26 March 2015

ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมไทยนั้น   เมื่อเอ่ยถึงบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ( มหาชน ) หรือ กลุ่ม  SCG   คนส่วนใหญ่จะเห็นภาพองค์กรสัญชาติไทยแท้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพที่เป็นเลิศ    ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า    มีธรรมาภิบาลสูง    ได้รับความเชื่อใจและไว้วางใจสูงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง  แข็งแรงยาวนานถึง   100 ปี   แต่ความโดดเด่นของ SCG  มิได้มีเพียงแค่นั้นเพราะ  SCG   ยังได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับอาเซียนและระดับโลก ในแง่ของการเป็นองค์กรที่ไม่ยึดติดกับความสำเร็จ  แม้จะได้รับรางวัลด้านการบริหารจัดการมามากมายนับไม่ถ้วน   แต่องค์กรก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในเรื่องนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จสูงในเชิงธุรกิจ

การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในเชิงธุรกิจของ SCG  แม้จะประสบความสำเร็จมากแต่ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดขององค์กร   เพราะแก่นแท้ของการบริหารจัดการที่SCG  ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงนั้น คือ การเป็นองค์กรธุรกิจที่มีความยั่งยืน  ซึ่งองค์กรมีกรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม  ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดีเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกันในทุกธุรกิจ    ซึ่งคอลัมน์ interview ฉบับนี้  เราได้รับเกียรติจาก  คุณ  ชลธร  ดำรงศักดิ์     ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศและความยั่งยืน  บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ( มหาชน )  มาเล่าถึงมุมมองต่าง ๆ  ทั้งในเรื่องหลักคิด   หลักทำ   วิถีปฏิบัติและปัจจัยสู่ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทinterview-1

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมในบ้านเราแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นอาจจะเพิ่งคุ้นหูและได้ยินได้ฟังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ในขณะที่ SCG นั้นมีรากฐานเรื่องดังกล่าวที่แข็งแกร่งตั้งแต่แรกก่อตั้ง  คุณชลธรเล่าให้ฟังว่า

“เราดำเนินการเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้งบริษัท   ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 6    ที่ต้องการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งปูนซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในขณะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเรือน   ถนนหนทางก็ต้องใช้ปูนซีเมนต์เป็นหลัก ในตอนนั้นประเทศเราต้องนำเข้าปูนซีเมนต์ 100% พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริว่าเราต้องตั้งบริษัทผลิตซีเมนต์ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ    วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งของบริษัทเราจึงชัดเจนว่า   ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศและต้องการทำให้พระราชปณิธานของพระองค์ท่านประสบผลสำเร็จ   ดังนั้น  พนักงานจึงรู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำงานเพื่อบริษัทที่จะทำกำไรเพียงอย่างเดียว   แต่ทำเพื่อสร้างชาติ   สร้างความเป็นเลิศ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี

นอกจากนี้  ในมุมของสังคมเราก็ต้องการช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนในด้านต่างๆ ด้วย      ในมุมของการบริหาร    เราก็ทำงานด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์     ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนถูกปลูกฝังรุ่นต่อรุ่นมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท     ทุกคนที่เข้ามาทำงานจะมีจิตวิญญาณที่มุ่งมั่น    ถ่ายทอดถึงกันจากการปฏิบัติ   จนกระทั่งบริษัทดำเนินการมาถึง 72 ปี    คนทำงานก็เยอะมากขึ้น   การถ่ายทอดแบบเดิมอาจจะได้ผลน้อยลง จึงเริ่มต้องมีแนวทางให้ปฏิบัติซึ่งเป็นที่มาของอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า  “ ปรัชญาพื้นฐานอุดมการณ์ 4 ประการ ”   คือ   ตั้งมั่นในความเป็นธรรม   มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ     เชื่อมั่นในคุณค่าของคน     ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม   ซึ่งทั้ง 4  ข้อนี้จะเห็นได้ว่าล้วนอยู่ในบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น       คุณ ชลธร  ยังขยายความต่อให้ฟังว่า   การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นต้องฝังอยู่ในทุกมิติของการทำธุรกิจ   โดยเริ่มต้นจากการดำเนินการภายในองค์กรให้เข้มแข็งก่อนที่จะไปสู่ภายนอก  สิ่งที่จะต้องทำให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม  มีดังนี้

1. ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส  ไม่ทุจริต   ต้องมีระบบที่มั่นใจได้ว่าจะไม่โกง ตั้งแต่เรื่องจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ   บรรษัทภิบาล  และโครงสร้างต่างๆ   ในการทำงาน

2. การดูแลพนักงานในเรื่องความเป็นธรรม ตั้งแต่   ระบบการดูแล  การเติบโต   ผลตอบแทน    สวัสดิการเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน     ความปลอดภัย     รวมถึงเรื่องการพัฒนาและการฝึกอบรมให้องค์ความรู้ต่างๆ

3. สินค้าและบริการ ตั้งแต่การดูแลกระบวนการผลิตไม่ให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสังคมและคนรอบข้าง และดูแลเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า    ไม่ทำลายทรัพยากร   และแสวงหาวิธีอนุรักษ์หรือฟื้นฟูเพื่อให้ทรัพยากรคงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

4. การดูแล supplier ให้มีนิสัยและพฤติกรรมที่ดีเหมือนกับบริษัท  โดยให้ความสำคัญและดูแลทุกคนเท่าเทียมกันเพื่อให้เติบโตไปพร้อมๆ  กับบริษัท  และเมื่อบริษัทมีกำลังพอสมควรก็ต้องไปดูแลสังคมที่อยู่รอบข้าง ชุมชนต่าง ๆ   ที่อยู่ใกล้กับโรงงาน   ช่วยเหลือให้เขาเข้มแข็ง  มีภูมิคุ้มกัน  ไปช่วยสร้างองค์ความรู้และมีกระบวนการต่างๆ  ที่จะช่วยให้เขาสามารถดูแลตัวเองให้เข้มแข็งเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีธุรกิจนี้ทำไม เราทำธุรกิจเพื่ออะไร คำตอบที่ว่าทำธุรกิจเพื่อกำไรนั้นใช่แน่หรือเปล่า

ผู้นำคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จนั้น  ต้องทำอย่างมีกลยุทธ์    ฝังอยู่ในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ   และอยู่ในจิตสำนึกในการทำงานของพนักงานทุกคน   ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ผู้บริหาร  คือ หัวใจสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม    คุณชลธรกล่าวว่า “ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่พี่   ๆ   หรือผู้บริหารเป็น  Role Model   เอง     Leader  ทุก Level  ต้องเป็น Role Model   ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อให้เกิด Impact และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงๆ   เช่น   ถ้าพูดถึงการปฏิบัติงานในโรงงาน    เราก็ต้องดูแลทรัพยากรในโรงงาน     เมื่อมีการใช้พลังงานมากก็ต้องหาวิธีช่วยลดปัญหาโลกร้อน    ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ    ต้องกำหนดกลยุทธ์หรือแผนงานที่จะใช้เชื้อเพลิงที่ขุดมาใช้ให้น้อยลง  พยายามหาวิธีการนำของเหลือมาใช้งานหรือใช้ใหม่  หรือหาวิธีการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน  เป็นต้น

เมื่อทิศทางและกลยุทธ์ชัดว่าบริษัทให้ความสำคัญกับแต่ละเรื่องอย่างไร   ก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า  ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้      เรื่องนี้ให้ประโยชน์แก่ใคร    ทำแล้ว Support  ใครบ้าง   และสุดท้ายใครได้ประโยชน์อะไร  ผู้บริหารต้องสื่อสารให้เข้าใจทั้งในและนอกองค์กรตลอดจนถึงชุมชนและสังคม     ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์กร  อย่าง SCG สังคมจะให้ความคาดหวังสูง     ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจสูงจึงมีต้นทุนทางสังคมสูงเราก็ต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมได้ด้วย

interview-3

คุณชลธรยังให้ข้อคิดแก่บริษัทต่าง  ๆ ที่สนใจจะนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาดำเนินการในองค์กรว่า

“หลักสำคัญ  คือ   ต้องตั้งหลักจากคนที่เป็นผู้นำก่อน  คือ  เราอาจตอบได้ว่าเรากำลังทำอะไร     เรารู้ว่าจะทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร   จะผลิตสินค้าอย่างไร    จะเลือกคนอย่างไร    เราอาจรู้เรื่องเหล่านี้ทั้งหมด   จะรู้มากรู้น้อยก็แล้วแต่    แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น   คือ   เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีธุรกิจนี้ทำไม   เราทำธุรกิจเพื่ออะไร  คำตอบที่ว่าทำธุรกิจเพื่อกำไร นั้นใช่แน่หรือเปล่า   ถ้าเราทำธุรกิจเพื่อกำไร  เพื่อเงินอย่างเดียวแล้ว  เราอาจจะทำอะไรก็ได้  โกงก็ได้เพื่อให้ได้เงิน   แล้วเงินเป็นความสุขสุดท้ายจริงหรือเปล่า   บางครั้งทำแทบตายอาจจะไม่มีความสุขจริงๆ   ก็ได้   อย่าง   SCG ก็ชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้งแล้วว่าเราทำเพื่ออุดมการณ์ 4 ข้อซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ     บริษัทที่ต้องการจะทำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น    ไม่ควรทำตามบริษัทอื่นเพียงแต่ไปศึกษาปัจจัยต่างๆ    ว่าเขาทำได้อย่างไรแล้วก็กลับมามองบริบทของตนเอง   ทำตามกำลังความสามารถของเรา  ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่องก็ได้ หมายความว่าเมื่อทำทุกเรื่องตามมาตรฐานแล้วค่อยมาดูว่ามีเรื่องหลักๆ  อะไรบ้างที่จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาเรื่องนี้ได้   จากนั้นค่อยเลือกทำเรื่องนั้นให้เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด   ไม่ต้องทำทุกเรื่องพร้อมกันแต่ต้องทำเรื่องพื้นฐานให้ดีเสียก่อน   ถ้าทำเรื่องพื้นฐานได้ประสบความสำเร็จแล้วก็ถือว่าบริษัทของคุณเริ่มมีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้ว

พัฒนาอย่างยั่งยืนเริ่มที่ตัวเราก่อน

ก่อนจบ  คุณชลธรให้ข้อคิดสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ว่า   “  ถ้ามองบริษัทเป็นบุคคล เราต้องเชื่อก่อนว่าสังคมเราจะเป็นสุข  จะยั่งยืนได้    เราก็ต้องมีความปิติเกิดขึ้นหลังจากสิ่งที่เราทำ   สิ่งที่เราคิด    สิ่งที่เราทำออกไปต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีคุณธรรม  จริยธรรม   และคิดทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล    ตอบคำถามในสิ่งที่ตนเองทำลงไปว่าถูกหรือผิด  มีความเป็นธรรม    มีความยืดหยุ่นกับคนที่เกี่ยวข้องแม้กระทั่งคนในครอบครัว      นอกจากนี้   ต้องเปิดใจรับฟังคนรอบข้างว่าเขาคิดอย่างไรไม่ใช่เอาตัวเองตัดสินทุกเรื่อง   เมื่อฟังทุกคนด้วยความเข้าใจแล้วเราจะเข้าใจถึงที่มาว่าเขาต้องการอะไร   ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้    เมื่อเราเข้าถึงแก่นวิธีคิดของเขาเราจึงจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างแท้จริง  เมื่อเราเข้าใจคนมากขึ้นก็จะเกิดการเอื้ออาทรกัน  มี Engagement กันต่อไปได้ทุกเรื่องซึ่งก็จะเอื้อให้เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจได้

นอกจากนี้   การจะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคม    เราต้องคำนึงถึงเรื่องของการใช้ชีวิตของตนเองด้วย   คือ  ไม่ใช่คิดว่า    เรามีความสามารถ เรามีเงิน  จะทำเพื่อตอบสนอง Need ของเราอย่างไรก็ได้   เช่น   วันนี้เราซื้อโทรศัพท์ใหม่แล้วพรุ่งนี้ไม่พอใจก็เปลี่ยนมือถือ    ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสังคมทั้งหมดในภาพใหญ่    การบริโภคสิ่งต่าง ๆ  ต้องใช้อย่างมีเหตุมีผล    ไม่ใช่บริโภคแบบไร้ขอบเขต   ต้องเอาวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นตัวตั้งไม่ใช่เอาความสามารถในการเข้าถึงเป็นตัวตั้ง   ทั้งหมดคือจุดเล็ก ๆ  ที่สามารถต่อกลายเป็นภาพใหญ่ซึ่งจะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสมดุล    มีความสุขร่วมกันและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน




Writer

โดย ชนรดา อินเที่ยง

อดีตผู้ชำนาญการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต
Thailand Productivity Institute