7 วิธีในการจัดการกับ Social Media
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
[email protected]
ทุกวันนี้การทำงานจากบ้าน (WFH) กลายเป็นสิ่งปกติใหม่อย่างแท้จริง และเคยสังเกตไหมว่าระหว่างที่ WFH เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์(หรือมือถือ) นานกว่าปกติ
ปัจจุบันเกือบแยกไม่ออกแล้วว่า Social Media ทั้งหลาย ถูกใช้ไปกับเรื่องส่วนตัวหรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน สถิติพบว่าระหว่างที่โควิดระบาดหลายรอบมานี้ คนไทยใช้เวลาอยู่บนออนไลน์ผ่านเครื่องมือทุกประเภทเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน โดยเกือบ ๆ 3 ชั่วโมงถูกใช้ไปกับ Social Media ต่าง ๆ โดยเฉพาะ LINE, Facebook, Instagram และ Clubhouse ที่เพิ่งฮิตระเบิดเมื่อสัก 2 เดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมานี่เอง (ข้อมูลจาก Thailand Digital Statistic 2021)
ผมเองก็ใช้เวลามากมายไปกับ Social Media เหล่านี้เช่นกัน และกำลังพยายามหาทางลดการใช้งานลงอยู่ วันนี้มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดการกับการใช้ Social Media ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มาฝาก
เทคนิคการจัดการกับการใช้ Social Media ให้มีประสิทธิภาพ
อย่าตอบเร็ว
เพราะยิ่งตอบเร็ว ข้อความยิ่งมาเยอะ บางทีเราหมดเวลาไปหลายสิบนาที เพียงเพราะเขาเขียนมาเราก็ตอบไป
ตอบโต้กันไปมา เผลอแพร๊บเดียว หมดไปแล้วเกือบครึ่งวัน !
ปิดการแจ้งเตือน
Notification
ในเกือบทุกโปรแกรม มีฟังก์ชันการแจ้งเตือนเมื่อมีข้อความเข้ามา และเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่เมื่อมีข้อความโผล่ขึ้นมา ก็อดไม่ได้ที่จะเหลือบตาไปดู เมื่อดูแล้วก็อยากจะกดเข้าไปอ่าน อ่านแล้วก็อยากจะตอบข้อความเหล่านั้น ในที่สุดจึงถูกสูบเข้าไปในวังวนของการโต้ตอบ หมดเวลาไปอีกหลายนาที เพียงเพราะมีข้อความขึ้นมาเตือน
ใส่คำว่า “ต้องอ่าน”
Must Read
ลงหน้าข้อความที่สำคัญและต้องการให้คนอื่นอ่านและตอบ – ในทางกลับกัน ก็แจ้งคนอื่น ๆ ด้วยว่า อะไรที่อยากให้รีบอ่านและรีบตอบ ให้ใส่คำว่า “ต้องอ่าน” (Must Read) ข้างหน้าข้อความเสมอ จากนั้นจงเลือกอ่านเฉพาะข้อความที่มีคำว่า “ต้องอ่าน” ก่อน ถ้าไม่มีข้อความดังกล่าว ก็เก็บไว้อ่านช่วงว่าง ๆ
เมื่อเริ่มต้นอ่านข้อความใน Social Media
ให้รีบลุกขึ้นยืน
อย่าอยู่ในท่าสบาย เช่นนั่งหรือนอนอ่าน เพราะมีแนวโน้มจะยาว การยืนเฉยๆ จะช่วยลดเวลาการอ่านลงได้บ้าง คล้าย ๆ หลักการ “ยืนประชุม” (Stand Up Meeting) ที่พบว่าระยะเวลาในการประชุมจะลดลง หากทุกคนยืนประชุม อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าให้ยืนเฉยๆ แล้วอ่าน ห้ามเดินไปเดินมาเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว การเดินไปเดินมาจะทำให้อ่านได้นานขึ้นกว่ายืนเฉย ๆ อีกด้วย
ถ้ารู้สึกว่าต้องตอบยาวหรือต้องใช้เวลาในการอธิบาย
ให้ใช้โทรศัพท์แทน
อย่าพิมพ์หรือส่งข้อความ เพราะการคุยทางโทรศัพท์ประหยัดเวลากว่าการพิมพ์ไปพิมพ์มา อย่างแน่นอน !
อย่าส่งข้อความโดยไม่จำเป็น
เพราะอย่าลืมว่า ยิ่งส่งมาก ยิ่งได้รับมาก ยกตัวอย่างเช่น ทุก ๆ เช้า ลองส่งสติกเกอร์หรือข้อความทักทายให้เพื่อน ๆ สัก 10 คนดู เชื่อไหม อย่างน้อย ๆ ต้องได้ข้อความตอบกลับมา 5 คน และบางคนอาจมีคำถามต่อ ที่รอคำตอบจากเราด้วย เช่น สบายดีไหม วันนี้ไปทำงานหรือเปล่า คุณแม่เป็นไงบ้าง ฯลฯ แล้วเราก็จะถูกดูดเข้าสู่วังวนของการโต้ตอบอีกครั้ง
อย่ารับ Add คนเยอะ หรือมีเพื่อนมากเกินไป
ยิ่งมีเพื่อนมาก ยิ่งได้รับข้อความเยอะ ไม่อ่านก็โดนด่า จะอ่านทั้งหมด ก็เสียเวลา … ปวดหัวอีก