12 เมษายน 2016
image: https://www.thefinancialist.com/sharing-is-the-new-buying/
image: https://www.thefinancialist.com/sharing-is-the-new-buying/

หนึ่งใน Megatrend ที่กำลังมานั่นคือ “ธุรกิจแบ่งปัน” หรือ “Sharing Economy” ที่เป็นการ “แบ่งปัน” ทรัพยากรซึ่งกันและกัน เนื่องจากโลกมีทรัพยากรจำกัด แต่มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด จึงทำให้แนวคิดการบริโภคทรัพยากรด้วยกัน (Collaborative Consumption) เกิดขึ้น โดยเป็นวิธีการจัดการทรัพยากรเพื่อแบ่งปันไปสู่ผู้ที่ต้องการใช้(http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1441429730) สำหรับบทความนี้คัดมาจากเว็บไซต์ thefinancialist.com ซึ่ง ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ได้คาดการณ์เกี่ยวกับรูปแบบการใช้จ่ายในอนาคตที่เกิดจากการแบ่งปัน…

จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่อง Sharing Economy ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่เลยทีเดียว เห็นได้จากการที่ศาสนสถานต่างๆ ในยุโรปก็มีการเปิดให้ประชาชนหยิบยืมหนังสือมาตั้งแต่ยุคกลาง ชาวนา ชาวไร่มีการแบ่งปันเครื่องมือและแรงงานกันมาหลายร้อยปี หรือการบริการให้เช่าใช้รถยนต์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1904

แต่สิ่งที่ถือว่าใหม่ น่าจะเป็นเรื่องของการเติบโตของธุรกิจที่อาศัยแนวคิดของการแบ่งปัน (Sharing) การให้เช่า (Renting) การร่วมมือกัน (Collaborating) และการเข้าถึงสินค้าบริการที่ต้องการ (on-demand) ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและหลากหลาย โดยปัจจัยสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์นี้ก็คือ การเติบโตและความนิยมที่แพร่หลายของสมาร์ทโฟนนั่นเอง ในปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้แนวคิดของการแบ่งปัน (sharing-oriented businesses) ถึง 44 รายที่มีมูลค่าทางธุรกิจที่เกินพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้ง 44 กิจการมีมูลค่าทางธุรกิจรวมกันถึง 219 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 35% ของธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่ง Credit Suisse คาดการณ์ว่า รายได้รวมของธุรกิจเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นจาก 15 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013 มาเป็น 335 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025

Credit Suisse ได้แบ่งธุรกิจแบ่งปันออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มให้เช่า (หรือขาย) สินค้า (หรือบริการ) ส่วนบุคคล (เช่น Airbnb, TaskRabbit) 2) กลุ่มค้าขายในรูปแบบระบบสมาชิก (เช่น Zipcar, eLance) และ 3) กลุ่มตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ (เช่น TripAdvisor, Yelp, Wikipedia) และระดมทุนหรือทรัพยากร (เช่น Kickstarter, Lending Club)

คนส่วนใหญ่คิดว่า รูปแบบธุรกิจแบ่งปันจะสามารถดึงดูดเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น ดังนั้นธุรกิจนี้อาจไม่ยั่งยืนและล้มหายตายจากไปหากภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง แต่ Credit Suisse กลับไม่เห็นด้วย ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มคนในยุค Millenniums (อายุ 18-35 ปี) ถึงร้อยละ 60 ที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจนี้ แต่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 40 เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจของ Havas บริษัทด้านการตลาด ซึ่งสำรวจสภาวะตลาดทั่วโลก พบว่า ร้อยละ 43 ของคนในช่วงอายุ 35-54 ปี มีความสนใจที่จะใช้บริการแบบแบ่งปัน ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคนในช่วงอายุ 18-34 ปี (ร้อยละ 50) ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของบริษัท Nielson พบว่า ร้อยละ 68 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกระบุว่า มีความสนใจที่จะให้เช่าหรือแบ่งปันทรัพย์สินของตนเองให้แก่ผู้อื่น และผู้ตอบร้อยละ 66 มีความสนใจที่จะเช่าทรัพย์สินหรือบริการจากผู้อื่น

ข้อมูลยังระบุอีกด้วยว่า การแบ่งปันนั้นมีแรงดึงดูดผู้คนในเชิงจิตวิทยา ถึงแม้ว่าเรื่องของการประหยัดหรือการสร้างรายได้จะเป็นเหตุผลหลักในการใช้บริการของธุรกิจประเภทนี้ แต่ความรู้สึกดีที่ได้แบ่งปันและช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นแรงเสริมเช่นกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70 ระบุว่า การบริโภคที่มากเกินความจำเป็นจะทำลายสังคมและโลก ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการที่จะบริโภคเพียงเพื่อให้ความสะดวกสบายในชีวิตอีกต่อไป พวกเขาอยากเป็นผู้บริโภคที่ฉลาด (smart consumer) มากกว่า มีรายงานจากกลุ่มบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2015 เงินร่วมลงทุนถึงร้อยละ 24 เป็นการร่วมลงทุนในธุรกิจแบ่งปัน

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเหมาะกับที่สุดที่จะใช้รูปแบบของธุรกิจแบ่งปัน ประกอบด้วย การบริการสำหรับธุรกิจ การบริการด้านการเงิน การขนส่ง และการท่องเที่ยว

ในช่วงปี 2012-2014 สมาชิกที่เข้าร่วมกับธุรกิจแบ่งปันด้านรถยนต์ (Car-sharing services) เช่น Zipcar มีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 65 ต่อปี ในขณะที่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเดียวกันนี้ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน Credit Suisse กล่าวว่า ความใส่ใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความยั่งยืนของผู้บริโภค ประกอบกับต้นทุนในการเป็นเจ้าของรถยนต์ค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจในเรื่องของการบริการเช่ารถ (car sharing) และการร่วมเดินทาง (ride-sharing) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมือง ทั้งนี้ การเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) การขนส่งสาธารณะที่มีทางเลือกมากขึ้น การทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และการที่คนมีการทำงานจากบ้านมากขึ้น ทำให้การแบ่งปันการใช้รถยนต์มีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับการซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง ขณะนี้สัดส่วนของคนหนุ่มสาวที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มีแนวโน้มลดลงทั้งในอังกฤษและอเมริกา นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยในลอนดอนยังชี้ให้เห็นอีกว่า การเข้าเป็นสมาชิกของ Zipcar ทำให้คนต้องการขายรถยนต์ของตนเอง และล้มเลิกความคิดที่จะซื้อรถใหม่ ข้อมูลเหล่าเองนี้ทำให้ Credit Suisse เชื่อว่า กระแสในเรื่องของการแบ่งปันรถยนต์จะเกิดขึ้นทั่วโลกในที่สุด โดยนักวิเคราะห์ด้านธุรกิจยานยนต์ของธนาคารมองว่า เรื่องนี้จะเป็นกระแสในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วไปอีกหลายปีนับจากนี้ และรถยนต์จะกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชนชั้นรายได้ปานกลางและรายได้สูงในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น

สำหรับด้านการท่องเที่ยว Credit Suisse คาดว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโรงแรมของ Airbnb จะขยายตัวจากร้อยละ 1 ไปเป็นร้อยละ 3 ในปี 2020 ซึ่งยังไม่ได้นับรวมธุรกิจคู่แข่งอื่นๆ เช่น บ้านเช่า (HomeAway) หรือห้องให้เช่า (Couchsurfing) แนวโน้มดังกล่าวทำให้ธุรกิจโรงแรมเครือข่าย (Hotel chain) ไม่สามารถมองข้ามภัยคุกคามนี้ได้อีกต่อไป และเมื่อเร็วๆ นี้เองโรงแรมไฮแอทได้ร่วมลงทุนในธุรกิจ Onefinestay มูลค่ากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นบริการของ Airbnb ในแบบหรูหรา (Luxury) Credit Suisse ยังมองเห็นว่า นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับธุรกิจโรงแรมเครือข่ายอื่นๆ ที่อาจขยายการลงทุนไปในธุรกิจลักษณะนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารเชื่อว่า กลุ่มที่พักประเภทอพาร์ตเมนท์และห้องเช่ารายวัน จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะถือเป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกันกับ Airbnb

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีคนที่ทำงานแบบอิสระ (freelance) เพิ่มมากขึ้น ทำให้รูปแบบธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง (เช่น eLance, Freelancer) และการใช้พื้นที่ทำงานร่วมกัน (Wework, Workspace) เติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีมานี้ การใช้พื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ ปี โดยในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 4,000 แห่งทั่วประเทศ Credit Suisse คาดการณ์ว่า ในอนาคตรูปแบบธุรกิจเกี่ยวกับ freelance จะเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดและรายได้ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดหาแรงงานแบบเก่าๆ แม้ว่าในปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นแค่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในขณะที่บริษัทจัดหางานแบบเก่าจะสนใจกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสรรหาแรงงานแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมา หรือธุรกิจอย่าง LinkedIn หันมาสนใจตลาดนี้ ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามสำหรับธุรกิจจัดหางานแบบเก่าในทันที

ในด้านธุรกิจการเงิน ถึงแม้ว่าปริมาณการให้กู้ยืมระหว่างบุคคล (peer-to-peer lending) และการระดมทุนจากกลุ่มคน (crowd-funding) จะยังมีสัดส่วนที่ไม่มาก โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ถึง 2 ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด แต่ก็พบว่า ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป การให้กู้ยืมระหว่างบุคคลมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งหากอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับนี้ไปเรื่อยๆ คาดว่า ภายในปี 2025 สัดส่วนการกู้ยืมเงินจากธุรกิจนี้จะกินส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อในกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง ถึงประมาณร้อยละ 25 ทั้งนี้ การที่ธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อมหลังเกิดวิกฤติทางการเงิน ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจการให้กู้ยืมระหว่างบุคคล และการระดมทุนจากกลุ่มคน ซึ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อในวงเงินน้อยๆ แก่บุคคลและธุรกิจ รูปแบบบริการนี้ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสภาพคล่องได้อย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงิน และยังมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเพราะเป็นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด แต่ก็มีคำถามว่า ธุรกิจทางเลือกเหล่านี้จะยังคงเติบโตในอัตราเช่นนี้ไปได้ตลอดหรือไม่ เพราะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความเข้มงวดในการเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่ดึงดูดเจ้าของแหล่งเงินเข้ามาในธุรกิจนี้เพราะสามารถหาผลตอบแทนในระดับ 6-8 % ในช่วงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับเพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยที่สกัดกั้นการขยายตัวของการให้กู้ยืมระหว่างบุคคล อย่างไรก็ดี การเติบโตของธุรกิจประเภทนี้จะยังคงเป็นนวัตกรรมที่จะเป็นคู่แข่งของสถาบันการเงินในตลาดสินเชื่อวงเงินขนาดเล็ก ต่อไป

 

ที่มา :Ashley Kindergan. (November 13, 2015). Sharing Is the New Buying. Retrieved from https://www.thefinancialist.com/sharing-is-the-new-buying/

 




Writer

โดย ทศพล ระมิงค์วงศ์

ผู้จัดการส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ