23 พฤษภาคม 2022

ทุกความสำเร็จล้วนมีขั้นตอน

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

Soft Power คำที่กำลังฮิตติดลมในสังคมขณะนี้ ประเทศเกาหลีใต้ดูเหมือนจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด แม้ไม่ใช่ประเทศเดียว จากรายงานที่มีชื่อว่า Korea as a Knowledge Economy: Evolutionary Process and Lessons Learned ของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea Development Institute) แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จดังกล่าวใช้เวลาบ่มเพาะถึง 40 ปี*

ในระยะเวลาดังกล่าวมีการดำเนินการอย่างมีกระบวนการคือมีขั้นตอนในการก้าวย่างอย่างเป็นระบบ คนส่วนใหญ่มักมองความสำเร็จเฉพาะส่วนยอด แต่ไม่ค่อยสนใจส่วนฐานราก และนั่นคือจุดบอดของการเรียนรู้ เช่น เวลาไปดูงาน มักจะตื่นเต้นกับภาพสมบูรณ์แบบที่เห็น มองดูผลพวงของความสำเร็จมากกว่าจะให้ความสนใจกับจุดเริ่มต้น การก้าวผ่านอุปสรรค การปรับเปลี่ยนวิธีการ การเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการถอดบทเรียน

การเรียนรู้ความสำเร็จโดยมองให้เห็นเป็นขั้นตอน เป็นส่วนหนึ่งของการคิดอย่างเป็นระบบหรือ System Thinking เช่นกัน และเป็นความจริงที่ว่าแม้แต่ผู้ปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จนั้นก็ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง ยิ่งความสำเร็จนั้นผ่านระยะเวลามานานก็ยิ่งยากในการถ่ายทอดตามลำดับขั้นตอน

 

การถอดบทเรียนด้วยการตั้งคำถาม

จึงเป็นตัวช่วยทบทวนเส้นทางการเดินทางมาสู่ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

รวมทั้งการเชื่อมโยงองค์ประกอบของความสำเร็จให้ครบถ้วนตามที่ได้กล่าวถึงในบทความ ‘ความรู้ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยว’ ที่ผ่านมา

 

🟡 ในการถอดบทเรียนผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการนำเอางานวิจัยไปสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และทำให้ลดความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมในระบบสาธารณสุขไทยอีกด้วย ซึ่งเคยกล่าวถึงไปบ้างในบทความชิ้นแรก ทำให้เห็นได้ว่าความสำเร็จในงานวิจัยที่ผ่านการค้นคว้าทดลองอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลาหลายปีนั้นเป็นเพียงบันใดขั้นแรก ขั้นตอนต่อไปคือการทำให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง ในหลายกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล องค์กรสาธารณสุข ไปจนถึงผู้กำกับนโยบาย การก้าวไปสู่ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์จึงเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังต้องสร้างแนวทางปฏิบัติที่จะควบคุมคุณภาพให้มีความเที่ยงตรงอย่างสม่ำเสมอ

ในขั้นตอนของการสร้างการยอมรับนั้นยังมีวิธีปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนย่อยแทรกอยู่อย่างน่าสนใจ และเป็นความพลาดถ้ามองข้ามไป

🟡 อีกกรณีศึกษาหนึ่งก็คือการถอดบทเรียนของผู้เชี่ยวชาญการทำงานชุมชน ความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร ไปสู่การทำการเกษตรที่มีระบบ ลดการสูญเสีย ลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และสร้างรายได้ที่มั่นคงเป็นความสำเร็จที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานชุมชนพื้นที่อื่นได้ การถอดบทเรียนครั้งนั้นทำให้เห็นขั้นตอนที่ซับซ้อนทั้งขั้นตอนใหญ่และขั้นตอนย่อย โดยขณะที่ตั้งคำถามในการถอดบทเรียนนั้น จะต้องมองภาพตามไปในแต่ละขั้นตอนเพื่อหาคำตอบว่าขั้นตอนนั้นครบถ้วนแล้วหรือยัง วิธีปฏิบัตินั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่

การมองให้เห็นภาพขั้นตอนเพื่อไปตอบความสำเร็จนั้นเองคือการคิดอย่างมีระบบที่ช่วยให้เรียนรู้นั้นนำไปใช้ได้จริง  ซึ่งผู้ที่จะไปถอดบทเรียนนั้นจะต้องฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญในการตั้งคำถาม การวิเคราะห์คำตอบให้เห็นภาพอย่างรวดเร็วว่าชัดเจนหรือไม่ ครบถ้วนหรือไม่ ยังมีช่องโหว่ตรงไหนที่จะต้องถามให้เติมเต็ม ซึ่งการฝึกคิดอย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญดังกล่าวได้

ในการศึกษาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Best Practices ไม่ว่าจะใช้กรอบของเครื่องมือคุณภาพใดมาเป็นตัวช่วยในการถอดบทเรียนความสำเร็จก็ตาม การมองอย่างมีขั้นตอนก็ยังมีความสำคัญไม่น้อยไปว่ากัน ซึ่งจะพูดถึงวิธีการถอดบทเรียนที่เป็น Best Practices ในบทความต่อ ๆ ไปภายหลัง เพราะการศึกษาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิทยายุทธ์ขั้นสูงสุดของการถอดบทเรียนเลยก็ว่าได้

ในกรณีของผู้ที่ต้องการจะถอดบทเรียนตนเองเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้อื่นนั้น สามารถทำได้โดยการเริ่มต้นจากงานประจำที่มั่นใจว่ามีวิธีการที่มาตรฐาน ผ่านการทดสอบแล้วว่าได้ผลที่ดีตามกำหนด ใช้เวลาและต้นทุนต่ำจากการค้นพบวิธีการปฏิบัติด้วยตนเอง ทบทวนดูว่าการทำงานดังกล่าวนั้นมีขั้นตอนอย่างไร เมื่อนำมาเรียบเรียงแล้ว ถามตนเองว่าผู้ที่มาเรียนรู้ตามขั้นตอนดังกล่าว เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจะได้ผลดีเช่นเดียวกันหรือไม่

กระแสฮิตของข้าวเหนียวมะม่วงจึงยังไม่ใช่ผลพวงของ Soft Power อย่างแน่นอนเพราะยังไม่ได้ผ่านกระบวนการที่เป็นขั้นตอนที่จะรับรองความสำเร็จที่ยังยืน เป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วข้ามคืนที่เตือนสติให้รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาสนใจพลังของ Soft Power และเรียนรู้ที่จะสร้างมันขึ้นมาเป็นตัวตน

อ้างอิงจาก https://www.facebook.com/tomornsookprecha, 19 เม.ย. 65

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

Systems Thinking (คิดอย่างเป็นระบบ)
👉 คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น