26 มกราคม 2016

020

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับผู้บริหารระดับกลางขององค์กรใหญ่ในธุรกิจปิโตรเคมีท่านหนึ่ง ซึ่งยืนยันให้เห็นว่า การปลูกฝังความรับผิดชอบให้พนักงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหา

เรื่องมีอยู่ว่าในงานที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยมากมักจะเรียกว่า SHE ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลองค์กรในเรื่องของความปลอดภัย (Safety)  อาชีวอนามัย (Health) และ สิ่งแวดล้อม ( Environment)  ในเรื่องเหล่านี้องค์กรใหญ่ๆ ก็มักจะได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ในกลุ่มของ ISO ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

และถ้าโรงงานอยู่ในทำเลที่มีโรงงานการผลิตอื่นๆ อยู่ร่วมกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย กลิ่นเหม็น เสียงรบกวน ก็ยากแก่การพิสูจน์ว่ามาจากโรงงานใด องค์กรอาจตกที่นั่งแพะรับบาปได้โดยง่าย ไม่ว่าจะมีใบรับรองมาตรฐานสากลมากี่ใบก็ตาม

เพราะนั่นยังไม่เพียงพอกับการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากประสบการณ์ของท่านผู้นี้ ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่าย สิบกว่าปีที่ผ่านมาท่านรู้สึกท้อแท้กับการเผชิญหน้ากับชุมชนทุกครั้งที่มีเรื่องร้องเรียน เพราะท่านก็มั่นใจว่าได้มีระบบดูแลอย่างดีแล้ว

จนกระทั่งท่านไปเห็นวิธีการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรแห่งหนึ่ง ที่ทำให้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ลดลงไปได้ จึงนำมาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนได้ว่าหากมีปัญหาด้านผลกระทบจากกระบวนการผลิตขององค์กรจริง ท่านสามารถแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว

สิ่งที่ท่านทำก็คือจัดทำระบบตรวจสอบทุกจุดในโรงงานที่คาดว่าจะสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกำหนดผู้รับผิดชอบในการเฝ้าระวังผลัดเปลี่ยนกันตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไม่เว้นวันหยุด ทันทีที่ชุมชนร้องเรียนไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด หรือถึงแม้ว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากสายการผลิตของโรงงาน ก็ต้องออกไปทำความเข้าใจกับชุมชนอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  พร้อมกับผู้ที่รับผิดชอบในโรงงานก็ต้องตรวจสอบตามจุดต่างๆ ทันทีให้เกิดความมั่นใจ เพื่อจะได้ชี้แจงกับชุมชนได้ และร่วมมือกับชุมชนในการหาสาเหตุที่แท้จริงจนกว่าจะพบ ไม่ปัดความรับผิดชอบเพียงแค่ชี้แจงว่าไม่ใช่สาเหตุจากโรงงาน

ด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้ข้อร้องเรียนของชุมชนลดลง เพราะมีความเชื่อมั่นว่าองค์กรแห่งนี้ให้ความใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็ยังสร้างความสัมพันธ์ต่อชุมชนอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน รวมทั้งการร่วมกิจกรรมต่างๆ ประพฤติตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้จัดการฝ่ายท่านนี้ก็ได้รับรู้ถึงความรู้สึกห่วงใยต่อความเดือดร้อนของชุมชนอย่างจริงใจ ท่านกล่าวว่าผลกระทบจากกระบวนการผลิตนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังอย่างรอบคอบ และละเอียดถี่ถ้วน และหากเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขไม่ง่ายนัก การเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง จะทำให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น เสียเวลาและทรัพยากรน้อยลงด้วย ข้อยากก็คือต้องวางระบบการเฝ้าระวัง ที่ไม่ใช่ไปลอกตามมาตรฐานคนอื่นมา แต่ต้องเป็นการนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับระบบการปฏิบัติงานของตนเอง เพราะเครื่องจักรแต่ละโรงงานมีการใช้งานที่ต่างกัน

ที่สำคัญก็คือคนทำงานต้องเข้าใจว่าทำไมจึงต้องเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมระดับสากลแล้ว เพราะความใส่ใจต่อความรับผิดชอบเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจของทุกคนให้ได้

ฉะนั้น สองเรื่องหลักๆ ในการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็คือ หนึ่ง การสร้างระบบที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบความผิดพลาดที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ และสอง สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้เกิดกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน

มาตรฐานสากลด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมมีการปฏิบัติกันมาหลายสิบปีแล้วในประเทศไทย แต่ภาพรวมของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในสภาพที่นอกจากไม่ได้ดีขึ้น ยังเลวร้ายลงไปอีก ทั้งปัญหาน้ำ กากขยะอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศ ปรากฏการณ์เหล่านี้พอจะบ่งชี้ได้หรือไม่ว่าการทำตามมาตรฐานสากลนั้น เพียงพอหรือไม่ ยังมีช่องว่างอะไรอีกในทางปฏิบัติ

หรือมันเป็นเรื่องของหลักการกับวิธีปฏิบัติที่ไปคนละทาง ถ้าเป็นเช่นนั้นการสร้างจิตสำนึกก็คือคำตอบสุดท้าย

ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น