูก 2 คนได้ ปัญหาสังคมที่เป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ คือ คุณภาพชีวิตและแรงกดดันของคนรุ่นใหม่ ปีค.ศ 2014 เด็กจบใหม่ได้ทำงานตรงสายที่เรียนเพียง 37% เท่านั้น และมีผู้ชายเพียง 29% ที่ถึงวัยแล้วแต่ไม่ได้แต่งงาน ทั้งที่จีนมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มีการศึกษาดีและอาศัยอยู่ในเมือง ทำให้ผู้ชายหาคนแต่งงานด้วยไม่ได้ ต้องนำเข้าเจ้าสาวจากที่อื่น เช่น เวียดนาม และถึงแม้จะหาผู้หญิงแต่งงานด้วยได้แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงในการเลี้ยงลูก

ดังนั้น นอกจากทุนและสินค้าแล้ว จีนยังจะส่งออก “คน” ออกมาเรียนและหางานทำที่ประเทศอื่น เช่น ไทย และประเทศใน AEC ซึ่งต่อไปจีนจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยทุกเวทีการแข่งขันในทุกประเทศ

 ประเทศเกาหลีใต้
เศรษฐกิจ
ภาพรวมปีค.ศ 2014 ค่อนข้างน่าผิดหวัง GDP โตได้ไม่ถึง 4% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง ค่าใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวลง เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เข้าสู่ Aging Society เร็วที่สุดในโลก ภายใน 15 ปี ประชากร 25% จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป สัดส่วนคนจ่ายภาษีลดลง ใช้สวัสดิการมากขึ้น รายจ่ายรัฐสูงขึ้น เงินกองทุนสวัสดิการสังคมจะหมดใน 10 ปี  ในขณะเดียวกัน   การส่งออกของเกาหลีใต้น้อยลง เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย เงินเยนอ่อนค่าทำให้คนหันไปซื้อสินค้าญี่ปุ่น  และมีการแข่งขันการผลิตสินค้าในจีนจากบริษัทเกาหลีด้วยกันเอง แต่ด้านรายได้การท่องเที่ยวกลับเพิ่มสูงขึ้นจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

ดังนั้น    Creative Economy   จึงเป็นนโยบายที่เกาหลีใต้ให้ความสำคัญมาก ในการขาย Content เช่น เกมออนไลน์ เครื่องสำอางค์ TV เพลง รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเรื่อง K Pop  and Cultural Enrichment มีการตั้ง Korean Cultural Center  ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญมากกว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหอการค้า มีการกำหนด Positioning ของตนเองในเครือข่าย เช่น Hollywood อย่างเหมาะสม โดยยอมแบ่งรายได้ 50% ให้แก่ Hollywood เพื่อสร้างกระแส K Pop ทั่วโลก เพื่อโปรโมทสินค้าเกาหลี และพยายามเป็น Digital Economy แบบสิงคโปร์ด้วยการเป็น Information Hub

การเมือง
การเมืองมีความมั่นคงสูง ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปีอยู่ได้เพียงวาระเดียวแต่มีอำนาจมาก กฎหมายทุกมาตราจะลงท้ายด้วยคำว่า “หรือตามที่ประธานาธิบดีจะเห็นสมควร” ประธานาธิบดีหญิงคนปัจจุบันอยู่ในวาระมาได้ 2 ปี ซึ่งเป็นที่จับตามองอย่างมากในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตเศรษฐกิจช้าเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของกลุ่ม G20 ชาวเกาหลีใต้จึงคาดหวังให้ประธานาธิบดีกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมีนโยบายรวมชาติกับเกาหลีเหนือที่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ แต่ผลงานที่ผ่านมาแม้ไม่แย่มากแต่ก็ไม่โดดเด่น ประธานาธิบดีหญิงมีความสามารถแต่มีปัญหาในการสื่อสารทั้งกับรัฐสภาและประชาชน ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าจัดการไม่ดีจะกระทบต่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน

สังคม
มีปัญหาการว่างงานของคนวัย 15-29 ปี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9% มีอัตราว่างงานแตกต่างจากวัยอื่นมาก ต้องทำงานต่ำระดับ(ต่ำกว่าวุฒิปริญญา) 19% เช่น ทำงานใน 7-11, McDonald ดังนั้น อัตราการศึกษาต่อสูงมาก เพราะไม่มีงานทำ แต่เมื่อจบปริญญาโทมาก็ว่างงานเหมือนเดิม และส่วนใหญ่ประชากรเกาหลีใต้ 90% เป็นชนชั้นกลาง ทำให้แม้จะมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แต่ต้องสอบให้ได้มหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น เพราะเด็กทุกคนแบกรับชื่อเสียงของทั้งตระกูลไว้ และเป็นชาติที่ถือเรื่อง Seniority ถ้ามีรุ่นพี่ทำงานดีๆ รุ่นน้องก็จะได้งานดี ถ้าได้เข้ามหาวิทยาลัยไม่ดีก็จะไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้ตลอดชีวิต อัตราการฆ่าตัวตายในเกาหลีจึงสูงกว่าอัตราการตายบนท้องถนน เพราะเป็นชาติที่ต้องประสบความสำเร็จให้ได้ ถ้าเกิดความผิดพลาดใดๆ จะถือว่าเป็นความผิดพลาดของคน ซึ่งคนนั้นจะต้องถูกลงโทษ

นอกจากนี้ ผู้หญิงเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่ยอมแต่งงาน ต้องนำเข้าผู้หญิงจากเวียดนามและจีนมาแต่ง ต่อไป เกาหลีใต้จะยอมรับคนชาติอื่นมากขึ้น และปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เรือล่ม ถนนยุบ ห้าง/สะพานข้ามแม่น้ำถล่ม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในช่วงเศรษฐกิจโตเร็ว มีการเล่นพรรคพวก ความหย่อนยานในมาตรฐานความปลอดภัย ทำให้ชาวเกาหลีใต้เกิดความรู้สึกหดหู่ยาวนาน

ประเทศญี่ปุ่น
เศรษฐกิจ
ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา GDP ญี่ปุ่นโตเพียง 2%ต่อปี เนื่องจากปัญหาเงินฝืด สินค้าราคาต่ำลง อัตราว่างงาน 5% ประชากรเป็น Ultra Aging หรืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปถึง 21% ซึ่งเน้นการออมเงิน ไม่ใช้จ่าย สินค้าจึงขายไม่ได้ในญี่ปุ่น ต้องไปลงทุนในเอเชียแทน อาเบะจึงออกนโยบาย Abenomics เพื่อหลุดพ้นเศรษฐกิจตกต่ำและก้าวสู่ความมั่งคั่ง ด้วยกลยุทธ์ธนู 3 ดอก
ธนูดอกที่ 1 อัดฉีดเงินปีละ 80 ล้านล้านเยน เพื่อเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ 2% ใน 2 ปี เพิ่มกำไรแก่เอกชน และเพิ่มค่าจ้างแรงงาน

ผลที่เกิดขึ้นจริง ค่าเงินเยนอ่อน ทำให้ส่งออกมากขึ้น กำไรเอกชนมากขึ้นเฉพาะบริษัทที่ส่งออก ทำให้เกิดปัญหาเหลื่อมล้ำระหว่างบริษัทส่งออกและบริษัทนำเข้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อเป็น 0% เนื่องจากการขึ้นภาษีเป็น 8% ทำให้คนซื้อของลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันลดลงทำให้ค่าขนส่งถูกลง เงินเฟ้อจึงไม่ถึง 2% ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทเอกชนไม่ยอมขึ้นค่าจ้างตามแผน จนล่าสุด Toyota เป็นบริษัทแรกที่ประกาศขึ้นเงินเดือน 3.2% ซึ่งถือเป็นการปรับใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปี

ธนูดอกที่ 2  มาตรการการคลัง ใช้จ่ายงบรัฐบาลเพิ่ม 2% ของ GDP ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ถูกสึนามิ และรองรับโอลิมปิกในปี ค.ศ2020 และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 38% เป็น 35% และ 30% ตามลำดับ

ผลที่เกิดขึ้นจริง สามารถจัดเก็บภาษีในปีพ.ศ. 2557 ได้เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ปี แต่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับ 226% ซึ่งการปรับเพิ่มอัตราภาษีการบริโภคเป็น 8% เมื่อเมษายนค.ศ 2014 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ดังนั้น แผนการขึ้นภาษีเป็น 10% ในปี 2015 จึงต้องเลื่อนออกไป

ธนูดอกที่ 3  ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ลดขั้นตอนกฏระเบียบ สนับสนุน SMEs และ Womenomics     ยังไม่เริ่มดำเนินการจริง โดยมีแผนเพิ่มบทบาทผู้หญิงและแรงงานต่างชาติทักษะสูงที่อยู่ในวัย 20-40 ปี เพื่อทดแทนแรงงาน รวมทั้งจะเปิดตลาดใหม่ โดยส่งออกสินค้าเกษตรและนวัตกรรมมากขึ้น ค้นหาพลังงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาโรงแรมและแรงงานด้านบริการไม่เพียงพอ เพราะเป็นแรงงานระดับล่างที่จ้างแรงงานต่างชาติไม่ได้ เช่น พนักงานต้อนรับ และญี่ปุ่นคาดหวังว่า ข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP – FTA ระหว่างญี่ปุ่น กับ 12 ประเทศรวมสหรัฐ) จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ในปีค.ศ 2015 จากมาตรการอัดฉีดทำให้ค่าเงินเยนอ่อน  ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปญี่ปุ่นจะมีกำไรลดลงทันที ส่วนใหญ่จึงชะลอการส่งออก  รวมทั้งไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นลดลง แต่คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นสูงขึ้น  แต่ในอนาคต ค่าเงินเยนอ่อนจะทำให้ทุกคนใช้เงินเยนในการค้ามากขึ้น เมื่อความต้องการเงินเยนมากขึ้น ต่อไปเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น และในอีก 2-3 ปี ญี่ปุ่นจะลงทุนในจีนลดลง 40% แล้วเน้นลงทุนในอินเดียและ AEC โดยเฉพาะเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางของเอเชียจะเพิ่มขึ้น 30% ขณะที่สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นแค่ 5%

การเมือง
ญี่ปุ่นออก Conservative Policy ที่เน้นความมั่นคง และ Proactive Contribution to Peace มีการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ ออกกฎหมาย Collective Self Demand ทำให้ญี่ปุ่นสามารถออกไปช่วยพันธมิตรที่ถูกโจมตีอย่างสหรัฐ เช่น ยิง Intercept จรวด หรือส่งออกอาวุธได้ ทำให้สถานการณ์กับจีนและเกาหลีตึงเครียดมากขึ้น ยิ่งจากเหตุการณ์ ISIS และตูนีเซีย ที่ชาวญี่ปุ่นถูกจับเป็นตัวประกัน ทำให้กองกำลังป้องกันตนเองมีบทบาทมากขึ้น และญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการตั้งหน่วยงานข่าวกรองอย่าง MI6 และออก State Secret Law ให้สามารถปิดบังบางข้อมูลของรัฐบาลได้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้งบทางการทหารเพิ่มขึ้น 6% และมีการตั้งสภาความมั่นคงเป็นมันสมองด้านความมั่นคงขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อวางแนวทางการป้องกันประเทศ และเพิ่มความสามารถในการป้องกันตนเองร่วมกับอินเดียและออสเตรเลีย

แม้รัฐบาลของอาเบะจะมีเสถียรภาพดีจากการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ความเสี่ยง คือ การโน้มน้าวและจัดการกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างโคเมโต และจาก Trans-Pacific Partnership ซึ่งสหรัฐมีความเข้มแข็งมากกว่าจะได้เปรียบกว่า ญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องการส่งออกภาคเกษตร ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องการเมือง เพราะเกษตรกรเป็นฐานเสียงของพรรครัฐบาล ส่วนเหตุการณ์ที่น่าจับตา คือ ปีค.ศ 2015 เป็นปีครบ 70 ปีที่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเตรียมออก Speech ในเดือนสิงหาคม ซึ่งอาเบะประกาศว่าจะทบทวนคำพูดที่ยอมรับผิดของผู้นำคนก่อนๆ ซึ่งอาจทำให้จีนและเกาหลีไม่พอใจได้

สังคม
อาเบะออกนโยบาย Womenomics  ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทด้านการเมืองและด้านแรงงาน เนื่องจากขณะนี้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ถึงแม้มีการดึงแรงงานต่างชาติที่คัดเฉพาะระดับครีมและพูดภาษาญี่ปุ่นได้เข้าไป แต่คนญี่ปุ่นไม่ชอบต่างชาติมากนัก ดังนั้นจึงพยายามดึงผู้หญิงกลับเข้าตลาดแรงงาน แต่มีปัญหาว่า ผู้หญิงไม่มีที่รับเลี้ยงเด็ก และจำนวนวันในการลาคลอดและเลี้ยงลูกน้อย ผู้หญิงจึงไม่นิยมทำงานนอกบ้าน ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องทัศนคติจึงทำให้ไม่มีผู้หญิงทำงานในตำแหน่งระดับสูง ดังนั้น รัฐบาลมีแผนในธนูดอกที่ 3 จะเพิ่มที่รับเลี้ยงเด็ก 400,000 แห่งทั่วประเทศ อนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 1 ปี และบังคับให้บริษัทเอกชนรับผู้หญิงกลับเข้ามาทำงานหลังลาคลอด สร้างกระแส Ekumen หรือผู้ชายที่ช่วยเลี้ยงลูกและคนชราที่บ้าน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นพยายาม Globalize มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการศึกษามีการเพิ่มจำนวนอาจารย์ต่างชาติ โดยเฉพาะ Native English และนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เปิดใจรับคนต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งให้คนชาติอื่น เช่น พม่า เวียดนามไปเรียนวิศวกรรมเพื่อเตรียมบุคลากรรองรับนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความกังวลลึกๆ ว่าทรัพยากรจะไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรและ Food Security ที่ไม่สามารถพึ่งพาจีนได้เพราะความสัมพันธ์ไม่ดี จึงพยายามส่งนักวิจัยไปประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เพื่อทำการวิจัยอาหาร

อ้างอิง    ข้อมูลจากงานสัมมนา “เอเชียตะวันออกในปี 2015”
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มีนาคม 2558




Writer

โดย นภัสวรรณ ไทยานันท์

นักวิจัย ส่วนวิจัยการจัดการองค์กร
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ