5 ตุลาคม 2015

ตระหนกเพื่อตระหนัก

เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อว่าในขณะที่สังคมโลกก้าวเข้าสู่กระแสรักสุขภาพ เห็นได้จากการเติบโตของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของโลกตั้งแต่ปี 2549 ไปจนถึงปี 2556 มีอัตราการเติบโตของตลาดสูงถึง 200.50% แต่ยังเพิกเฉยต่อปัญหามลพิษที่อยู่รอบๆ ตัว ที่ทวีความรุนแรงมีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง

เช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานข่าวอินเทอร์เน็ตของบีบีซี เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อการเต้นผิดปกติของหัวใจ การอุดตันในปอด และเมื่อปีที่แล้วองค์การอนามัยโลกก็เคยรายงานว่ามลพิษในอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด และมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ มลพิษทางอากาศซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาการใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบาย ได้แก่ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ การผลิตกระแสไฟฟ้า การทำอุตสาหกรรม การใช้เครื่องทำความร้อนและความเย็นของที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการปล่อยสารต่างๆ จากการทำเกษตรกรรม

แม้ว่าในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือ ISO 1400/ 14001 มาใช้ในองค์กร แต่ปัญหามลพิษด้านต่างๆ ก็ไม่ได้ลดลง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และในบางองค์กรธุรกิจก็โดนฟ้องร้องเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่มีการดำเนินการตามมาตรฐานนี้ด้วยซ้ำ

ในการทำ CSR ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญ และมีการดำเนินการมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมลดลง

คำถามก็คือ องค์กรธุรกิจมีเป้าหมายในการดำเนินการทั้งสองเรื่องเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังหรือไม่

มีสักกี่องค์กรที่มีการสื่อสารให้คนในองค์กรตระหนักต่อเรื่องของมลพิษที่มีอันตรายต่อชีวิตอยู่ทุกๆ วัน

แม้ไม่อาจพูดได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการให้ความสำคัญต่อข้อมูลข่าวสารด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของสำนักงานข่าวใหญ่ๆ อย่างบีบีซี หรือซีเอ็นเอ็น ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากสำนักวิชาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ อย่างต่อเนื่อง

ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งของสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ซึ่งได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติหรือ TQA ในปี พ.ศ. 2553 ได้เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าปัจจุบันเนื่องจากท่อส่งก๊าซมีอายุ 30 ปีแล้ว ผู้บริหารต้องสร้างความตระหนักให้กับพนักงานเกี่ยวกับอุบัติภัยจากท่อส่งก๊าซระเบิด ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารกับพนักงานในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยใช้ความตระหนกไปสู่ความตระหนัก และหันมาหาแนวทางการป้องกันปัญหาร่วมกัน

ในการสื่อสารกิจกรรม CSR ของแต่ละองค์กร มักจะได้เห็นบรรยากาศชื่นมื่นจากภาพถ่ายติดบอร์ดในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ถ้าหากหันมามองปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น น้ำเน่าเสีย การขาดแคลนน้ำ มลพิษทางอากาศ ขยะอันตรายที่ยังไม่มีการจัดการที่ชัดเจน ขยะจากการอุปโภค บริโภคที่ยังมีปัญหาในการจัดการ ฯลฯ เราจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร ในสถานะขององค์กรซึ่งมีศักยภาพสูง และศักยภาพในการจัดการจะยิ่งสูงขึ้นถ้ามีการร่วมมือกันในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ลองหันมาทบทวนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอีกครั้ง การทำ CSR ควรก้าวข้ามเรื่องภาพลักษณ์องค์กรได้แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันมาใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิต

ซีเอ็นเอ็นก็เพิ่งจะรายงานข่าวเรื่องกองขยะใต้พื้นมหาสมุทรที่พอกพูนขึ้นทุกวัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาสภาพนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลายจากการทำประมงอย่างไม่บันยะบันยัง เหมือนไม่รู้ว่าทะเลและมหาสมุทรนั้นเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่สำคัญเพียงใด

คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาสุขภาพของเราท่ามกลางมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศ และพื้นดิน ควรหันมาสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไป เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกทาง

การใช้ความตระหนกเพื่อให้เกิดความตระหนัก เป็นแนวทางที่ตรงที่จุดที่สุด เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าวันนี้เชื่อว่าส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่ามลพิษคือฆาตกรที่เหี้ยมโหดอย่างเท่าเทียมที่จะคร่าทุกชีวิตได้ในทุกๆ วัน การสื่อสารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงเป็นภารกิจที่ต้องช่วยกันอย่างจริงจัง

ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

 


Tags:


Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น