20 กันยายน 2016

google

เป็นระยะเวลา 6 ปี แล้วที่ กูเกิ้ลได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทที่ดีที่สุดและมีผู้อยากเข้าร่วมงานด้วย ซึ่งที่ผ่านมากูเกิ้ลได้รับการยอมรับทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในฐานะนายจ้างที่ยอดเยี่ยม

ในปี 2015 Laszlo Bock รองประธานอาวุโสด้านการบริหารบุคลากรของกูเกิ้ล ได้กล่าวไว้ในงาน Wharton People Analytics Conference ถึงประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า “อะไรคือลักษณะเด่นที่ทำให้กูเกิ้ลมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยอดเยี่ยม”  ซึ่งเขาได้รวบรวมสิ่งที่กูเกิ้ลได้เรียนรู้และเรียบเรียงอยู่ในหนังสือ  “หลักปฏิบัติในการทำงาน..สะท้อนจากข้อมูลเชิงลึกของ   กูเกิ้ล ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” เพื่อมุ่งหวังให้หนังสือเล่มนี้ได้มีส่วนในการพัฒนาองค์กรอื่นๆ ด้วย

Bock เล่าให้ฟังว่าเขาสังเกตเห็นพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่โดยทั่วไป ก็คือแค่การทำงาน ซึ่งมันแตกต่างจากความสุขที่ได้ทำงาน เขายังกล่าวต่ออีกว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครใช้เวลาในการทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์อีกต่อไปแล้ว เพราะถ้าคำนวณกันจริงๆ ทุกคนใช้เวลามากขึ้นสำหรับการทำงาน มากกว่าเมื่อเทียบกับเวลาสำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก การอยู่กับครอบครัว หรือแม้กระทั่งการนอนหลับพักผ่อน

หากคิดว่าเวลาทั้งหมดที่เราใช้ในการทำงานคือการลงทุน มันก็ควรให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมากพอที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเราเอง เขายกตัวอย่างนวัตกรรมของกูเกิ้ลซึ่งช่วยให้ผลลัพธ์ของงานในภาพรวมออกมาดียิ่งขึ้น ทุกคนพอใจในผลงานของตัวเองเป็นอย่างมาก.. เคล็ดลับของเรื่องนี้ก็คือการใช้หลักการในการทดสอบ การพิสูจน์ และการคิดวิเคราะห์ในงานของ HR ให้มากยิ่งขึ้น

Bock เชื่อว่า งานด้านทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับทีมงานในแผนกทรัพยากรบุคคลของกูเกิ้ล หรือที่กูเกิ้ลเรียกแผนกนี้ว่า “แผนกกิจการพนักงาน” ซึ่งมันก็คือโมเดลการว่าจ้างทีมงานด้าน HR 3:3    โดย 1 ใน 3 ของทีมงานในแผนกนี้จะเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานด้านงานทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างดี อีกส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และส่วนสุดท้ายจะเป็นกลุ่มนักวิชาการในสาขาต่างๆ ตั้งแต่จิตวิทยาองค์กรจนถึงด้านฟิสิกส์

Bock ตั้งข้อสังเกตว่าทีมงานแต่ละกลุ่มจะนำความเชี่ยวชาญของตัวเองมาสร้างผลงานดีๆ ร่วมกัน เช่น กลุ่มที่มีพื้นฐานด้าน HR สามารถเข้าใจสถานการณ์และจัดการกับปัญหาคนได้ดี ในขณะที่กลุ่มที่ปรึกษากลยุทธ์จะมีความเข้าใจในด้านธุรกิจ สามารถวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี ส่วนกลุ่มนักวิชาการจะเป็นผู้พิสูจน์หลักการต่างๆ ว่าสิ่งที่กูเกิ้ลกำลังดำเนินการอยู่นั้นมันใช้ได้จริงๆ ในโลกของธุรกิจ

จากประสบการณ์ 30 กว่าปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มักพูดว่างานด้านทรัพยากรบุคคล คืองานสบาย เป็นงานนั่งโต๊ะ แต่ก่อนที่คุณจะได้ทำงานแบบนั่งโต๊ะนั้นน่ะ คุณจะต้องเข้าใจธุรกิจของคุณอย่างถ่องแท้ซะก่อน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่เพียงเรื่องงบประมาณ หรืองบกำไรขาดทุนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมบอกว่าเราต้องจัดการกับผลการปฏิบัติงานของคนกูเกิ้ล หรือ เราควรต้องหยุดวิธีการสรรหาคนแบบนี้ได้แล้ว มันไม่ใช่การทำตามคำสั่ง แต่คุณจะต้องสามารถวิเคราะห์ตามบริบทของธุรกิจและดำเนินการได้เป็นอย่างดีด้วย

เมื่อปี 2006 .. Bock ได้รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกกิจการพนักงาน งานสร้างคนกูเกิ้ลคือภารกิจหลักที่สำคัญสำหรับเขา ประกอบกับกูเกิ้ลใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือนในการพิจารณาและตัดสินใจว่าจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ของกูเกิ้ลในสมัยนั้น.. Bock และเพื่อนร่วมทีมจึงได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการจ้างงานในแบบฉบับของคนกูเกิ้ล เช่น การสัมภาษณ์งาน เขาและทีมงานได้วิเคราะห์ ทดลองและพิสูจน์ตลอดระยะเวลาในการทำงานของพวกเขา

ในหนังสือกฎของการทำงาน (Work Rules) เขาได้เขียนถึง “กฎของสี่ (Rule of Four)” ซึ่งเป็นการค้นพบของ Todd ว่า กว่า 86% ของการทดลอง ได้ข้อสรุปว่าการสัมภาษณ์เพียง 4 ครั้ง ก็เพียงพอสำหรับการพิจารณาและตัดสินใจว่าจ้างพนักงานแล้ว ซึ่งสามารถลดระยะเวลาจากเดิม 6 เดือน เหลือเพียง 45 วันเท่านั้น โดยในช่วงที่ Bock ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกนั้น จำนวนพนักงานของกูเกิ้ลได้เพิ่มขึ้นจาก 6000 คน เป็น 60,000 คน อีกทั้งยังมีสำนักงานของกูเกิ้ลเพิ่มขึ้นกว่า 70 แห่งใน 40 ประเทศทั่วโลก

หลายคนอยากรู้ว่า “คนกูเกิ้ล” ต้องเป็นแบบไหน..  หลายคนถาม Bock ว่าถ้ามีผู้สมัครที่เรียนจบจาก Harvard และ Binghamton กูเกิ้ลจะเลือกใคร

Bock กล่าวว่ากูเกิ้ลชอบความหลากหลาย และจากประสบการณ์ของเขา “การสรรหาว่างจ้าง ไม่ได้หยุดอยู่ที่นักเรียนที่ดีที่สุดจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเพียงเท่านั้น หลายคนให้ความสำคัญกับเกรดหรือคะแนนสอบ ซึ่งกูเกิ้ลพบว่าพนักงานที่เคยเรียนหนังสือได้เกรดสูงๆ หรือคะแนนสอบ SAT สูงๆ (Scholastic Assessment Test) จะทำงานได้ดีเพียง 2-3 ปีแรกเท่านั้น แต่หลังจากนั้นไม่มีอะไรสามารถการันตีผลการปฏิบัติงานของคนเหล่านี้ได้เลย ..  และในฐานะของผู้ว่าจ้าง เราจะต้องมีมุมมองที่มากกว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เกรดหรือคะแนนสอบ  สิ่งที่กูเกิ้ลให้ความสำคัญมากๆ กับผู้สมัครก็คือ “องค์ความรู้ที่อยู่ในตัว” และ “ความสามารถในการเรียนรู้”  ของผู้สมัครนั่นเอง”

Bock ยังได้ใช้แนวคิดเดียวกันนี้ในการประเมินพนักงานกูเกิ้ลในระดับผู้บริหาร เขาอธิบายผลการศึกษาพฤติกรรมของผู้จัดการที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีและกลุ่มผู้จัดการที่มีผลการปฏิบัติงานที่ไม่ดี Bock พบว่าผู้จัดการ 2 กลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน และพฤติกรรมที่ว่านี้ก็ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของทีมงานอีกด้วย เช่น พนักงานที่ทำงานไม่ดี ทำงานกับผู้จัดการที่ไม่ดี แต่จะทำงานดีขึ้นเมื่อพวกเขาไปทำงานให้กับผู้จัดการที่ดีกว่า

ในส่วนของการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของกูเกิ้ล Bock พบว่าเมื่อพนักงานได้ข้อมูลป้อนกลับที่ไม่ค่อยดี พนักงานเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีผลต่อค่าตอบแทน และมักไม่เปิดใจรับฟังอย่างแท้จริง กูเกิ้ลจึงมีการให้ข้อมูลป้อนกลับแยกเป็น 2 ส่วนชัดเจน คือ ข้อมูลป้อนกลับในด้านประสิทธิภาพของผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะให้ข้อมูลส่วนนี้ก่อน แล้วจึงให้ข้อมูลป้อนกลับในด้านแนวทางสำหรับการพัฒนาตนเองที่สอดคล้องกับข้อมูลส่วนแรก

กูเกิ้ลมีการสำรวจข้อคิดเห็นจากพนักงานสองครั้งต่อปี  และองค์กรจะเปิดเผยรายงานทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส แต่มันก็มีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ถ้าผู้บริหารที่มีคะแนนในระดับต่ำ ทางองค์กรจะให้มีการชี้แจง รวมถึงให้ผู้บริหารคนนั้นได้ออกแบบแนวทางการปรับปรุง เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาผลการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน

กล่าวโดยสรุป คือ สัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคนคิดว่าตนเองดีอยู่แล้วหรือทำดีอยู่แล้ว ซึ่งการคิดลักษณะนี้อาจทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ในบางเรื่อง ดังนั้น พื้นฐานที่ดีของคนทำงานด้าน HR คือต้องชัดเจน มีพื้นฐานความคิดทางด้านการทดลองและการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ ไม่ว่าคนในองค์กรของคุณจะมากหรือน้อย สิ่งที่ควรทำคือการวิเคราะห์และพิจารณาอย่างละเอียด เช่น เมื่อต้องการปรับปรุงหรือพัฒนาบุคลากร ควรแบ่งกลุ่มพนักงานตามความเหมาะสมให้ชัดเจน เพื่อทดลองเครื่องมือและเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลง .. วิธีการทำงานลักษณะนี้จะทำให้ผลงานของทีม HR ชัดเจนและมีความน่าเชื่อถือในสายตาของทุกคน Bock กล่าว

ข้อมูลจาก : https://www.weforum.org/agenda/2016/03/googles-sharing-its-hr-secrets-can-you-make-them-work-in-your-organization?utm_content=buffer78cc5&utm_medium=social&utm_source=twitter.com&utm_campaign=buffer




Writer

โดย วรัฐินี สวนพุฒ

นักวิชาการเพิ่มผลผลิต ส่วนรณรงค์ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ