17 กุมภาพันธ์ 2559 – สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกาศรายชื่อ 6 องค์กรไทยคุณภาพ ทั้งองค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถคว้ารางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2558 ได้สำเร็จ ซึ่งรางวัลดังกล่าวสามารถยืนยันความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานสากล โดยในปีนี้ไม่มีองค์กรใดก้าวผ่านเกณฑ์และสามารถพิชิต “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” (Thailand Quality Award-TQA) ได้สำเร็จ
นายสมภพ อมาตยกุล ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพิจารณาให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัล การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ได้ดำเนินการมาครบรอบ 14 ปี แล้วในปี พ.ศ.2558 ซึ่งผลการตรวจประเมินองค์กรที่สมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ประจำปี 2558 มีองค์กรที่ได้รับรางวัล ดังต่อไปนี้
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) ไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับรางวัล
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC) มีจำนวนองค์กรที่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 6 องค์กร ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาขอนแก่น จำกัด
- บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
- โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
- โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- สายธุรกิจสุกร: บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวต่อว่า “ในนามของคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ และขอชื่นชมในความมุ่งมั่น พยายาม จนนำมาซึ่งความสำเร็จในวันนี้ด้วยความจริงใจ รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององคกรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก อันจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการกระตุ้นให้องค์กรหรือธุรกิจพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการยกระดับการบริหารจัดการสู่ระดับสากล สำหรับทั้ง 6 องค์กรที่ได้รับรางวัล TQC ในปี 2558 นี้ นับเป็นความภาคภูมิใจที่รางวัลคุณภาพแห่งชาติสามารถผลักดันองค์กรทั้งภาครัฐวิสาหกิจและเอกชนได้สำเร็จ โดยองค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิผล ตลอดจนมีการเรียนรู้และปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้รับรายงานป้อนกลับที่ระบุจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุง เพื่อนำมาใช้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร อันนำไปสู่การเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก กล่าวคือ การได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ในอนาคต
ดร.สันติ กนกธนาพร ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ปี 2559 จะมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศปี 2559-2560 เป็นการก้าวข้ามกรอบของเกณฑ์ไปสู่การมองแบบองค์รวม ซึ่งจะชี้นำองค์กรไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิผลสูงสุดในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มตั้งแต่การให้ความสำคัญกับมุมมองเชิงระบบของเกณฑ์ การปรับค่านิยม และแนวคิดหลักของเกณฑ์ จากการศึกษาถึงสภาพการแข่งขันและแรงกดดันเชิงกลยุทธ์ที่มีต่อองค์กร จึงเริ่มให้ความสำคัญในประเด็นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ Change Management, Big Data และ Climate Change ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในแต่ละครั้งได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ สะท้อนให้เห็นว่าเกณฑ์ถูกสร้างมาจากวิธีปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างซึ่งใช้ได้ผลในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หรือองค์กรข้ามชาติ และเมื่อวิธีปฏิบัติเหล่านี้ฝังลึกอยู่ในระบบการบริหารจัดการซึ่งถูกบูรณาการผ่านมุมมองเชิงระบบแล้ว ผลการดำเนินการจะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”
นายสมชาติ น้อยศิริสุข รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ในปี 2558 มีองค์กรสนใจสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จำนวน 39 องค์กร โดยมีองค์กรภาคการผลิต คิดเป็นร้อยละ 43.58 รองลงมาเป็น ภาคบริการ ร้อยละ 30.77 ภาคการศึกษา ร้อยละ 17.95 และภาคการบริการสุขภาพ ร้อยละ 7.70 ในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติมีบทบาทในการส่งเสริมและผลักดันภาคส่วนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ทั้งช่วยปรับปรุงกระบวนการ ขีดความสามารถ และผลลัพธ์ขององค์กร ทั้งยังช่วยกระตุ้นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างองค์กรต่างๆ และยังเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ทำความเข้าใจและบริหารจัดการผลการดำเนินการขององค์กร ตลอดจนเป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ผ่านการนำเกณฑ์ TQA ไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย”