27 March 2015

ปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดเริ่มการปฏิวัติวิถีชีวิต

วิถีชีวิตของมนุษยชาติผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างน้อย สองครั้ง โดยในครั้งแรกที่สุด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งแม้การล่าอาณานิคมโดยมหาอำนาจตะวันตกจะเกิดขึ้นก่อน และทำให้โลกเริ่มเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ก็ยังสร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ไม่มากในวงกว้าง กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์อย่างมาก ก็จำกัดวงอยู่เพียงแค่คนในราชสำนัก นักเดินเรือ และพ่อค้าคนกลาง แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นซึมแทรกเข้าไปถึงครัวเรือนของประชาชน วิถีชีวิตเรียบง่ายที่เคยเป็นมาในสังคมยุคเกษตรกรรมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

หากใครได้มีโอกาสชมละครเพลงที่ภายหลังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Les Misérables ซึ่งอยากจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “ชีวิตบัดซบ” ผลงานการประพันธ์ของ Victor Hugo นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ฉายภาพสังคมโสมมในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยมีโรงงานกระดาษ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ก็จะเห็นว่าในขณะที่พวยควันของเครื่องจักรกับกรุ่นไอของการปฏิวัติทางการเมืองของฝรั่งเศสผสมผสานกันอย่างลงตัว

การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำที่ขยายศักยภาพการผลิตของมนุษย์ถึงระดับมหาศาล เพื่อผลิตสินค้าป้อนทั้งตลาดภายในประเทศ จนถึงตลาดต่างประเทศ อันเป็นอานิสงส์หลงเหลือมาจากการล่าอาณานิคม ทำให้ต้องการแรงงานจำนวนมาก ลำพังแรงงานจากผู้ชายที่แต่เดิมทำหน้าที่ออกไปนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวไม่เพียงพอต่อแรงกระหายในการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ผู้หญิงซึ่งแต่เดิมทำหน้าที่ให้กำเนิดลูกและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน ต้องออกจากบ้านมารับจ้างเป็นสาวโรงงาน วิถีชีวิตของครอบครัวเริ่มเปลี่ยนแปลงนับแต่ครั้งนั้น และดูเหมือนว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกที่จะทำให้ผู้หญิงกลับไปทำหน้าที่เมีย และแม่ อย่างเช่นในครั้งอดีตอีกเลย

พัฒนาการของสินค้า…ชีวิตที่สะดวกขึ้น และแพงขึ้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมดำเนินต่อไปอีกไปอีก 2 ศตวรรษ ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างนั้นโลกอุตสาหกรรมได้พัฒนาสินค้าและบริการไปอย่างมาก ทั้งในทางกว้าง และทางลึก ทั้งหมดเพื่อทำให้ชีวิตของมนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น เพลิดเพลินขึ้น มีปัญญาและฉลาดขึ้น

พัฒนาการของสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ดูจะเข้มข้นอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ รถยนต์  โทรทัศน์ ล้วนมีจุดกำเนินในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จนทำให้เกิดการทดลอง และนำผลการทดลองไปสร้างเป็นสิ่งประดิษฐ์ ผ่านกระบวนการพาณิชยกรรม (Commercialization) กลายเป็นสินค้าสู่มือผู้บริโภค

สินค้าหลายรายการที่แต่เดิมมีแต่เพียงชนชั้นสูงที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้นจะมีไว้ใช้สอย อย่างเช่น รถยนต์ เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 100 ปี รถยนต์กลายเป็นสินค้าที่แม้แต่ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีไว้ในครอบครอง ไม่เพียงเพราะสนนราคาที่ถูกลงอย่างมาก แต่ด้วยพัฒนาการของสถาบันการเงินที่ทำให้สินค้าราคาเกือบล้านถูกย่อยให้เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละไม่ถึงหมื่นบาท เย้ายวนให้ผู้ด้อยสิทธิ์ทางการเงินคว้าความจริง ออกมาจากความฝันอันเลือนลาง แม้จะต้องแลกด้วยการจองจำจากพันธนาการทางการเงินอีกยาวนาน

ไม่เพียงแต่รถยนต์เท่านั้นที่ติดโผรายการสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต โลกปัจจุบันอาศัยอยู่ได้ยากหากขาดเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น มอเตอร์ไซค์ และที่สำคัญยิ่งคือโทรศัพท์มือถือ ที่เข้ามาแทนโทรศัพท์มีสายแบบเก่า โน้ตบุ๊คที่เข้ามาแทนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แท็ปเล็ตที่ไม่เข้ามาแทนอะไร แต่เข้ามาเสริมการสื่อสารของโทรศัพท์มือถือและการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เป็นเครื่องแก้เหงาสำหรับคนทุกวัย และอาจเป็นพี่เลี้ยงชั้นยอดที่ทำให้เด็กเล็กอยู่นิ่งไม่ไปซนที่ไหน รวมทั้งโทรทัศน์จอแบนภาพคมเฉียบ สามารถบังคับได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ…นั่นเป็นเพียงรายการสินค้า

โลกธุรกิจได้พัฒนาบริการต่างๆ อีกมากมาย หากจะอ้างภาษาของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์มาใช้ ก็ต้องบอกว่าตั้งแต่ “ครรภ์มารดา สู่เชิงตะกอน” มีทั้งที่จำเป็นจริงๆ ต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการฝากครรภ์ การศึกษา การรักษาพยาบาล การดำเนินการในวาระสุดท้ายของชีวิต จนถึงบางรายการที่อาจไม่จำเป็น แต่มีเสริมขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย ตามสมัยนิยม ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิต (Lifestyle) เช่น การออกกำลังกายในฟิตเนส ที่จะต้องมีอุปกรณ์ครบครัน (แต่อาจใช้ไม่ครบ) ประกบด้วยผู้ฝึกสอน (Trainer) ราคาแพงลิ่วเพื่อให้ได้ทรวดทรงสมบูรณ์แบบ (Perfect) อย่างที่ต้องการ แทนการออกกำลังกายในสวนสาธารณะที่มีอยู่ทุกมุมเมือง การดูแลรักษาผิวพรรณเพื่อความกระจ่างใส ไร้สิว (สำหรับเด็กตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นเป็นต้นไป) ไร้ฝ้าและริ้วรอย (สำหรับผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา) ที่หากรักษาอย่างต่อเนื่องอาจต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยสัปดาห์ละพันกว่าบาท ทั้งนี้ไม่รวมสัปดาห์ใดที่จะต้องใช้เครื่องมือชั้นสูงอย่างเช่นเลเซอร์ การเอาใจใส่พัฒนาการทางสติปัญญาของบุตรเพื่อความก้าวหน้าในอนาคตด้วยการกวดวิชาในรายวิชาต่างๆ ตั้งแต่ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ สังคม รวมจนถึง “ภาษาไทย” ทั้งนี้ยังไม่รวมการเสริมทักษะและความสามารถพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรีประเภทต่างๆ แจ๊สแดนซ์ ร้องเพลง เทควันโด และอื่นๆ อีกมากมาย     หากไม่ได้นั่งจัด นั่งนับ เราอาจไม่รู้ตัวว่า จากรุ่นปู่ย่าตายาย และจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ มาจนถึงรุ่นปัจจุบัน เรามีรายการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมาอีกมากมายเพียงใด และรายการเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างไร

ตรายี่ห้อ  ราคาแสนแพงของการบอกตัวตน

ไม่เพียงแต่จำนวนรายการเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ราคาของรายการเหล่านั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามอง แม้จะคิดคำนวณรวมอัตราเงินเฟ้อแล้วก็ตาม     “ตรายี่ห้อ” หรือ “Branding” เป็นนวัตกรรมทางการตลาดอันชาญฉลาดอย่างหนึ่งที่นักการตลาดสามารถใช้ความรู้ด้านจิตวิทยา มานุษยศาสตร์ และประชากรศาสตร์ สร้างมูลค่าให้แก่ตรายี่ห้อ และเรียกราคาที่สูงลิ่ว ลูกค้ายินดีควักกระเป๋าจ่ายโดยดุษฏี ขอเพียงแต่ให้ตรายี่ห้อนั้นเหมาะสม (หรือเกินเหมาะสม) กับฐานะ ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ ของลูกค้า

ตรายี่ห้อ และการจัดการตรายี่ห้อ (Brand Management)  เข้ามามีบทบาทในการสร้าง และการซื้อสินค้า และบริการอย่างมาก จนปัจจุบันนี้ หากไม่ใช่สินค้าในตลาดสดที่ชาวบ้านทำจากบ้านใส่กระบุงกระจาดมาขายตามตลาดสดก็หายากเต็มทีที่จะไม่มีตรายี่ห้อกำกับ  และแม้กระทั่งตลาดสดเองก็ตามก็หาแทบจะไม่ได้เพราะไลฟสไตล์ยุคใหม่ต้องไป “ซุปเปอร์มาร์เก็ต”

ตรายี่ห้อ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของผู้คนไปเสียแล้ว และผู้คนเองก็มองเห็นตรายี่ห้อเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะบอกว่าตนเองเป็นอย่างไร และผู้คนก็พยายามอย่างมากที่จะแสดงให้ผู้อื่นรู้ด้วยว่าตนเองใช้สินค้า หรือบริการยี่ห้ออะไร อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Veblen’s Effect คือการจับจ่ายซื้อของที่ต้องการให้คนอื่นรู้ จึงนับได้ว่า นักบริหารตรายี่ห้อเขาจับพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ และอยู่หมัด

สัจธรรมของโลกทุนนิยมสมัยใหม่ คือ
ไม่ว่าจะกิน จะใช้อะไร ล้วนต้องมีทรัพยากรสนับสนุน

สิ่งหนึ่งที่ผู้เสพตรายี่ห้ออาจไม่ทราบ หรือทราบแต่ก็หักห้ามใจไม่อยู่ คือการบริหารตรายี่ห้อ เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้มากที่สุด หรือพูดให้ง่ายก็คือ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มได้มากที่สุด และเมื่อลูกค้าหลงใหลในตรายี่ห้อแล้ว อาจถึงขั้นจ่ายได้ไม่อั้น เท่าไรเท่ากันได้เลยทีเดียว

รายการใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายรวม ดูแล้วจะเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของสังคม เหมือนเงาในยามเย็นที่ทอดยาวกว่าตัวจริงเสมอ

การแข่งขันทางธุรกิจ กับวิถีชีวิต และโครงสร้างประชากร

สัจธรรมอย่างหนึ่งของโลกทุนนิยมสมัยใหม่ คือไม่ว่าจะกิน จะใช้อะไร ล้วนต้องมีทรัพยากรสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ หรือทรัพย์สมบัติสะสม จากสมการนี้ การอยู่รอดในภาวะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมีเพียงแค่สองทาง หรือ ลดรายการค่าใช้จ่ายลง หรือทำงานหารายได้เพิ่มขึ้น หรือทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน

การทำงานเพิ่มขึ้นเริ่มมาแล้วตั้งแต่วันที่ผู้หญิงฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยง แล้วออกจากบ้านไปรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อช่วยสามีหารายได้เข้าบ้านในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การทำงานเพิ่มขึ้นในปัจจุบันยังขยายออกเป็นอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานล่วงเวลา การทำงานพิเศษ หรืองานเสริม รวมไปจนถึงการแข่งขันทางธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทต้องการทำกำไรสูงสุด ทำยอดการขายให้สูงกว่าคู่แข่ง หรือสูงกว่าปีที่ผ่านมา ควบคุมให้ค่าใช้จ่ายลดลง ใช้ทรัพยากรและแรงงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนในบางครั้งอาจเกินไปจากระดับที่เหมาะสม มีการใช้ระบบผลตอบแทนที่จูงใจให้พนักงานทำงานมากขึ้น และพนักงานก็อยากได้เงินมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทั้งส่วนตัวและของครอบครัวเพิ่มขึ้น ลงเอยด้วยการมีเวลาให้แก่ตัวเอง และครอบครัวน้อยลง

ในอีกด้านหนึ่งของสมการ ที่ทำได้ด้วยการลดรายการค่าใช้จ่ายนั้น บางคนสามารถมีสติลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หลุดจากการเป็นทาสสิ่งของฟุ่มเฟือย และจัดการชีวิตได้อย่างสมดุล  หรือคนที่สามารถทำได้แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะข้อจำกัดในการสร้างรายได้ รวมถึง คนที่ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้เลย จึงต้องลดภาระของครอบครัวลง เช่น  ด้วยการลดจำนวนบุตร หรือกระทั่งไม่มีเลย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

สังคม ซึ่งหมายถึง คนทุกคน อาจต้องเริ่มตระหนักถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางโครงสร้างประชากร และวิถีการดำเนินชีวิต ว่าเป็นไปในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสังคมหรือไม่ การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความพอดีกับความจำเป็น การส่งเสริมให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ ใช้จ่ายแต่จำเป็นและอย่างพอดี เพื่อสร้างสมดุล และความยั่งยืนของสังคม เป็นสิ่งที่ควรช่วยกันปลูกฝัง ช่วยกันคิด และช่วยกันทำ




Writer

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล