พฤติกรรมช่างภาพและผู้สื่อข่าวบันเทิงที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเสื่อมทางจรรยาบรรณในวิชาชีพเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงปัญหาการสร้างจริยธรรมในองค์กร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกกันว่า CG หรือ Corporate Governance การกำกับดูแลกิจการให้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีจริยธรรมอันดี เป็นที่ยอมรับของสังคม
และเป็นพื้นฐานสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรหรือ CSR พอๆ กับไม่มีไก่ก็ไม่มีไข่ หรือไม่มีไข่ก็ไม่มีไก่เลยทีเดียว
ปัจจุบันเกือบทุกองค์กรมีคู่มือ CG อย่างเป็นทางการ แต่จากการศึกษาวิจัยองค์กรที่ผ่านมาพบว่าหลายองค์กรไม่มีการสื่อสาร CG เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในองค์กรอย่างทั่วถึง ผู้บริหารมักคิดเอาเองว่าแจกคู่มือไปอ่านเอาเองก็พอแล้ว
ผู้บริหารลืมคิดไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำผิดจริยธรรมนั้น มันร้ายแรงเกินกว่าที่จะคาดคิด เพราะการทำงานอย่างมุ่งเป้าหมายมักมีความเสี่ยงด้านจริยธรรมได้เสมอ เช่น การติดสินบน การจงใจบิดเบือนข้อมูล การเอาเปรียบคู่ค้า/ผู้บริโภคเพื่อผลด้านการตลาด การทำงานของช่างภาพ สื่อมวลชนเพื่อแย่งชิงภาพข่าวโดยไม่เคารพสิทธิของแหล่งข่าว ฯลฯ
Lawrence Kohlberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวถึงการพัฒนาจริยธรรม 6 ระดับไว้อย่างน่าสนใจ ประกอบไปด้วย ระดับที่ 1 ทำตามกฎเพราะไม่อยากมีปัญหา โดยที่อาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าทำไมถึงต้องทำ ซึ่งเมื่อมีแรงจูงใจอย่างอื่นเข้ามาลืมกฎได้ง่ายที่สุด ระดับที่ 2 ทำเพราะอยากได้รางวัล หลายองค์กรส่งเสริมการทำความดี ด้วยรางวัลล่อใจ ซึ่งก็ดีในระยะเริ่มต้น แต่ต้องให้สิ่งนั้นฝังลึกเข้าไปในทัศนคติให้ได้ อย่าให้กลายเป็นไม่มีรางวัลก็ไม่มีคนทำดี
ระดับที่ 3 ทำเพราะอยากได้รับการยกย่อง หรือเอาหน้า วิธีการยกย่องเชิดชูคนทำดี มักเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งก็คือเชิดชูแบบอย่างที่ดีให้มีคนทำตาม แต่อีกด้านหนึ่งคือทำดีเพราะอยากได้รับการยอมรับ หากทำดีแล้ว ไม่มีคนยอมรับหรือมองเห็น ความผิดหวังอาจทำให้กลับไปด้านตรงกันข้ามได้ ซึ่งมักจะมีคำพูดที่ว่า “ทำดีแล้วไม่ได้ดี” แท้จริงแล้ว การทำดี ไม่จำเป็นต้องได้อะไรจากใคร แต่ได้ความภูมิใจในตัวเองก็พอแล้ว
ระดับที่ 4 คือทำเพราะมันเป็นกฎ บางครั้งคนที่ทำจะเกิดความขัดแย้ง แต่ทำไปด้วยความกลัว ไม่ใช่จิตสำนึกและในความคิดของนักปรัชญาที่เชื่อในความเป็นอิสระของมนุษย์ อย่าง William James เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อทำผิดแล้วจะรู้สึกเสียใจ แต่ถ้าอยู่ภายใต้การบงการของกฎเกณฑ์ใดๆ เมื่อทำผิดจะไม่รู้สึกเสียใจเลย
ระดับที่ 5 ทำเพราะเข้าใจถึงบทบาทการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นระดับที่เข้าถึงจิตสำนึกต่อสังคม เคารพต่อสิทธิของผู้อื่น องค์กรที่มีคนในระดับนี้ CSR ย่อมไปในทิศทางที่ถูกต้องชัดเจน แต่หากถึงระดับที่ 6 คือมีกรอบจริยธรรมที่ตนเองยึดถือ ก็นับว่าองค์กรนั้น หรือสังคมนั้นจะเป็นสังคมที่สันติสุขอย่างยั่งยืน
ตัวอย่างบุคคลที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เพราะมีกรอบจริยธรรมที่ยึดมั่นและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ได้แก่ มหาตมะ คานธี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เนลสัน แมนเดลาและดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นต้น
ต้องยอมรับว่าวิกฤติการณ์ด้านจริยธรรมในสังคมไทยรุนแรงไม่น้อยไปกว่าด้านสิ่งแวดล้อมเลย และได้กลายเป็นความขัดแย้งในความต่างระดับของจริยธรรมในสถาบันต่างๆ ของสังคม ส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วยจากการศึกษาของนักวิจัย TDRI พบว่า การคอร์รัปชั่นส่งผลลบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคอร์รัปชั่นผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงถึง 43.7% ส่วนการคอร์รัปชั่นผ่านความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการลงทุนภาคเอกชนลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 8.2% และ 7.7% ตามลำดับ
สำหรับระดับองค์กรปัญหาด้านจริยธรรมสามารถส่งผลทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน จากการที่สังคมไม่ให้ความเชื่อถือ องค์กรระดับโลกหลายองค์กรพบจุดจบมาแล้ว เมื่อพบว่าองค์กรมีการดำเนินการไร้ซึ่งจริยธรรม
จริยธรรมระดับ 6 อาจฟังแล้วเหมือนการสร้างสังคมยูโทเปีย แต่เมื่อโลกของเราเคยมีปูชนียบุคคลระดับนี้มาแล้ว แสดงให้เห็นว่าคนดีสร้างได้และมีอยู่จริง และเป็นทุนทรัพย์ที่สูงค่าของสังคมที่สมควรแก่การลงทุนที่สุดสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน
ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ