9 กุมภาพันธ์ 2015

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเอพีโอหัวข้อ International Conference on Achieving Sustainability to Empower Future Generations ซึ่งจัดควบคู่กับงาน Eco-products International Fair 2014 ซึ่งทุกปีประเทศสมาชิกเอพีโอจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยในปี 2014 นี้ เอพีโอและไต้หวัน โดย China Productivity Center ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพได้จัดการประชุมนานาชาตินี้ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเชิงนิเวศน์ของประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียแปซิฟิก ความสำคัญและบทบาทของพลังงานสีเขียว การจัดหาทรัพยากรสีเขียว และเมืองสีเขียวว่าสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร นอกจากนี้ การสัมมนายังมีการแลกเปลี่ยนแนวความคิด วิสัยทัศน์ และแนวทางการปฏิบัติสู่ความยั่งยืนที่ดีที่สุด โดยมุ่งเน้นทั้งภาคชุมชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ

การฟังบรรยายในงานสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนครั้งนี้ได้เห็นความมุ่งมั่นของไต้หวัน ซึ่งเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ในการที่จะดูแลโลกให้ปราศจากมลพิษจากการใช้สารประกอบคาร์บอน และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อทั้งสภาพแวดล้อม ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป  ไต้หวันยังพยายามที่จะรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักด้วยการส่งเสริมกิจกรรมลดมลพิษต่างๆ เช่น การใช้จักรยาน UBike การไม่ใช้ถุงพลาสติก การใช้สินค้าที่มีการใช้ซ้ำและผลิตจากวัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมผู้ผลิตและผู้ให้บริการให้หันมาใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และลดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง

สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ได้   Mr. Erdal Elver, President and CEO, SIMENS Ltd., Taiwan มาเป็นผู้บรรยายให้เห็นถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของบริษัท ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นสีเขียวอย่างชัดเจน ทั้งด้านคมนาคม ขนส่ง โรงพยาบาลสีเขียว อาคารสีเขียว และการผลิตสีเขียว เทคโนโลยีของซีเมนส์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทางเลือก เช่น กังหันลมของซีเมนส์ ระบบขนส่งที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้า เข้ามาแทนที่พลังงานจากน้ำมันและก๊าซ การวางระบบประหยัดพลังในอาคาร เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด ซีเมนส์แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการลดพลังงานได้ถึง 70% สนับสนุนการลดปริมาณคาร์บอนตามแนวทาง Carbon Footprint ลดการปล่อยสารคาร์บอนจากตึกสูงได้ถึง 35% โรงพยาบาลสามารถลดได้ถึง 50% รวมถึงความสามารถในการควบคุมปริมาณการใช้แบบติดตามจริงด้วยอุปกรณ์อันชาญฉลาดที่ถูกคิดค้นเพื่อให้การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานมีความถูกต้องและแม่นยำ และสามารถกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซีเมนส์มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยการสร้างสมดุลระหว่างผลกำไร โลก และผู้คน อย่างไรก็ตามการให้การสนับสนุนของภาครัฐในการกำหนดนโยบายก็ยังเป็นแรงขับสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนของการใช้พลังงานทางเลือก และการเป็นองค์กรสีเขียว

Dr. Fanghei TSAU , Deputy Executive Director, Industrial Technology Research Institute, Southern Region Campus  ได้บรรยายในหัวข้อเรื่อง Taiwan’s Initiatives on Green Energy & Energy Efficiency ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการเรื่องพลังงานสีเขียวของไต้หวันเนื่องจากไต้หวันต้องนำเข้าพลังงานถึง 99% ในขณะที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังน้อยมาก คือ เพียงแค่ 0.4% ดังนั้น ไต้หวันจึงต้องมุ่งไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยการศึกษาศักยภาพพบว่า พลังงานลมมีศักยภาพในทะเลมากถึง 100 กิกกะวัตต์และพลังงานจากแสงอาทิตย์มีศักยภาพมากถึง 3 กิกกะวัตต์

APO-1

รูปที่ 1 ตัวอย่างโครงการพลังงานจากแสงอาทิตย์ของไต้หวัน

**  บทความนี้เรียบเรียงจากสรุปรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการ 13-IN-60-GE-CON-B: International Conference on Achieving Sustainability to Empower Future Generations จัดโดยองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization: APO) และ China Productivity Center ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2557 ณ เมืองไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดย นายจิระศักดิ์  มัณฑางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงานด้านการใช้ไฟฟ้า-แผนงาน  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และดร. ต่อเกียรติ น้อยสำลี วิทยากรที่ปรึกษาและรักษาการผู้จัดการส่วนพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 

ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน ไต้หวันก็มีการออกฉลากประหยัดพลังงานเช่นเดียวกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของไทย ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ไต้หวันได้ออกฉลากประเภทบังคับไปแล้ว 8 ผลิตภัณฑ์ และแบบภาคสมัครใจอีก 39 ผลิตภัณฑ์ นับว่าเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในส่วนนี้มาก โดยมีการออกฉลากไปแล้วไม่ต่ำกว่า 154 ล้านฉลาก

Prof. Ryoichi Yamamoto, Vice Chairperson of APO Green Productivity Advisory Committee (GPAC) และ Emeritus Professor of Tokyo City University ยังได้เสริมในเรื่องเกี่ยวกับ Eco-design หรือ การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การออกแบบใหม่ การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ และการปรับเปลี่ยนระบบ ให้ประหยัดพลังงาน ตัวอย่างเช่น บริษัทแคนนอนที่เพิ่มช่วงอายุของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้นอีก 3% และมีการออกแบบให้สามารถลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนให้น้อยลง และมีการใช้พลังงานให้ลดลง เช่นในเครื่องถ่ายเอกสารบางรุ่น LBP7110C สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 47% เป็นต้น และแอร์มิตซูบิชิ ที่มีระบบ Move-Eye Kiwami ซึ่งสามารถตรวจจับความร้อนของผู้ใช้งานและทำให้ความเย็นเหมาะสมไม่สูญเสียซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 38% รวมถึงการพัฒนารูปแบบของใบพัดในเครื่องทำความเย็นที่นำรูปแบบปีกของเครื่องบินโบอิ้งที่มีปีกขนาดเล็กบนปีกใหญ่ และลักษณะปีกของนก ที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม และมีขนที่แยกออกจากกันทำให้บินได้เร็วและสูง โดยใช้พลังงานไม่สูงนัก

APO-2

รูปที่ 2 แอร์มิตซูบิชิ ที่มีระบบ Move-Eye Kiwami

 

 APO-3
รูปที่ 3 การพัฒนารูปแบบใบพัดในเครื่องทำความเย็นจากปีกของเครื่องบินโบอิ้ง

 

Dr. Ning Yu, Senior Advisor, Environment and Development Foundation, Green Procurement Initiatives and Success Stories ได้กล่าวถึง การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์ บริการ ชิ้นส่วนและวัตถุดิบ โดยการสร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกจากการกระทำของผู้บริโภค   โดยซื้อเท่าที่จำเป็น   ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมลพิษต่ำ มีการใช้ซ้ำ  และใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานนานขึ้น ซ่อมแซมได้ง่าย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีความปลอดภัยต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้บริโภคต้องชักชวนคนใกล้ชิดให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์สีเขียว และสะท้อนความต้องการผลิตภัณฑ์สีเขียวไปยังผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับบทเรียนที่ผ่านมาในการบริโภคสีเขียว ได้แก่ การปรับปรุงการให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะทำได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในภาพรวม

ตัวอย่าง ประเทศในเอเชียหลายประเทศที่ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมของภาครัฐแล้ว อาทิ ฮ่องกงมีการออกโปรแกรมฉลากแสดงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Labeling) ประเทศจีนออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน การจัดการสิ่งแวดล้อม การสร้างเครือข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการออกฉลากแสดงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่นมีโปรแกรมสาธารณะจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการสร้างศูนย์ข้อมูลรวบรวมหน่วยงาน ผลิตภัณฑ์ ที่ดำเนินการด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ประเทศเกาหลีใต้มีสถาบันที่ดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของโลก (Global Green Growth Institute) และกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด ไต้หวันส่งเสริมร้านที่ให้บริการและขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ก็มีการดำเนินการร่วมกันในเรื่องของ การสร้างเครือข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement)   สำหรับประเทศไทยมีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

 APO-4
รูปที่ 4  สรุปการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

APO-5
รูปที่ 5 สรุปการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม   การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) ต้องใช้ฉลากเขียวเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาซื้อ และยังมีส่วนช่วยในการตรวจสอบหาแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน ซึ่งฉลากเขียวอาจไม่ได้ระบุ และการสื่อสารถึงรูปแบบ หรือรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สีเขียวไม่ควรผิดวัตถุประสงค์ ต้องชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ สมบูรณ์ และโปร่งใส ซึ่งผู้บรรยายเน้นการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ ได้ดีกว่าการกระตุ้นในตลาดผู้บริโภค เช่น การออกกฎ ระเบียบ การฝึกอบรม และตรวจสอบที่เป็นมาตรฐาน ในส่วนการสร้างเครือข่าย การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเน้นทั้งการตั้ง Green Store, Green Restaurant, Green Hotel รวมถึงการฝึกอบรม ให้ความรู้ และส่งเสริมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้แก่ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน กลุ่มคนทำงาน ผู้สูงอายุ และชุมชน ให้เกิดการตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษาพลังงานอย่างยั่งยืน




Writer

โดย ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ