Productivity เครื่องมือที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพในอุตสาหกรรมการผลิต เช่นเดียวกับเครือเบทาโกรซึ่งความสำเร็จทางธุรกิจที่เกิดขึ้น Productivity มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อผู้บริหารมีนโยบายในการทำ CSR ที่จะร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการทำงานกับเกษตรกรในชุมชน จึงได้นำเอาองค์ความรู้เรื่อง Productivity มาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรกรรม และจากการเรียนรู้ในการทำงานชุมชนอย่างต่อเนื่อง Productivity ก็ถูกนำมาใช้กับวิถีชุมชนในทุกๆ ด้านอย่างเป็นองค์รวม
ด้วยการถ่ายทอดกระบวนการคิด ที่เชื่อว่า “ทุกอย่างสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้” ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดต้นแบบงานพัฒนาสามารถนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล
CSR ของเบทาโกร
เครือเบทาโกร ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ จัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจร ประกอบไปด้วย สายธุรกิจอาหารสัตว์ สายธุรกิจไก่ สายธุรกิจสุกร สายธุรกิจอาหาร สายธุรกิจสุขภาพสัตว์ และสายธุรกิจอื่นๆ เช่น โฮลดิ้ง และรีสอร์ต เป็นต้น การดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย ภายใต้แนวคิด “เพื่อคุณภาพชีวิต” เบทาโกรเติบโตและได้ขยายฐานการผลิตเต็มรูปแบบไปยังจังหวัดลพบุรี กลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาของการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจร ประกอบด้วย โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มไก่ ฟาร์มสุกร โรงฟักไข่ โรงงานแปรรูปและตัดแต่งเนื้อสุกรอนามัย และโรงงานผลิตอาหารปรุงสุกแช่แข็งจากเนื้อสุกรอนามัยและเนื้อสุกรเอสพีเอฟ เป็นต้น ผู้บริหารเบทาโกรมีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจ ด้วยการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังคำกล่าวของคุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 48 ปี เครือเบทาโกร เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความมีคุณธรรม โดยมิได้มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว เบทาโกรเชื่อมั่นว่า การที่เราจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้นเราจะต้องดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการคำนึงถึงและสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปเสมอ” จึงได้เริ่มต้นทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, CSR) ด้วยการทำงานชุมชนร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ในปี 2550-2554 ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งสำนักกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Contribution – CSC) ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงานด้านการพัฒนาชุมชนโดยเฉพาะ ลงพื้นที่ทำงานเต็มเวลา และรายงานการทำงานขึ้นตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีโครงสร้างทีมประกอบด้วยผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ผู้ชำนาญการ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และพนักงานประจำพื้นที่ (คนในพื้นที่) จำนวนทั้งหมด 29 คน โดยพื้นที่จังหวัดลพบุรีมีทีมงานดูแลจำนวน 12 คน (ข้อมูล ณ ปี 2558) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของผู้บริหารในการให้ความสำคัญกับโครงการนี้
นำ Productivity สู่วิถีชุมชน
เบทาโกรดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จด้วยแนวคิด Productivity ที่เชื่อว่า “ทุกอย่างปรับปรุงให้ดีขึ้นได้” เนื่องจากความรู้ด้าน Productivity เป็นพื้นฐานการพัฒนาองค์กร ทำให้บุคลากรเบทาโกรมีการดำเนินกิจกรรมปรับปรุงงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม Kaizen ที่เกิดการปรับปรุงงานทีละเล็กละน้อย ตามแนวทางวงจรคุณภาพ PDCA (Plan Do Check Act) คือ พนักงานต้องวางแผน P(Plan) ศึกษาปัญหาที่ต้องการปรับปรุงก่อน จากนั้นเมื่อทราบปัญหาที่ต้องการปรับปรุงแล้วจึงการลงมือปฏิบัติ D(Do) ตามแผนที่วางไว้ หลังจากนั้นจึงดำเนินการตรวจสอบติดตามผล C(Check) จากวิธีการใหม่เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับวิธีการเดิม เมื่อเห็นแล้วว่าผลลัพธ์ของวิธีการใหม่บรรลุตามเป้าหมายจึงสร้างเป็นมาตรฐานการทำงานขึ้น แต่หากผลลัพธ์ไม่บรรลุตามเป้าหมายต้องดำเนินการปรับปรุงต่อไป A(Act) ด้วยการวนกลับไปวางแผนใหม่เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงงานตามวัฏจักร PDCA จึงทำให้งานเกิดการพัฒนาต่อเนื่อง และเมื่อคนในองค์กรเห็นประโยชน์ของกิจกรรมปรับปรุงงานแล้ว ผู้บริหารได้นำการบริหารผลิตภาพโดยรวม หรือ Total Productivity Management (TPm) เข้ามาต่อยอด จนทำให้องค์กรประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูง คุณวนัสเชื่อว่าหากแนวคิด Productivity สามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ย่อมทำให้การพัฒนาชุมชนด้วยแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เบทาโกรพยายามเชื่อมโยงความรู้เหล่านี้มาช่วยเหลือชุมชน และ จากการที่ทำไปเรียนรู้ไป จากเรื่องอาชีพ ไปสู่เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมบนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ในการพัฒนาชุมชนที่นำไปขยายผลได้อีกหลายพื้นที่
การพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม
เบทาโกรเริ่มทำงานกับชุมชนด้วยการกำหนดพื้นที่ เรียกว่า “Area based development” เพื่อให้มีความชัดเจนในการศึกษาข้อมูล ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข เช่น จำนวนประชากร จำนวนผู้สูงอายุ ลักษณะภูมิประเทศ ปริมาณแหล่งน้ำ รวมถึงอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของคนในพื้นที่ ซึ่งตำบลช่องสาริกา จำนวน 13 หมู่บ้าน ใน อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่แรกที่เบทาโกรเลือก ด้วยความคิดว่าเป็นพื้นที่ที่สะดวกในการนำทรัพยากรขององค์กรมาช่วยเหลือชุมชนได้ เพราะมีบริษัทในเครือเบทาโกรอยู่หลายบริษัท มีความเหมาะสมของพื้นที่ที่อยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับบริษัท การทำงานของทีมงาน มีกระบวนการคิดและทำอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูล สร้างความคุ้นเคยกับชุมชน พร้อมกับวิเคราะห์และทำความเข้าใจปัญหา จนเกิดการเรียนรู้ว่าการช่วยเหลือชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ไม่สามารถทำเพียงเรื่องเดียวหรือด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่ต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน ทั้งด้านอาชีพ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม บนพื้นฐานความรู้ควบคู่กับการทำงานอย่างมีคุณธรรม ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ช่องสาริกากว่า 80% มีอาชีพเกษตรกร เพาะปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และโคนมเป็นหลัก แม้ทีมงานจะเข้ามาช่วยปรับปรุงและพัฒนาการทำอาชีพหลัก แต่ก็พบว่าถ้ามีปัญหาสุขภาพก็ไม่สามารถทำงานได้ หรือมีปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านดิน แหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก การพัฒนาอาชีพหลักเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทีมงานจึงต้องทำให้ชุมชนสนใจปัญหาในทุกๆ ด้าน เกิดเป็น ‘การพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม หรือ Holistic Area Based Community Development’ ซึ่งทำให้ทีมงานถอดบทเรียนองค์ความรู้พื้นที่ช่องสาริกา เป็นต้นแบบขยายงานพัฒนาสู่พื้นที่อื่นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น เรียกว่า “ช่องสาริกาโมเดล”
พื้นที่ตำบลช่องสาริกา (Area Based) รูปแบบความคิดการพัฒนาแบบองค์รวม
สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของเบทาโกรมี 3 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือ
- เจ้าภาพ (Ownership) คือ ทีมงานที่มีทัศนคติ (Mindset) ที่ดีและอยาก มีความรู้สึกเป็นเจ้าของในงานพัฒนา โดยการดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบทุกคนมีส่วนร่วม เช่น ความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นักวิชาการ รวมถึงชาวบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือแบบร่วมกันคิดร่วมกันทำ
- ความรู้และวิทยาการ (Knowledge) เป็นบทบาทจากหน่วยงานที่มีความรู้เฉพาะทางหรือปราชญ์ชาวบ้านที่มาช่วยพัฒนาชุมชน เช่น เรื่องดิน ปุ๋ย การเพาะปลูก ศัตรูพืช การตรวจสอบคุณภาพน้ำ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือเรื่องสุขภาพ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น เพื่อมาเติมเต็มความรู้ที่ยังขาดอยู่และนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องนั้นต่อไป
- ผู้สนับสนุน (Sponsor) มีบทบาทในการประสานงานความร่วมมือต่างๆ หากกิจกรรมติดปัญหาก็จะเป็นผู้สนับสนุน และผลักดันให้กิจกรรมต่างๆดำเนินต่อไปได้
กลยุทธ์ขับเคลื่อนการพัฒนา
จากการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้เบทาโกรได้ขั้นตอนการปฏิบัติงาน 7 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมทีมงานของเบทาโกร ให้มีความเข้าใจ และมองเป้าหมายหรือภาพสุดท้ายที่อยากให้ชุมชนเป็น โดยไม่ลงรายละเอียดของกิจกรรม แต่สร้างความเข้าใจทีมงานให้เห็นภาพรวมร่วมกันว่าอยากทำอะไรให้ชุมชนเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี แล้วจึงเริ่มวางแผนงานกิจกรรมย่อยในขั้นตอนถัดไป ด้วยการเตรียมทีมงานนี้ทำให้ทีมมองเห็นภาพรวมที่ชัดเจน
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างความสนิทสนม เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนโดยผ่านกิจกรรมชุมชน เช่น ธนาคารชุมชน ทำให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างทีมงานกับชาวบ้าน และ ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน ที่ช่วยสร้างการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เกิดกิจกรรมต่างๆตามมา นอกจากนี้ การสร้างความสนิทสนมยังทำให้เกิดความไว้ใจ เปิดใจ และอยากทำงานพัฒนาร่วมกัน สังเกตจากปัญหาเชิงลึกบางเรื่องที่ไม่สามารถทราบได้จากการทำแบบสำรวจ นอกจากนั้นจากการทำกิจกรรมร่วมกันทีมงานยังสามารถสอดแทรกการทำงานอย่างมีระบบ ชวนให้คิดให้ทำอย่างสร้างสรรค์
ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์และทำความเข้าใจปัญหา เป็นการวิเคราะห์เชิงระบบเพื่อทำความเข้าใจปัญหาด้วยการมองภาพรวมปัญหาจากข้อเท็จจริง แล้วนำมาวิเคราะห์หากระบวนการในการพัฒนาโดยใช้หลักวิชาการประกอบ เช่น การวิเคราะห์ปัญหาผลผลิตในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ด้วยการศึกษาขั้นตอนการเพาะปลูกเดิมเปรียบเทียบวิธีการเพาะปลูกตามหลักวิชาการว่าขั้นตอนใดทำถูกต้องแล้วหรือขั้นตอนใดควรปรับปรุง รวมถึงการวิเคราะห์ธาตุในดินว่ามีสารใดอยู่บ้าง จากนั้นจึงค่อยเติมธาตุที่จำเป็นเข้าไป เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 วางแผนโดยจัดการขั้นพื้นฐาน เป็นการลงรายละเอียดกิจกรรมย่อยต่างๆลงในแผนเพื่อปรับปรุงงาน ด้วยการปรับปรุงไปทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังของแต่ละราย
ขั้นตอนที่ 5 การลงมือปฏิบัติ ตามแผนกิจกรรมที่วางไว้ พร้อมให้แนวทางปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามหลักการ PDCA โดยดึงความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น มหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในด้านองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ในขณะที่ชาวบ้านกำลังปรับปรุงงาน
ขั้นตอนที่ 6 การขยายผลในพื้นที่ เบทาโกรมีเป้าหมายขยายผลในพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 80 ทั้งในด้านปริมาณ (จำนวนครัวเรือน จำนวนเกษตรกร) และด้านคุณภาพ (ผลผลิตต่อไร่ กำไรครัวเรือน) เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบที่สร้างผลกระทบผลเชิงบวก (Impact) ต่อชุมชน และสามารถถอดบทเรียนนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นได้ ช่วยลดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่อื่นให้สั้นลง ใช้ทรัพยากรคนน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพงานให้มากขึ้น ตามแนวคิด Productivity
ขั้นตอนที่ 7 ขยายงานผ่าน Betagro Network คือ การนำเอาบทเรียนจากช่องสาริกาโมเดลไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มูลนิธิปิดทองหลังพระ และสถาบันการศึกษา เป็นต้น
แผนผังแสดงขั้นตอนการพัฒนาชุมชนตามแบบช่องสาริกาโมเดล
ช่องสาริกาโมเดล
จาก 7 ขั้นตอนการพัฒนาที่ทีมงาน CSC ได้เรียนรู้ ทำให้เกิดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย ด้านอาชีพ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยอยู่บนพื้นฐานด้านความรู้คู่คุณธรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- กิจกรรมพัฒนาอาชีพ
ร้อยละ 80 ของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลช่องสาริกามีอาชีพหลักในการทำเกษตรกรรม โดยมีพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ดังนั้น การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เบทาโกรจึงมุ่งพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยใช้แนวคิดการปรับปรุงงาน หรือในที่นี้คือ การปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกให้ดีขึ้น ด้วยวิธีการศึกษาข้อมูลด้านการเงิน เพื่อให้เข้าใจวงจรรายได้ของเกษตรกรก่อน เช่น
การศึกษาข้อมูลระบบการเงินของคุณจันทอน โพธิ์ทองดี (ประธานเครือข่ายธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน ) และข้อมูลเกษตรกร (หมู่ 9) จำนวน 7 ราย ทราบว่า เกษตรกรมีการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนทั้งในและนอกระบบ เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ ใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นเงินทุนฉุกเฉินอื่นๆ เนื่องจากรายได้จากการเพาะปลูกจะได้รับเพียง 1 ครั้ง/ 6 เดือนเท่านั้น
แผนผังแสดงวงจรการเงินของคุณจันทอน โพธิ์ทองดี และข้อมูลเกษตรกร (หมู่ 9) จำนวน 7 ราย
จากวงจรการเงินทำให้พบแนวทางการแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง คือ 1.1) การพัฒนาอาชีพหลัก ช่วยในการลดต้นทุนเพาะปลูกและพัฒนาผลผลิต 1.2) สร้างอาชีพเสริม ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายครัวเรือน และ 1.3) จัดตั้งธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อการจัดการระบบเงินในชุมชน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.1) การพัฒนาอาชีพหลัก และ 1.2) อาชีพเสริม จากกรณีศึกษาของ
เกษตรกรรุ่นที่ 1 คุณปกรณ์ เกตุพันธ์ และเกษตรกรรุ่นที่ 2 คุณสุดใจ คชประดิษฐ์ เกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลัง ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพหลักกับเบทาโกร เดิมเคยประสบปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูก ผลผลิตตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอจุนเจือค่าใช้จ่ายครัวเรือน หรือหากช่วงใดฝนดี มักประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เมื่อเบทาโกรเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาดังกล่าว ด้วยการพาไปดูงานเกษตรกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้เกษตรกรมีความสนใจและสามารถนำความรู้กลับมาประยุกต์ใช้กับแปลงเพาะปลูกของตนเอง โดยทีมงานเข้าไปช่วยศึกษาและบันทึกขั้นตอนการเพาะปลูกแบบเดิมที่เกษตรกรทำอยู่ ตรวจสอบว่าขั้นตอนใดปฏิบัติถูกต้องแล้ว และขั้นตอนใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุง จึงค่อยๆแนะนำให้เกษตรกรแก้ไข จากนั้นให้เกษตรกรไปศึกษาดูงานวิธีการปลูกตามหลักวิชาการ ทั้งเรื่องการเตรียมดิน การเลือกและเตรียมพันธุ์ที่เหมาะสมกับดิน การใส่ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนระบบการให้น้ำวิธีใหม่ (ระบบน้ำหยด) ซึ่งทำให้พืชได้รับน้ำเพียงพอ ได้ผลผลิตดี และไม่ต้องออกแรงแบกท่อหน้ากว้าง 4 นิ้ว ยาว 7 เมตร เดินทั่วแปลงเพื่อให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์แบบวิธีเดิม อีกทั้งเกษตรกรยังได้รับคำแนะนำให้แบ่งพื้นที่ปลูกพืชเสริม เช่น มะเขือ กล้วย และกระเพรา เพื่อให้มีรายได้ทุกวันระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นพืชหลัก
แปลงปลูกมันสำปะหลังของคุณสุดใจ คชประดิษฐ์ พื้นที่ที่แบ่งมาปลูกพืชเสริม
พื้นที่ปลูกพืชเสริม
จากการประเมินผลการปรับปรุงการทำอาชีพหลักของพืชทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว พบว่า ถ้าเกษตรกรร้อยละ 80 ของพื้นที่นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้มีกำไรส่วนเพิ่มต่อปีทั้งตำบลช่องสาริกาประมาณ 53.9 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายการขยายผลของการพัฒนาอาชีพหลักไปสู่เกษตรกรที่เบทาโกรตั้งไว้คือร้อยละ 80 ปัจจุบันปี 2558 นี้มีเกษตรกรนำการพัฒนานี้ไปประยุกต์ใช้แล้วประมาณร้อยละ 60 จากเกษตรกรทั้งหมด นอกจากนี้ทีมงานตั้งเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตของพืชทั้ง 4 ชนิด คือข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ต้องให้ได้ผลผลิต 2,500 13,000 22,590 และ 1,162 กก./ไร่ ตามลำดับ ปัจจุบันเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้ 2,300 10,000 19,220 และ 1,140 กก./ไร่ ตามลำดับ ถ้าเทียบกับก่อนปรับปรุงได้เพียง 1,798 4,465 10,600 และ 686 กก./ไร่ ตามลำดับ ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.92 123.96 81.32 และ 66.18 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอาชีพเสริมของหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 9 ตำบลช่องสาริกา นำโดยผู้ใหญ่บ้านสมบัติ ท้าวสาบุตร ที่ได้เชิญชวนชาวบ้านทำวิสาหกิจชุมชน เช่น กลุ่มผู้ปลูกต้นจันผา ซึ่งเป็นไม้เฉพาะถิ่นมีขึ้นเฉพาะภูเขาหินปูนเท่านั้น ที่เขาเอราวัณ ต้นจันผาเป็นพืชอนุรักษ์และมีราคาดี หมู่บ้านจึงตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านสามารถปลูกเพื่อจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ระยะหลังความนิยมต้นจันผาลดลง รายได้จึงลดลงตามไปด้วย ทีมงานจึงเข้าไปสนับสนุนในการปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ปลูกพืชผักสวนครัวสลับกับแปลงข้าวโพด ทำโครงการผักปลอดสารพิษ เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ไว้ใช้จ่ายระหว่างรอรายได้จากการประกอบอาชีพหลัก สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ต้นจันผา
การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
แปลงปลูกข้าวโพดสลับกับพืชสวนครัว
1.3) จัดตั้งธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อการจัดการระบบเงินในชุมชน กรณีศึกษากลุ่มธนาคารพัฒนาหมู่บ้านถ้ำบ่อทอง หมู่ที่ 13 ตำบลช่องสาริกา ก่อตั้งขึ้นด้วย 2 วัตถุประสงค์หลัก หนึ่งคือ เป็นจุดเตรียมคนในชุมชนให้มารวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน เป็นเวทีที่ให้ทุกคนร่วมพบปะพูดคุย แสดงความคิดเห็น และรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เป็นพื้นที่ศูนย์รวมเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต วัตถุประสงค์ที่สอง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ชุมชนมีเงินทุนสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากการประกอบอาชีพหลักอย่างเพียงพอโดยไม่กู้เงินนอกระบบ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเริ่มแรกเบทาโกรให้ชาวบ้านรวมเงินกันให้ได้ 50,000 บาท และเบทาโกรสนับสนุน 50,000 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านอยากออมเงินและเกิดธนาคารหมูบ้านขึ้น เป็นผลทำให้ทั้ง 13 หมู่บ้าน มีธนาคารเป็นของตนเอง โดยธนาคารมีกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมรณรงค์สมาชิกทำบัญชีครัวเรือนเพื่อแลกไข่ ด้วยการทำบัญชีครัวเรือน 1 เดือน รับไข่ 1 ฟอง ทำบัญชีครัวเรือน 2 เดือน รับไข่ 2 ฟอง และทำบัญชีครัวเรือนต่อเนื่อง 15 เดือน รับไข่ 15 ฟอง เป็นต้น เป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนสนใจทำบัญชีครัวเรือน อีกทั้งปลูกฝังให้ตระหนักถึงรายรับรายจ่ายครัวเรือนและการใช้จ่ายแบบพอเพียงด้วย กิจกรรมประชุมใหญ่สามัญประจำปี เป็นเวทีให้ชาวบ้านมาฟังผลประกอบการของธนาคาร เงินปันผล และที่สำคัญเป็นเวทีใหญ่ในการร่วมคิดกิจกรรมของชุมชน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชนขึ้น เช่น กิจกรรมกีฬาสีชุมชน เป็นต้น
ธนาคารพัฒนาหมู่บ้านถ้ำบ่อทอง หมู่ที่ 13
กิจกรรมบัญชีครัวเรือนแลกไข่
- กิจกรรมด้านสุขภาพ
การพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้ ต้องอาศัยปัจจัยด้านสุขภาพที่ดีเพื่อประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ จึงร่วมพัฒนาใน 3 ส่วน ประกอบด้วย
1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตจากข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิการ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงด้วย มีการสร้างความร่วมมือระหว่างทีมงาน Kaizen ของเบทาโกร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลช่องสาริกา และวิทยาลัยการอาชีพโคกสำโรง สร้างนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง อาทิเช่น โต๊ะทานข้าวเคลื่อนที่ เตียงนอนปรับระดับ และอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนที่ เป็นต้น
นวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
2) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร (อสม.) ด้วยการพัฒนาแนวคิดด้าน Productivity ให้กับบุคลากร อสม. และพัฒนาทักษะการจัดการขั้นพื้นฐาน Basic Management
3) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เป็นการนำความรู้พื้นฐานด้าน Productivity มาช่วยปรับปรุง Layout และแผนผังการเดินรับบริการของผู้ป่วย OPD และคลังยาให้สั้นลง ลดระยะเวลาการเดิน ทำให้ลดเวลาการรับบริการลงด้วย มีการปรับปรุงแสงสว่างของโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับการใช้งาน มีใช้ Visual Control ช่วยจัดระบบการมองเห็นในคลังยา และการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการเพื่อการปรับปรุงวิธีการให้บริการให้ดีขึ้น ณ โรงพยาบาล พัฒนานิคม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลช่องสาริกา
การปรับปรุง Layout โซน OPD
- กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ทีมงาน CSC เข้ามามีบทบาทในการดึงความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันคิด แก้ไขปัญหา ร่วมดูแลรักษาและใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาและดูแลด้านดิน น้ำ ป่าไม้/สัตว์ป่า และขยะ/มลพิษทางอากาศ
ตัวอย่างการศึกษามิติน้ำ ทีมงานสำรวจแหล่งทรัพยากรน้ำ พบน้ำผิวดิน จำนวน 2 คลอง (คลองห้วยส้ม และคลองซับตะเคียน) และน้ำใต้ดิน จำนวน 68 บ่อ จึงทำแผนพัฒนาคลองซับตะเคียนขึ้นในปี 2558 แบ่งการจัดการคุณภาพน้ำเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ต้นน้ำ (แหล่งกำเนิดน้ำ ทั้งน้ำดีและน้ำเสีย) กลางน้ำ (บริเวณที่มีน้ำไหลผ่าน) และปลายน้ำ (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการใช้น้ำ) โดยในส่วนของต้นน้ำที่เป็นโรงงานเครือเบทาโกรได้ดำเนินการลดความสกปรกที่จะส่งไปบำบัดที่ระบบำบัดให้ต่ำที่สุด โดยเฉพาะไขมันที่ละลายน้ำ และเก็บข้อมูลน้ำแบบเชิงลึก ตั้งแต่โรงงาน จนถึงปลายน้ำ เพื่อหาสาเหตุของน้ำเสียแล้วนำมากำหนดแนวทางการพัฒนาคลองซับตะเคียน ต่อมาในระยะกลางน้ำ ดำเนินการพัฒนาแหล่งต้นน้ำคลองซับตะเคียน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตรวจสอบ และดูแลแหล่งน้ำ เช่น การขุดลอกคลอง การทำความสะอาดฝาย เป็นต้น เป็นการสร้างความเชื่อใจกันระหว่างโรงงานกับชุมชน และสุดท้ายระยะปลายน้ำ มีกระบวนการติดตามการนำไปใช้และการจัดการความรู้เรื่องคุณภาพน้ำให้กับนักเรียนในชุมชน เพื่อเป็นตัวแทนในการตรวจเช็คคุณภาพน้ำในคลองต่อไป
และอีกหนึ่งโมเดลในส่วนของการจัดการน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรที่หมู่ 9 มีกระบวนการดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : เบทาโกรร่วมมือกับนักวิทยาศาตร์กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ศึกษา Supply ของแหล่งน้ำใต้ดิน
ขั้นตอนที่ 2 : ศึกษาความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรด้วยความร่วมมือจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี
ขั้นตอนที่ 3 : ทีมงานเบทาโกรตั้งกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และร่วมดำเนินการจัดการ เพื่อคำนวณปริมาณน้ำสำหรับการเพาะปลูกให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
- กิจกรรมด้านสังคม
แนวคิดในการพัฒนาสังคมของเบทาโกร คือ การพัฒนาชุมชนให้จัดการตัวเองได้ สามารถดำเนินงานพัฒนาของชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง เกิดผลลัพธ์และความยั่งยืนกับพื้นที่ โดยผ่านกลไกที่เป็นตัวกลาง (Organizer) ของชุมชน เช่น สหกรณ์หรือบริษัทชุมชน ที่สามารถประสานรับการพัฒนาจากหน่วยงานภายนอกได้ โดยบริหารงานจากคนในชุมชนที่ได้รับการพัฒนามาจากกลุ่มธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน ด้วยความต้องการให้บริษัทชุมชนมีคุณลักษณะองค์กรเป็นแบบ Hybrid คือ เป็นลูกผสมระหว่างสหกรณ์ ที่มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ และการเป็นบริษัท ที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัว สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีกำไรปันผลให้สมาชิก และบริหารเงินส่วนกำไรแบ่งไปพัฒนาชุมชน ได้ตรงตามความต้องการของชุมชน โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาร่วมในบทบาทของการพัฒนาชุมชนจากการจัดสรรผลกำไร และบริษัทชุมชนเป็นผู้กำกับติดตามการใช้งบประมาณ
โดยเบทาโกรวาง Road map การพัฒนาบริษัทชุมชน ดังนี้คือ ในปี 2550 ธนาคารพัฒนาหมู่บ้านเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นจุดรวมกลุ่มของคนในชุมชนและเพื่อปลูกจิตสำนึกการออมให้กับชาวบ้านด้วยการเป็นแหล่งเงินทุนในชุมชนแทนการกู้เงินนอกระบบ ในปี 2557 เบทาโกรพัฒนาธนาคารพัฒนาหมู่บ้านให้มีความน่าเชื่อถือ ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ มีการทบทวนกฏระเบียบ ข้อบังคับ และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ธนาคาร ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร (เป็นการพัฒนาผู้นำขึ้นมาจากธนาคารพัฒนาหมู่บ้านให้ทำหน้าที่บริหารงานในบริษัทชุมชน และพัฒนาคนในชุมชนให้ทำหน้าที่แทนทีมงาน CSC ในอนาคต) วางระบบการบริหารงาน ระบบการตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง และการสร้างระบบเครือข่ายในชุมชน เป็นพื้นฐานให้ในปี 2558 นี้ เบทาโกรสนับสนุนให้ชุมชนระดมทุนจากสมาชิก เพื่อสร้างธุรกรรมทางการเงิน และจดทะเบียนนิติบุคคลในรูปของบริษัทชุมชน ร่วมกับองค์กรภายนอก เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เพื่อเป็นธุรกิจชุมชน (Trading) สำหรับซื้อขายผลผลิตการเกษตร และปัจจัยการประกอบอาชีพให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง มีสวัสดิการของชุมชน และนำกำไรกลับมาพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างรูปแบบแนวคิดบริษัทชุมชนช่องสาริกา (การซื้อขายมะนาว) ดังนี้
รูปแบบแนวคิดบริษัทชุมชนช่องสาริกา
บริษัทช่องสาริกาจะรับซื้อมะนาวลูกละ 2 บาท จากเกษตรกรช่องสาริกา และนำไปขายให้กับผู้บริโภคช่องสาริกาในราคาลูกละ 5 บาท (ด้วยกลไกราคาซื้อ-ขายปกติ) บริษัทได้กำไร 3 บาท แบ่งไปจ่ายค่าบริหารงานหนึ่งส่วน ปันผลคืนให้กับเกษตรกรและผู้บริโภคช่องสาริกาหนึ่งส่วน และส่วนสุดท้ายนำไปพัฒนาชุมชน โดยมีมหาวิทยาลัยให้ความรู้ทางวิชาการ และองค์กรภายนอกเป็นผู้ร่วมลงทุนที่สามารถตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทได้ โดยประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับ คือ
- เกษตรกรช่องสาริกา จะได้รับเงินมากขึ้นจากการปันผล ได้รับความรู้ในการผลิต ช่วยลดความเสี่ยงจากตลาดการซื้อ-ขายแบบเดิม และมีส่วนในการช่วยเหลือสังคม
- ผู้บริโภคช่องสาริกา จะได้รับสินค้าสดใหม่ มีคุณภาพ และปลอดภัย ได้รับเงินคืนจากการปันผล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและความเสี่ยงจากการไปซื้อที่ตลาดเดิม (ตลาดสระบุรี) ได้รับความรู้ในการบริโภค และมีส่วนในการช่วยเหลือสังคม
- มหาวิทยาลัย/องค์กร จะได้รับเงินปันผลจากการร่วมทุน เป็น CSR ให้กับองค์กร และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
- บริษัทช่องสาริกา ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นกลไกหลักในการพัฒนาช่วยเหลือชุมชนอย่างมี Impact และยั่งยืน
จากการพัฒนากิจกรรมทั้ง 4 ด้าน เบทาโกรต้องการเก็บองค์ความรู้ไว้กับชุมชนเพื่อเป็นพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม โดยผ่านโรงเรียนในชุมชนด้วยการพัฒนาโรงเรียนให้มีการเรียนการสอนอย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนานักเรียนในชุมชนให้สามารถต่อยอดองค์ความรู้และนำกลับมาช่วยเหลือชุมชนตนเองได้ เบทาโกรสร้างกิจกรรม 1 โรงเรียน 1 โรงงาน คือ จัดให้ 1 โรงงาน ในเครือเบทาโกร ดูแลช่วยเหลือพัฒนาโรงเรียนในตำบลช่องสาริกา 1 โรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานหลัก และผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการสถานศึกษา มีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนให้ทำหน้าที่การเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาโรงเรียนทั้งสามด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านสุขาภิบาลอนามัย/สิ่งแวดล้อม และด้านชุมชนสัมพันธ์ ดังนี้
- ด้านวิชาการ จัดตั้งโครงการต่างๆเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนในกลุ่ม 8 สาระวิชา โดยเริ่มจากการพัฒนากลุ่มสาระวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นต้นแบบ อาทิ
- โครงการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษ
- กิจกรรม Betagro Kids Talent Show II เป็นเวทีให้เด็กนักเรียนฝึกฝนในสถานการณ์จำลองสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อประเมินผลโครงการจัดจ้างครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ และเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) นำรูปแบบกิจกรรมไปขยายผลกับสาระการเรียนรู้อื่น
- จิตอาสาติวน้องสอบ O-Net ด้วยการขอความร่วมมือจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อร่วมเป็นจิตอาสาในการติวข้อสอบให้กับนักเรียนในชุมชน
- ด้านสุขาภิบาลอนามัยและสิ่งแวดล้อม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ อาทิ
- โครงการครัวคุณภาพห้องน้ำถูกสุขอนามัย
- การปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ ในโรงเรียน ทั้งห้องน้ำ และอาคารสถานที่
- ด้านการส่งเสริมให้โรงเรียนมีส่วนช่วยเหลือชุมชน อาทิ
- โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการศึกษาคุณภาพน้ำเบื้องต้นในท้องถิ่น ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยทีมนิสิตมาสอนการตรวจวัดคุณภาพน้ำให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนเป็นตัวแทนในการตรวจสอบคุณภาพน้ำของชุมชน ณ พื้นที่จริง โดยมีแผนงานในอนาคตสร้างมาตรฐานห้องศูนย์การเรียนรู้เรื่องน้ำในโรงเรียน
แนวทางการพัฒนาโรงเรียน เบทาโกรจะเป็นพี่เลี้ยงร่วมศึกษาปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องร่วมกับทุกภาคส่วน ในการสร้างมาตรฐานการศึกษาในชุมชน พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กในชุมชนออกไปเรียนนอกพื้นที่ และสุดท้าย โรงเรียนจะกลายเป็นแหล่งพัฒนาคนและความรู้ที่กลับมาช่วยเหลือชุมชนต่อไปในอนาคต
แผนการขยายและประยุกต์ช่องสาริกาโมเดล
เบทาโกรขยายผลและประยุกต์ช่องสาริกาโมเดลไปสู่ชุมชนอื่นๆ อีก 3 พื้นที่ในปี 2558 ได้แก่
- บ้านดอนกลาง ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
- ต.ศิลาทิพย์ และ ต.นิคมลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
- อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ซึ่งให้ความร่วมมือกับโครงการปิดทองหลังพระ ตามแนวพระราชดำริ
และในปี 2559 เบทาโกรมีแผนการขยายไปสู่พื้นที่อื่นเพิ่มเติมอีก 4 พื้นที่ ได้แก่
- ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
- คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
- ต.คำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด
- อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
รวมพื้นที่ทำงานพัฒนาชุมชนทั้งหมด 8 พื้นที่ จำนวน 110 หมู่บ้าน
แผนที่ประเทศไทย แสดงพื้นที่ที่เบทาโกรเข้าไปพัฒนาชุมชน
แนวทางในการทำ CSR ขององค์กรต่าง ๆ อาจมีหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวคิดของผู้บริหาร สำหรับเครือเบทาโกร ที่เลือกแนวทางการร่วมพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืนด้วยการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในองค์กร นั่นคือการนำ Productivity สู่วิถีชุมชน อาจจะนับได้ว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาตนเองให้กับคนในชุมชน ทำให้มีเครื่องมือในการปรับปรุงคุณภาพในกระบวนการเกษตรกรรมและคุณภาพชีวิตที่สามารถต่อยอดไปได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าวันข้างหน้าจะประสบปัญหาใด ๆ ก็ตาม และนั่นคือวิถีทางของความยั่งยืนที่แท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก “โครงการ สร้างจิตสำนึก ความเข้าใจการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Awareness) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับองค์กรและระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2558”
ด้วยการสนับสนุนโครงการจาก กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินโครงการ และได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก เครือเบทาโกร