กระดุมเม็ดแรก
โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช
[email protected]
บทความแรก ‘หลุมพรางของการถอดองค์ความรู้’ ในชุดความรู้ ‘KM Insight through Knowledge Capturing’ ได้เกริ่นว่าการถอดองค์ความรู้เป็นกระบวนการที่ไม่ง่าย ดังนั้นจะลงทุนลงแรงดำเนินการจึงควรพิจารณาให้รอบด้านว่าคุ้มหรือไม่ พร้อมหรือไม่ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการจัดการความรู้ขององค์กรมาถูกทางหรือไม่
ทฤษฎีการจัดการความรู้มีหลายสำนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นสำนักไหน
ความหมายของคำว่า ‘มาถูกทาง’ ก็คือ มีผลลัพธ์ที่วัดได้ชัดเจนต่อความสำเร็จขององค์กร
ความสำเร็จในภาพรวม คือการบรรลุตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ ซึ่งก็ต้องมาจากความสำเร็จของหน่วยงานแต่ละหน่วย จาก KPI ที่กำหนดไว้เป็นระดับพื้นฐาน สูงกว่านั้นก็คือการเกิดนวัตกรรมในการทำงานที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จอย่างลื่นไหล ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาสั้นลง และคนทำงานมีความสุข
ถ้าการจัดการความรู้ในองค์กรทำให้เกิดผลลัพธ์ดังที่กล่าวมา ก็แสดงว่า ‘มาถูกทาง’ แล้ว การถอดองค์ความรู้จึงจะเป็นเครื่องมือที่คุ้มค่าแก่การหยิบมาใช้
แต่ถ้าคำตอบคือยังไม่แน่ใจ หรือยังไม่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขอให้กลับไปตั้งต้นใหม่ เพราะการจัดการความรู้เปรียบเสมือนกระดุมเม็ดแรก ซึ่งถ้าติดผิดทุกอย่างก็สูญเปล่า
ไม่มีการปฏิบัติงานใดที่ไม่ต้องใช้ความรู้ แต่ความรู้นั้นต้องมีการจัดการให้ตอบสนองเป้าหมายในทิศทางเดียวกันเท่านั้นเอง
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการความรู้เข้าใจได้ง่าย นำไปปฏิบัติได้จริง
ผู้บริหารอาจจำเป็นต้องนำมาตีความและเรียบเรียงแนวทางใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร และคนทำงาน
ตัวอย่าง การจัดการความรู้ของกรมอนามัย
ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปถอดประสบการณ์การทำงานเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ กรมอนามัยเริ่มดำเนินการการจัดการความรู้ในปี พ.ศ. 2547 พร้อม ๆ กับหน่วยงานภาครัฐทั้งประเทศ หลังจากดำเนินการมาได้ 8 ปี เกิดผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรอย่างชัดเจนในหลายเรื่องได้แก่ ความสัมพันธ์และความสุขของคนทำงาน วิธีทำงานใหม่ๆ การสร้างองค์ความรู้ในการทำงาน ที่สำคัญที่สุดก็คือการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จากการที่คนทำงานสนุกกับการเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง
จุดเริ่มต้นมาจากผู้บริหารระดับสูงในขณะนั้นคือนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานในการจัดการความรู้ เนื่องจากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาอย่างลึกซึ้ง จึงกำหนดเป้าหมายให้ง่ายต่อการปฏิบัติ 3 ประเด็นคือ
เป้าหมายนี้ถ่ายทอดไปยังหน่วยงานย่อยของกรมอนามัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ซึ่งเกิดผลลัพธ์ที่น่าตื่นใจ และเมื่อนำเอาการดำเนินการตามเป้าหมายทั้ง 3 ประเด็นมาอธิบายในกรอบทฤษฎีการจัดการความรู้แต่ละสำนักก็สามารถใช้ได้ไม่ต่างกัน
การจัดการความรู้ของกรมอนามัยเป็นแนวทางที่เรียบง่ายและได้ผลจริง บางองค์กรที่ใช้การดำเนินการตามกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้กุมบังเหียนในการดำเนินการว่าจะมีความเข้าใจในการเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร
องค์กรที่ผู้เขียนได้เห็นความสำเร็จในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนก็คือ สายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย (สอบ.)
ซึ่งได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality class) ในปี พ.ศ. 2560 สอบ. มีการดำเนินการจัดการความรู้ที่มีกระบวนการ และวิธีการปฏิบัติที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน มีการวัดผลลัพธ์เพื่อให้ตอบสนองวิสัยทัศน์และพันธกิจตามที่กำหนด ด้วยการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมในกระบวนการผลิต ซึ่งตอบโจทย์กลยุทธ์หลักที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศขององค์กรนั่นคือ “การสร้างนวัตกรรมเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน”
ผู้สนใจสามารถอ่านเนื้อหาโดยละเอียดในรายงานวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ในเว็บไซต์ของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ