31 มีนาคม 2016

internet of thing_1

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “คลื่นยักษ์สึนามิสีเงินยวง” (silver tsunami) หรือ “ภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งผลจากเข้าสู่ภาวะดังกล่าวคือ วัยแรงงานต้องรับภาระมากขึ้นในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ  ซึ่ง David Glance เขียนบทความในเว็บไซต์ World Economic Forum ถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้สูงอายุด้วย Internet of Things ดังนี้

ประชากรที่อายุเกิน 65 ปี จะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ และมีจำนวนมากกว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับวัยชรา นอกจากนี้ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของการขยายตัวของประชากรผู้สูงอายุคือ การเพิ่มจำนวนของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอัลไซเมอร์ โดยในยุโรปประชากรจำนวน 7% ที่อายุมากกว่า 65 ปี มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งอายุยิ่งมากขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยผู้หญิงเกือบ 50% และผู้ชาย 30% ที่อายุเกิน 90 ปีจะต้องทนทรมานจากโรคนี้

สำหรับเราหลายคนมีความปรารถนาที่จะ “อายุยืน” ด้วยชีวิตที่ปกติและไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซี่งวิธีการหนึ่งที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายนี้คือการใช้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งาน Smart Devices เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านเข้าด้วยกันที่เรียกว่า “Internet of Things” ซึ่งกำลังจะกลายเป็นจริงในเร็วๆ นี้

Internet of Things สามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนระบบ Cloud ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวของผู้สูงอายุเอง ที่สามารถประมวลผลข้อมูลและดำเนินการต่างๆ เช่น การควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ การล็อคประตูและหน้าต่าง การแจ้งเตือนเวลารับประทานยา หรือแม้แต่การกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นหรือการช่วยในการเดิน

ข้อมูลที่เก็บรวบรวมผ่านทาง Internet of Things สามารถนำมาใช้ในการสังเกตชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุได้ โดยจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน แล้วแจ้งเตือนไปยังผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน ครอบครัว หรือผู้ดูแลสุขภาพของพวกเขา

ความท้าทายของ Internet of Things

แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่มีอุปสรรคสำคัญที่จะต้องเอาชนะเพื่อจะใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ประการแรกคือการยอมรับจากผู้สูงอายุ พวกเขาอาจจะเห็นอุปกรณ์ติดตามระยะไกลเป็นสิ่งละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา รวมทั้งยังทำให้พวกเขาเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีนี้เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ประการที่สองคือความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการแจ้งเตือนที่ผิดพลาด และประการสุดท้ายคืออุปกรณ์อาจจะราคาแพงหรือหรูหราเกินไป

การพัฒนา Internet of Things    

บางส่วนของอุปสรรคเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขด้วยการออกแบบอุปกรณ์ใหม่ ซึ่งบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้สร้าง Smartwatch ไม่แตกต่างกันกับ Apple หรือ Samsung ที่สามารถแจ้งเตือนและใช้ในการเรียกความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีการนับการก้าวเดินเพื่อประเมินกิจกรรมที่ทำ และเป็นประโยชน์มากกว่าบอกเวลา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจสอบการใช้ยา การเข้าถึงของตู้เย็น และการเคลื่อนไหวในห้องต่างๆ ตลอดจนยังสามารถตรวจสอบการหกล้มของผู้สูงอายุ และโทรขอความช่วยเหลืออัตโนมัติได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในการออกแบบอุปกรณ์ให้มีหน้าตาเหมือนนาฬิกาที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคของผู้สูงอายุในการใช้งานได้

การตรวจเช็คสถานะสุขภาพ

Telehealth เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดูแลคนในบ้านโดยใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Smart Devices ซึ่งไม่เพียงแต่เราจะเผชิญปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมีโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรคอีกด้วย โดยการใช้เครื่องมือติดตามระยะไกลเพื่อตรวจสอบน้ำหนัก ความดันโลหิต ชีพจร คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และปัญหาอื่นๆ ที่สามารถตรวจพบได้ โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ และที่สำคัญ คือ ไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลด้วยตัวเอง

Smart devices ช่วยตัดสินใจและดำเนินการด้วยข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่การทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำหน้าที่ดูแลอย่างได้ผล ยังคงเป็นงานที่ท้าทายมากที่สุดของกระบวนการทั้งหมด เช่น การแจ้งเตือนให้ผู้สูงอายุรับประทานยาจะไม่มีประโยชน์เลย หากผู้สูงอายุตัดสินใจว่า เขาจะไม่ทาน ดังนั้น การทำให้ผู้สูงอายุได้รับยาตามที่กำหนดยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

Internet of Things สำหรับใช้ในบ้าน ยังคงต้องมีการพัฒนาเรื่องราคาให้ถูกลง มีความน่าสนใจ และมีประโยชน์มากขึ้นในทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน  คอมพิวเตอร์ และแอพพลิเคชัน โดยโอกาสที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงมากที่สุด เป็น ความคิดริเริ่มจาก Apple และ Google  ด้วย HomeKit ของ Apple และ Brillo ของ Google ซึ่งมีเป้าหมายไปที่บ้านของทุกคน ความนิยมอาจจะเห็นผลในผู้สูงอายุรุ่นต่อไปที่พร้อมสำหรับการพึ่งพาตนเอง ความช่วยเหลือของอุปกรณ์อัจฉริยะ และความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

ที่มา: https://agenda.weforum.org/2015/08/how-the-internet-of-things-could-transform-the-lives-of-the-elderly/




Writer

โดย วรพงศ์ อัสวสุรนาท

วิศวกรระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ