17 มิถุนายน 2021

เพราะอนาคตรอไม่ได้
ปรับองค์กรอย่างชาญฉลาด ก้าวสู่ความสำเร็จด้วย OKRs

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอาจทำให้หลายธุรกิจเกิดความหวาดหวั่น และพยามยามค้นหาแนวทางในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง เตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคหรือวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management และ OKRs จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความพร้อมต่อการเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการค้นหาเส้นทางหรือโอกาสสู่ความสำเร็จที่สูงขึ้น

 

ปรับองค์กรให้ Smart กับ 6 ขั้นตอน
จาก FTPI CHANGE MANAGEMENT MODEL

การเตรียมการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
(Transition and Behavior Management)

เตรียมความพร้อม สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานด้วยทัศนคติที่มุ่งไปข้างหน้า พร้อมเรียนรู้ และต่อสู้กับคู่แข่ง ควบคู่กับค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ให้เกินกว่าสิ่งที่เคยทำได้ รวมถึงผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างแก่พนักงาน มีความยืดหยุ่น และใกล้ชิดกับพนักงานมากขึ้น

การสื่อสาร
(Communication)

สื่อสารให้ชัดเจนผ่านช่องทางที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่พนักงานว่าเหตุใดองค์กรต้องมีความเปลี่ยนแปลง
ทั้งวัตถุประสงค์ ระยะเวลา รายละเอียด และประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้

กระบวนการและเครื่องมือ
(Process Tools)

ประยุกต์ใช้เครื่องมือให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กรที่กำลังจะมุ่งไป
โดยพิจารณาจากบริบทขององค์กร และสภาพสังคมในขณะนั้นเป็นหลัก

การเรียนรู้
(Learning)

ทุกการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ PDCA องค์กรต้องเพิ่มความถี่ในการทบทวนให้บ่อยขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้นกับผู้ที่อยู่ในองค์กร และนอกองค์กร ทั้งด้านทักษะ และวิธีปฏิบัติใหม่ ๆ ควบคู่กับการทบทวนถึงเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ขององค์กร

การวัดผล
(Measurements)

องค์กรควรวัดผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ความสอดคล้องต่อเป้าหมาย และแผนการดำเนินงานอื่น ๆ

การยกย่องชมเชย และการให้รางวัล
(Recognition and Reward)

การสร้างขวัญกำลังใจ สร้างความผูกพันระหว่างพนักงานที่ทุ่มเทให้กับการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรมองข้าม เพราะจะทำให้พนักงานเกิดแรงใจในการเดินหน้าสู่เป้าหมายต่อไปพร้อมกับองค์กร และกระตุ้นให้คนอื่นอยากมีส่วนร่วมในความสำเร็จขององค์กร

….

สร้างผลลัพธ์ให้ก้าวกระโดดด้วยเครื่องมือ OKRs

จะมีประโยชน์อะไรหากทุกคนเดินหน้าทำงานโดยปราศจากการตั้งเป้าหมาย และวัดผลสำเร็จในสิ่งได้ทุ่มเททำลงไป ‘OKRs’ หรือ Objective and Key Results คือ เครื่องมือสำคัญที่องค์กรระดับโลกอย่าง Google และองค์กรชั้นนำอีกมากมายนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จด้วยการกำหนดเป้าหมาย และวัดผลลัพธ์การดำเนินงานในทุกกระบวนการ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือทางการจัดการที่ได้รับความเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างผลลัพธ์แก่องค์กรได้อย่างก้าวกระโดด

OKRs คืออะไร ?

แม้จะเป็นเครื่องมือในการวัดผลลัพธ์แต่ OKRs ไม่เพียงแต่พุ่งความสนใจไปที่ ‘ผล’ เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการย้อนกลับมาพิจารณาถึง ‘เหตุ’ เช่น เรื่องบุคลากร โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรมีส่วนร่วม เกิดความกระตือรือร้น รู้จักตั้งเป้าหมายของตัวเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กร และมีการวัดผลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการตั้งเป้าหมายตามหลักการ OKRs สามารถอธิบายผ่านตัวอย่างง่าย ๆ ดังนี้

วิธีการกำหนด OKRs

เพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการขับเคลื่อนองค์กร และมี OKRs ของตนเอง ตั้งแต่ระดับองค์กรไปจนถึงบุคลากร จึงควรเริ่มต้นที่การกำหนด Objective (O) วัตถุประสงค์หลัก หรือเป้าหมายที่ต้องการไปถึง ซึ่งโดยทั่วไปมักกำหนดที่ 3-5 วัตถุประสงค์ นอกจากนี้ควรตั้งวัตถุประสงค์ที่ก่อให้เกิดความทะเยอทะยานในการขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ถัดมาที่การกำหนด Key Results (KRs) ผลลัพธ์หลัก หรือผลลัพธ์ที่สำคัญ โดยมุ่งเน้นให้เป็นเชิงปริมาณ สามารถวัดได้ มีความท้าทาย และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ พร้อมกำหนดกิจกรรมหลัก และกรอบเวลาในการดำเนินการ

ตัวอย่าง

ยอดขาย 1 ล้านบาท ภายในไตรมาสแรกสำหรับสินค้าใหม่ 2 รายการในประเทศใหม่

                        กิจกรรมหลัก = เพิ่มยอดขายใหม่ 2 สินค้าในประเทศใหม่

                        ผลลัพธ์หลัก outcome = เกิดรายได้ใหม่

                        เป้าหมาย = ยอดขายมากกว่า 1 ล้านบาท

                        กรอบเวลา = ไตรมาสแรก

แล้วองค์กรจะนำ OKRs ไปปรับใช้ให้สำเร็จอย่างไร ?

หากจะหาวิธีที่จะนำเครื่องมือ OKRs ไปปรับใช้ในองค์กรให้เกิดผลสำเร็จ อาจต้องเริ่มต้นจากการทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจในเป้าหมาย และพร้อมก้าวเดินในทิศทางเดียวกัน เรียกว่า การสร้างความสอดคล้อง เริ่มจากตั้งโจทย์เพื่อหาวิธีส่งเสริม OKRs ของภาพใหญ่ในระดับองค์กร ถัดลงมาที่การผลักดันในระดับหน่วยงาน หรือระดับทีมที่อาจนำ O หรือ KRs ขององค์กร มาเป็น O ของหน่วยงาน ในระดับบุคคลก็สามารถนำ O หรือ KRs ของหน่วยงานหรือทีมมาเป็น O ของบุคคลได้เช่นกัน ซึ่งในระดับบุคคล จะสามารถพิจารณาได้ว่า KRs ที่มีอยู่นั้นมีความสอดคล้อง หรือเชื่อมโยงกับ KRs ของบุคคลในทีมอื่นอย่างไร และเรากำลังทำงานอย่างสอดคล้องภายใต้ทิศทางเดียวกันขององค์กรหรือไม่ ซึ่งทำให้การดำเนินงานตาม OKRs นั้นมีประสิทธิภาพ

….

การเข้าใจในหลักการ OKRs และ Change Management ไม่เพียงช่วยให้องค์กรสามารถเตรียมพร้อมในการบริหารจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังนำพาองค์กรให้ก้าวเดินไปตามวิสัยทัศน์ ลดความผิดพลาด และเพิ่มความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

ที่มา : งานสัมมนาออนไลน์ Smart Change Management with OKRs in Action เปลี่ยนอนาคตสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ OKRs วันที่ 11-12 มีนาคม 2564 โดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

….

สนใจหลักสูตร

Smart Change Management with OKRs in Action
(เปลี่ยนอนาคตสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ OKRs)​ คลิก

….




Writer