ในยุคอุตสาหกรรม4.0 คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่รู้จักคำว่า “Internet of Things” หรือ “IoT” และเมื่อเราเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว หลายคนอาจยังสงสัยว่าสิ่งนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่ง Jamie Carter ได้เขียนถึงเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในด้านการดูแลสุขภาพของประชากร ในในเว็บไซต์ techradar.com ดังนี้
คนที่เคยไปใช้บริการในโรงพยาบาลต่างทราบดีถึงเวลาที่ต้องใช้ไปกับการตรวจวัดความดันเลือด และการตรวจพื้นฐานอื่นๆ ถ้าหากโรงพยาบาลสามารถใส่อุปกรณ์สวมใส่บางอย่างให้กับผู้ป่วยเพื่อให้ขั้นตอนการตรวจเหล่านี้เป็นไปได้โดยอัตโนมัติ จะสามารถประหยัดเวลาได้เป็นอย่างมาก และนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ การที่ Internet of Things จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการในเรื่องของการดูแลสุขภาพ
อีกห้าปีต่อไปจากนี้การรักษาแบบดั้งเดิมระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจติดตามสุขภาพขั้นพื้นฐาน และกำหนดตารางการดูแลสุขภาพต่างๆ ด้วย IoT sensors ทั้งในบ้านและที่ติดอยู่กับตัวเรา และสิ่งนี้เองที่จะทำให้เราสามารถดูแลสุขภาพได้ตัวตัวเอง ซึ่งมีโอกาสมากมายสำหรับการออกแบบอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่จะมาปฏิวัติการดูแลสุขภาพ และนอกจากทำหน้าที่ในการช่วยตรวจรักษา อุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยได้ด้วย ทีมเทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก tech agency PHA Media ซึ่งทำโครงการ ‘bionic doctor’ ได้กล่าวถึง gadget บางตัว เช่น ‘Dario’ เครื่องวัดระดับน้ำตาลแสนฉลาด, Tricella Pillbox กล่องใส่ยาที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เพื่อส่งสัญญาณ และข้อความเตือนเมื่อมีการลืมกินยา, Pancreum Genesis อุปกรณ์สวมใส่เพื่อช่วยควบคุมการทำงานของตับอ่อน และ Lechal รองเท้าอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน และนำทางผู้สวมใส่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการทางสายตา ให้สามารถไปในที่ที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ IoT แถวหน้าในยุคของ digital health
อีกหนึ่งตัวอย่าง เป็นอุปกรณ์ผ่าตัดออนไลน์ ที่มีชื่อว่า Chimaera เครื่องมือผ่าตัดที่มีเซ็นเซอร์ สามารถสร้างภาพของบริเวณที่กำลังถูกผ่าตัดเป็นภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ ทำให้ศัลยแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้นทั้งการผ่าตัดพื้นที่เป้าหมาย และหลีกเลี่ยงเส้นประสาทหรือหลอดเลือดที่สำคัญ โดยทำตาม ‘safe route’ ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ภาพหน้าจอที่เป็นภาพแบบเรียลไทม์จาก Chimaera จะเป็นภาพทับซ้อนกับภาพจากการวางแผนการผ่าตัด ดังนั้น จึงทำให้ศัลยแพทย์รู้ตำแหน่งที่แม่นยำในการผ่าตัด
IoT กับการนำ gadgets ด้านสุขภาพมาสู่บ้าน
การดูแลสุขภาพแบบ DIY (Do it yourself) ต่อไปจะไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก แต่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศที่มีประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ที่แรกเริ่มเป็นการตรวจติดตามความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายผ่านสายรัดข้อมืออัจฉริยะ จะกลายเป็น gadgets ที่จะตรวจติดตามสุขภาพเพื่อการป้องกันโรค ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
ตัวอย่างหนึ่งของแนวคิดการวินิจฉัยสุขภาพด้วยระบบ IoT จากอุปกรณ์ภายในบ้าน เรียกว่า Flow Health Hub อุปกรณ์ข้างตัว ที่สามารถเก็บตัวอย่างและวัดระดับคลอเลสเตอรอล, ระดับน้ำตาลในเลือด และความดันได้อย่างรวดเร็ว และสามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังแพทย์ประจำตัวของผู้ป่วยหากเกิดความผิดปกติที่ต้องการการรักษา
จากงานวิจัยของ Arqiva and YouGov ในเดือนพฤษภาคม 2015 พบว่า 72% ของชาวอังกฤษเชื่อว่าเทคโนโลยีในการตรวจติดตามสุขภาพที่ใช้ในบ้านจะสามารถลดความกดดันของผู้ป่วยได้ โดย 91% กล่าวว่าพวกเขาจะเตรียมตัวเพื่อรับการตรวจติดตามสุขภาพพื้นฐานที่เป็นเรื่องสำคัญๆ เช่น ความดันโลหิต (72%) อัตราการเต้นของหัวใจ (65%) และน้ำหนัก (88%) ซึ่งสามารถทำได้ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่บ้าน
การพัฒนาของอุปกรณ์สวมใส่เพื่อตรวจวัดสุขภาพ
ภายในปี 2020 อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ จะสามารถตวจวัดปริมาณน้ำในร่างกาย และช่วยได้แม้กระทั่งในเรื่องปัญหาความอ้วน การคำนวนปริมาณน้ำในร่างกาย และติดตามข้อมูลด้านโภชนาการอย่างละเอียด จะกลายเป็นบทบาทที่สำคัญของ IoT sensor ในอนาคต มีการคาดการณ์ถึงการออกแบบเซ็นเซอร์ในลักษณะที่เป็นแผ่นพลาสเตอร์แบบง่ายๆ ติดที่บริเวณหน้าอก ซึ่งจะวัดระดับปริมาณน้ำในร่างกาย ด้วยการอ่านค่าการเต้นของหัวใจ ความชื้นในร่างกาย ความดัน และอุณหภูมิในร่างกาย ความอ้วนก็สามารถจัดการได้ด้วยเซ็นเซอร์นี้เช่นกัน เซ็นเซอรที่ติดอยู่กับตัวผู้ป่วยจะสามารถติดตามพฤติกรรมการกิน สิ่งที่กินเปรียบเทียบกับอารมณ์ในแต่ละวัน และจะถูกบันทึกไว้ผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้ NHS (National Healthcare Service ระบบการดูแลสุขภาพ ในฐานะพลเมืองของสหราชอาณาจักร) มาทำการติดตามเปรียบเทียบ และนำไปสู่การแก้ปัญหาการบริโภคเกินความต้องการของผู้คน
อุปกรณ์เซ็นเซอร์ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุปกรณ์แบบ ‘Telecare’ ยกตัวอย่างอุปกรณ์พกพาที่เรียกว่า The CareClip ซึ่งทำงานภายใต้ระบบอนาล็อก ซึ่งจะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อผู้สวมใส่อยู่ในบ้าน แต่เมื่อมีการเพิ่มซิมการ์ด และต่อเชื่อมกับ network ของโทรศัพท์ อุปกรณ์ก็จะสามารถส่งข้อมูลจากเครื่องไปยังแพทย์ได้ทันทีไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ที่ใด
บทบาทของ IoT sensors ในบ้าน
ในงานวิจัยของ Trustmarque and YouGov ในเดือนมิถุนายน 81% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวอังกฤษ กล่าวว่าพวกเขาอยากจะให้มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในด้านสุขภาพมากขึ้น ครึ่งหนึ่งให้ความสำคัญกับความสามารถในการตรวจติดตามสุขภาพของผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเป็นที่มาของการใช้เซ็นเซอร์
ทีม R&D ของ Nominet หน่วยงานที่ดูแลในด้านการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประเทศอังกฤษ ได้พัฒนา PIPS ปุ่มกลมๆ ที่มีไฟสว่างสำหรับไกด์ผู้ป่วยที่เสียความทรงจำให้สามารถทำกิจกรรมประจำวันของพวกเขาตามลำดับที่ต้องทำในแต่ละวันได้ โดย PIPS จะทำงานผ่าน app ของสมาร์ทโฟน เพื่อเตือนให้ผู้ดูแลผู้ป่วยทราบหากผู้ป่วยหลงลืมกิจกรรมประจำวันใดๆ ไป
การบูรณาการเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันจะช่วยผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมโดยช่วยในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ โดยไม่ก่อให้เกิดความกังวล หรือความหวาดกลัว การต่อเชื่อมกันของสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นกาต้มน้ำ หรือโทรทัศน์ จะช่วยให้ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีความผ่อนคลายในการใช้ชีวิต ในขณะเดียวกันข้อมูลของผู้ป่วยก็จะถูกบันทึกเอาไว้ด้วย และแนวคิดเดียวกันนี้ สามารถนำไปใช้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยชีวิต หรืออุปกรณ์ช่วยหายใจ
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตลาดของเซ็นเซอร์ในอุปกรณ์ด้านการดูแลสุขภาพจะมีมูลค่าถึง 47.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 31 พันล้านปอด์น) ในปี 2020
การเข้าถึงข้อมูล และข้อจำกัดของ IoT
ในขณะที่ IoT มีการพัฒนา อุปกรณ์และข้อมูลต่างๆ ก็มีการบูรณาการกันมากขึ้น เราจึงได้เห็นแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์มีขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยผ่านช่องทางต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างเช่น การติดตามตรวจสอบการตอบสนองของผู้ป่วยเพื่อการรักษาผ่านอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ หรือการที่สามารถเข้าถึง และส่งต่อผลการทดสอบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แทนที่การรอคอยผลทดสอบที่ต้องผ่านกระบวนการที่ใช้เวลานานจากห้องแล็ป
อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยตรงกับผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ IoT มุ่งมั่นจะไปให้ถึงนั้น ยังต้องการข้อมูลความรู้อีกมากมายในเรื่องระบบการทำงานของร่างการมนุษย์ และการออกแบบ algorithms (กระบวนการหรือชุดของกฎที่จะใช้ในการคำนวณหรือการดำเนินการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคอมพิวเตอร์) ที่มีความซับซ้อน ที่จะเข้าไปค้นหาข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยเพื่อให้เจอข้อบกพร่องทางพันธุกรรม ซึ่งหากทำได้สำเร็จ IoT จะมีบทบาทที่สำคัญในการวินิจฉัย และรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งได้ ในอนาคต
ที่มา: http://www.techradar.com/news/world-of-tech/future-tech/how-the-internet-of-things-will-revolutionise-medicine-1303066/1