1 April 2015

ในแต่ละปีสมาพันธ์เศรษฐกิจโลกหรือที่รู้จักในชื่อ “ World Economic Forum” จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำและผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายหลัก ๆ ที่โลกต้องเผชิญแล้วจัดลำดับเป็น 10 เรื่องสำคัญ ซึ่งความท้าทาย 10 เรื่องสำคัญในปี 2015 นี้ ได้แก่

1) ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ในภาพรวมผู้มีรายได้น้อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศครอบครองสินทรัพย์ไม่เกิน 10% ของประเทศ   ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแม้ประเทศต่าง ๆ จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่ได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น  ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความขัดแย้งในประเทศ ความรุนแรง    การทำลายสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ

ซึ่งเอเชียนับเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มากที่สุดจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ จากสถิติพบว่าคนจนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกโดย 68.7% ของประชากรโลกครอบครองสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมกันเพียง 3% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่คนเพียง 0.7% ของโลกนี้กลับร่ำรวยมหาศาลโดยมีสินทรัพย์รวม 41% ของโลก

2) การว่างงาน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตแต่การจ้างงานกลับไม่ได้เติบโตตามไปด้วยซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถนำมาใช้ทดแทนแรงงานคนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษาทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ ทั้งนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พยากรณ์ว่าอัตราการว่างงานของโลกในช่วงปีค.ศ. 2015-2018 อยู่ที่ประมาณ 6%

3) วิกฤติภาวะผู้นำ

ในช่วงที่ผ่านมา  ผู้นำโลกล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน เศรษฐกิจตกต่ำ  ความรุนแรงในตะวันออกกลาง เป็นต้น   ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากระบบการเมือง   การทุจริตคอรัปชั่น  ทั้งนี้จากการสำรวจ  Global agenda 2014  พบว่า 86% ของผู้ตอบคิดว่าโลกมีปัญหาวิกฤติภาวะผู้นำ

4) การแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในภูมิภาคต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ วิกฤตการณ์ในยูเครนที่เกิดจากการที่รัสเซียพยายามขยายอิทธิพลของตนเองในยูเครนโดยไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปจนนำมาสู่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและประเทศตะวันตก มีการใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ สำหรับในภูมิภาคเอเชีย มีการแข่งขันกันขยายอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความขัดแย้งทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ ยังทำให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาส่วนรวมลดความสำคัญลง เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นต้น

5) ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน    จากการสำรวจของ Edelman Trust Barometer พบว่าในภาพรวมของโลกความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลลดลงเหลือ 44% ในปี 2014 จึงเห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการประท้วงในหลายประเทศทั่วโลก การประท้วงในกรีซและสเปนที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป การประท้วงในยูเครน การประท้วงเป็นลูกโซ่ของหลายประเทศในตะวันออกกลางจนได้รับการขนานนามว่า Arab spring จนถึงการประท้วงเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งในฮ่องกง และการประท้วงในบราซิลเพราะไม่เห็นด้วยที่รัฐใช้งบประมาณในการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกและโอลิมปิคมากเกินไป

ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าระบบการเมืองแบบเดิม ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งประชาชนต่างพูดคุยกันเรื่องการเมืองมากขึ้นในอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นร่วมกัน และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยตัวเอง รัฐจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ประชาชน

6) ปัญหามลภาวะที่รุนแรงขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศกำลังพัฒนาจะยังคงสร้างมลภาวะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหามลภาวะและภัยพิบัติต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น มลภาวะทางอากาศในจีนซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ 2010 ทำให้คนตายไปถึง 1.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากธนาคารโลกวิเคราะห์ว่า 2 ใน 3 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อากาศตั้งแต่ปีค.ศ 1850 เกิดจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยประเทศพัฒนาแล้วควรมีบทบาทในการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านี้

7) ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ  ภัยธรรมชาติส่งผลกระทบร้ายแรงและคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก โดยนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากพายุที่รุนแรงระดับโลกซึ่งเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ทอร์นาโดที่มีรัศมีกว้างที่สุดในสหรัฐอเมริกา ความแห้งแล้งในแอฟริกากลาง บราซิล และออสเตรเลีย เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในปากีสถาน โดยนักวิทยาศาสตร์สรุปว่าภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน

8) ความเป็นชาตินิยม จากเหตุการณ์การลงประชามติของสก็อตแลนด์ในการตัดสินใจว่าจะแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจาก สหราชอาณาจักรหรือไม่ แม้ในที่สุดชาวสก็อตเลือกที่จะยังอยู่กับสหราชอาณาจักรแต่เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเริ่มต้นถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากรัฐบาลอังกฤษไปสู่สก็อตแลนด์มากขึ้นรวมทั้งการจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ และได้จุดประกายความเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติในหลาย ๆ ประเทศที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน

9) การขาดแคลนน้ำ  ด้วยอัตราการเกิดที่สูงมาก ปริมาณน้ำที่มีจำกัด และความยากจน ทำให้ประชากรในหลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศในแอฟริกามีปัญหาที่ต่างออกไปโดยปริมาณน้ำมีเพียงพอแต่ด้วยปัญหาด้านการเงินทำให้คนยากจนไม่มีน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภค เช่น ประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่าเป็นบ่อน้ำของทวีปแอฟริกา แต่ประชากว่าครึ่งกลับไม่มีน้ำสะอาดใช้

10) ปัญหาด้านสุขภาพ  ธนาคารโลกเคยวิเคราะห์ว่าความแตกต่างด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนามีความสัมพันธ์กับระดับสุขภาพของประชาชนในประเทศถึง 50% เนื่องจากการที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงมีผลโดยตรงต่อแรงงานที่มีประสิทธิภาพที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันโรคที่รุมเร้าประชากรโลกมีทั้งโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคติดเชื้อเช่น เอดส์ มาลาเรีย ซึ่งประเทศยากจนและประเทศที่มีรายได้ปานกลางจำนวนมากเผชิญปัญหารุนแรงเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ การแพร่กระจายของเชื้ออีโบลาแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุขในแอฟริกาตะวันตกที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้านสุขภาพนั้นเพียงแค่การมีระบบสาธารณสุขและการสร้างโรงพยาบาลถือว่ายังไม่ดีพอ หากยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและหยุดสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆเช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

ความท้าทายทั้งหลายข้างต้นเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก โดยเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง และหลายเรื่องเป็นปัญหาระดับนานาชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง ความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรเทาเบาบางลงหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างผู้นำประเทศทั้งหลาย

 

อ้างอิง     http://www3.weforum.org/docs/GAC14/WEF_GAC14_OutlookGlobalAgenda_Report.pdf
ภาพจาก   http://widgets.weforum.org/outlook15/content/data/00.png



Writer

โดย ปาริฉัตร สาน้อย

อดีตนักวิจัยอาวุโส ส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ