24 March 2015

หากมองสิ่งต่างๆรอบตัวเราในยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆเกิดขึ้นรวดเร็วมาก สืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะกระแสของสื่อออนไลน์ และ Social Media ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม องค์กรต่างๆ จึงต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาอย่างหลากหลายนี้อย่างต่อเนื่อง แต่การรับมือด้วยการตั้งรับเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงและปรับตัวไปตามสถานการณ์อาจไม่เพียงพอในการอยู่รอดอย่างยั่งยืนขององค์กร  การเอาตัวรอดในยุคนี้ องค์กรต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของธุรกิจตัวเอง มิใช่รอให้มีการเปลี่ยนแปลงก่อนแล้วจึงก้าวตาม นั่นคือองค์กรต้องมองไปข้างหน้า คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต แล้วจัดการเชิงรุกให้ตนเองเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในด้านนั้นๆ เสียเอง

แนวคิด Shape the Future System เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารองค์กร เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจองค์กรสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ ด้วยการขับเคลื่อนผ่านเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) ดังภาพที่ 1

strategicภาพที่ 1 : แนวคิด Shape the Future System กับเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management)

การประยุกต์แนวคิด Shape the Future System ผ่านเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) ทำให้องค์กรมองภาพอนาคตชัดเจนขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การชี้บ่งแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและทอดยาวต่อเนื่องไปในอนาคตถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นวิเคราะห์หาสาเหตุหลักหรือแรงขับเคลื่อนที่เป็นเหตุทำให้เกิดแนวโน้มเหล่านั้น แล้วจึงสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และสุดท้ายกำหนดเป็นกลยุทธ์เพื่อการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้การดำเนินงานในปัจจุบันมุ่งไปสู่ภาพในอนาคตนั้น  แนวคิด Shape the Future System ช่วยให้องค์กรกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าองค์กรจะมุ่งไปทางไหน จะทำอะไร เพื่อช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจ และพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ

ตัวอย่างการใช้แนวคิด Shape the Future System ที่เห็นได้ชัดเจนตัวอย่างหนึ่ง คือ TOYOTA บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มุ่งพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานอย่างอื่นที่ไม่ใช้น้ำมันมาหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากตระหนักดีว่าทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงไปทุกวัน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำมันที่มีวันหมดไปได้ ในอนาคตหากไม่มีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมรถยนต์อาจต้องปิดตัวลงไป หรืออาจต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้รองรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานอย่างอื่น หากวันนั้นมาถึงอุตสาหกรรมรถยนต์คงระส่ำระสาย และมีผลกระทบมากมายทั้ง Supply Chain ของอุตสาหกรรมรถยนต์เลยทีเดียว  TOYOTA ไม่รอให้การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้วจึงค่อยรับมือ แต่เป็นผู้ออกแบบอนาคตของรถยนต์ที่ไม่ใช้พลังงานจากน้ำมัน ก่อนที่อนาคตอาจจะไม่มีน้ำมันให้ใช้  และในที่สุดเดือนธันวาคมพ.ศ 2557 ที่ผ่านมา TOYOTA ก็ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจน โดยใช้เทคโนโลยีใหม่แยกไฮโดรเจนออกจากนํ้า สามารถใช้แทนนํ้ามันได้อย่างสมบูรณ์   นับเป็นยานยนต์แห่งอนาคตที่ไม่ต้องใช้นํ้ามันเป็นเชื้อเพลิง สร้างความตื่นตาตื่นใจไปทั่วโลก รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนรุ่นแรกใช้ชื่อว่า TOYOTA MIRAI  (มิราอิ แปลว่า อนาคต) TOYOTA ตั้งราคาจำหน่ายรถยนต์รุ่นนี้ในญี่ปุ่นคันละ 6.7 ล้านเยน หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท เมื่อเติมไฮโดรเจนเต็มถัง สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 650 กิโลเมตร มากกว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าถึง 3 เท่า และยังใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงเพียงไม่กี่นาทีอีกด้วย

ToyotaMiraiภาพที่ 2 : TOYOTA MIRAI รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจน

จากกรณีของ TOYOTA MIRAI รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาถึงขั้นใช้งานได้จริงในญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ TOYOTA ออกแบบอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไม่ง้อพลังงานจากน้ำมัน ทำให้ TOYOTA  สามารถสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ทั้งการเป็นผู้นำในยนตรกรรมที่ไม่ใช้พลังงานจากน้ำมัน ตลอดจนการควบคุมไปถึงมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ที่ต้องรองรับกับพลังงานที่ไม่ได้มาจากน้ำมัน เช่นพลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งต้องใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาแต่มีความทนทาน   การกำหนดมาตรฐานการเติมเชื้อเพลิง  การสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงให้เหมาะสมและเพียงพอ  จากประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า TOYOTA พร้อมเปลี่ยนแปลงอนาคตโดยไม่รอให้อนาคตมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตรถยนต์ของ TOYOTA เพราะการเป็นผู้นำสามารถกำหนดมาตรฐานต่างๆได้เอง แต่หากเป็นผู้ตามการเปลี่ยนแปลงหรือการสู้แบบตั้งรับ อาจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หรือต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาลจึงจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนั้น อีกทั้งยังอาจเสียโอกาสทางธุรกิจซึ่งมีคุณค่ามากมายไปอย่างน่าเสียดายอีกด้วย

การอยู่รอดขององค์กรในยุคของการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ องค์กรที่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ก่อน แล้วเป็นผู้กำหนดอนาคตนั้นให้เป็นจริงได้ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ แล้วพัฒนา ปรับปรุง จนกระทั่งเกิดผลงานเป็นรูปธรรม เป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ ย่อมเป็นองค์กรที่สามารถอยู่รอดอย่างมั่นคงและยั่งยืน และมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างแท้จริง




Writer

โดย สุประภาดา โชติมณี

จบการศึกษา : ปริญญาโทจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาธุรกิจอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ และปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประสบการณ์ : เคยร่วมงานกับบริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ เป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Modern KM –Application in business management (จัดการความรู้อย่างไรให้ใช้ได้ผลกับทุกระบบ) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับเกียรติเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ให้กับนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยบูรพา
ปัจจุบัน : เป็นวิทยากรที่ปรึกษาส่วนจัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ