19 กรกฎาคม 2016

2045 ปัญหายังคงอยู่

กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร เผยแพร่เอกสาร “Global Strategic Trend – Out to 2045” มีข้อมูลสถานการณ์ของโลกในด้านต่างๆ ใน 30 ปีข้างหน้า (เอกสารฉบับนี้ตีพิมพ์ในปี 2015) เพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ แต่ก็มีประโยชน์สำหรับการนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเป็นการศึกษาถึงแนวโน้มของอนาคตจากวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการทั้งจากงานวิจัย ร่วมกับผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และ ภาครัฐ

เรื่องของสิ่งแวดล้อม เอกสารฉบับนี้ยังยืนยันให้เห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการแย่งชิงทรัพยากรยังคงมีอยู่และทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าขณะนี้จะเห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาบ้างแล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังก้าวไม่ทันสถานการณ์

การได้เห็นแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตนี้ จะช่วยให้เราเลือกได้ว่าจะสร้างอนาคตออกมาในรูปแบบใด

การขยายตัวของความเป็นเมือง  (Urbanization)  อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การประมง ยังคงเป็นสาเหตุหลักๆ ของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นไปอีก 1.4 – 2 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนจะมาถี่ขึ้น เช่นเดียวกับภัยแล้ง ขณะเดียวกันโอกาสเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงของเมืองในเขตชายฝั่งก็เป็นสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชียจากน้ำทะเลที่หนุนตัวสูงขึ้น

การขาดแคลนน้ำในการบริโภคจะยังคงเป็นปัจจัยหลักของปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบด้านการเกษตรอย่างหนัก และเมื่อผนวกกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยแล้ว มีการประมาณการไว้ว่าในแต่ละปี พืชผลต่างๆ ทั่วโลกจะเกิดความเสียหาย 10-16 % ดังนั้น การขาดแคลนอาหารมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่แหล่งอาหารที่มาจากการเกษตร แต่แหล่งอาหารจากท้องทะเลก็ประสบภาวะวิกฤติเช่นกัน จากนิเวศทางทะเลที่ขาดความสมดุล

ในเว็บไซต์ของ Post Today  เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา กล่าวถึงรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่าจากปี 2015 ที่ผ่านมา การเกิดแผ่นดินไหว อุทกภัย คลื่นความร้อนและแผ่นดินถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน และส่งผลกระทบต่อประชาชน 98.6 ล้านคน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 6.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) นั้น การตั้งงบประมาณของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนอย่างเนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศ เราจะเห็นว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ประชาชนส่วนหนึ่งยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านชั่วคราว ท่ามกลางซากปรักหักพัง และก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีกเมื่อไหร่ เพราะอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีความเสี่ยงสูง

เมื่อเดือนมกราคม กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ก็กล่าวถึงรายงานของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม และมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ คาดว่าภายในปี 2050 มหาสมุทรจะมีปริมาณพลาสติกมากกว่าปลา ซึ่งเกิดจากการใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบเพิ่มชึ้นในหลายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เฉพาะปี 2013 ปีเดียว ในตลาดมีหีบห่อพลาสติกคิดเป็นปริมาณกว่า 85 ล้านตันมีมูลค่ากว่า 260,000 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหลังจากใช้ครั้งแรกแล้ว 95% ของหีบห่อพลาสติกจะสูญเสียคุณค่า ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 80,000-120,000 ล้านดอลลาร์ มีหีบห่อพลาสติกเพียง 14% เท่านั้นที่ถูกเก็บไว้เพื่อนำไปใช้ซ้ำ

พลาสติกที่สูญเสียคุณค่าเหล่านี้เองคือขยะพลาสติกที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 450 ปี ส่วนโฟมนั้นเป็นพันปี และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาระบบนิเวศในท้องทะเลที่น่าสะพรึงกลัว แต่ก็ดูเหมือนยังไม่มีแนวทางการแก้ไขหรือป้องกันที่ชัดเจน

ภาพอนาคตที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาให้เห็นนี้ เป็นภารกิจที่ต้องทำร่วมกันตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัว ชุมชน องค์กร ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก การแก้ไขและป้องกันจึงจะขับเคลื่อนไปได้จริง

ภัยแล้งในบ้านเราปีนี้ น่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยที่เห็นได้ชัดแล้ว การทำ CSR ขององค์กรต่างๆ จึงควรจะเริ่มหันมาดูภาพความจริงที่เกิดขึ้นว่าจะมีส่วนช่วยได้ในอย่างไรบ้าง การจัดกิจกรรมควรมองในภาพของกระบวนการที่มีเป้าหมายไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งเป้าหมาย วัดและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมเสียที

ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น