14 สิงหาคม 2015

ตัวเลขคาดการณ์ที่น่าตกใจถึงอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า หรือราวปีพ.ศ. 2563 จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกกว่า 498 ล้านตัน! นั่นหมายถึงผลกระทบตามธรรมชาติที่กำลังจะตามมา และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อัตราดังกล่าวมีแนวโน้มที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 จำนวน 230 ล้านตัน และปี พ.ศ. 2555 จำนวน 350 ล้านตัน คาร์บอนฟุตปริ้นท์จึงเป็นประเด็นที่คนบนโลกใบนี้รับรู้ได้ถึงภัยพิบัติตามธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งวารสาร Productivity World ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งความสำเร็จของการใช้คาร์บอนฟุตปริ้นท์ ในกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในองค์กร

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เนื้อแท้แห่งความยั่งยืน

‘ปลูกป่า สร้างคน’ ถือเป็นปรัชญาหนึ่งที่หยั่งรากลึก ในการพัฒนาชุมชนชาวเขาบนยอดดอย จากการปลูกฝิ่น หันมาปลูกป่า เพื่อสร้างคนซึ่งถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด 3 ดี คือ ชุมชนดี สังคมดี และธรรมชาติดี ต้องอาศัยเวลาอันยาวนานกว่าจะประสบความสำเร็จตามแนวทางพระราชดำริของสมเด็จย่า เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมชื่อมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปี พ.ศ. 2515 เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวเขา ต่อมา ปี พ.ศ. 2528 เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อรองรับการขยายขอบเขตการทำงานสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนแบบองค์รวมทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจเพื่อสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถูกฝังอยู่ในการดำเนินงานมา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรบนปรัชญาการพัฒนาให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็น ‘ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ซึ่งต้องใส่ใจใน 3 มิติ และ 1 มุมมอง คือ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมุมมองด้านคนที่ถือเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่สำคัญ จึงกล่าวได้ว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีวิถีที่เป็น Green มาตลอด โดยวงจร Green แม่ฟ้าหลวงในปัจจุบัน อาทิ

• นโยบายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานทุกคนอย่างมีส่วนร่วม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริง (กำหนดเป้าหมายลด 20% ใน 3 ปี) และเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีการกำหนดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมขึ้น ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานในกรุงเทพฯ คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานดอยตุง และท่องเที่ยว และคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโรงงานและผลิตภัณฑ์ดอยตุง พร้อมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ และตัวชี้วัด (KPI) แต่ละคณะทำงานไว้อย่างชัดเจน

• อาคารรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับอาคารสำนักงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่กรุงเทพฯ มีการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบอาคารให้มากที่สุด

• คู่มือแนวทางความเป็น ‘Green’ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินโครงการสำนักงานสีเขียว#1 ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ภายในสำนักงาน อาทิ การลดค่าใช้จ่าย (ไฟฟ้า น้ำ และ อุปกรณ์สำนักงาน) สำนักงานสะอาด มีระเบียบ ลดมลพิษ (5ส) เพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน พร้อมทั้งพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของสำนักงานและพนักงาน (ISO 14001) รวมถึงประเด็นสำคัญคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับฉลากอาคารอนุรักษ์พลังงานปี 2554 รางวัล Thailand Energy Awards 2556 ซึ่งเป็นเพราะมีคุณลักษณะที่เป็นอาคารประหยัดพลังงานและน้ำ รวมถึงเป็นหน้าที่ที่พนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะถือว่าเป็นหนี้ต่อโลกใบนี้ร่วมกัน  อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์พลังงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นั้น ยังขยายไปสู่โรงงาน โดยมีโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ‘ดอยตุง’ เพื่อทราบถึงกระบวนการผลิตว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากน้อยเพียงใด และสามารถปรับปรุงกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสการแข่งขันให้แก่ผลิตภัณฑ์ดอยตุง สู่การถ่ายโอนองค์ความรู้แก่สู่ชุมชน

หมู่บ้านเขียว Game สร้าง Green

นิยามคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสียและการขนส่ง โดยการวัดผลในรูปของตันคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2)

การดำเนินกิจกรรมภายในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นั้น สิ่งที่สะท้อนปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยมีการออกแบบกลไก เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานภายในองค์กรด้วย “เกมหมู่บ้านเขียว”

ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมในวันทำงานแต่ละวันมีการปล่อยปริมาณ CO2 เท่าไร?


ภาพที่ 1: บอร์ดประชาสัมพันธ์ “เกมหมู่บ้านเขียว”

GreenHouseGame

 

คำตอบคือ 12.04 CO2 (1 ปี = 3,142 CO2)
ขับรถมาทำงาน 20 กม. = 4.38CO2
ใช้ลิฟท์ (4 ชั้น 4 คน 4 รอบ) = 0.03CO2
ใช้คอมพิวเตอร์ (LCD) = 0.58 CO2
ใช้กระดาษ A4/10 แผ่น = 0.03 CO2

นี่เป็นเพียงกิจกรรมบางส่วนของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แบบไม่รู้ตัว กิจกรรมหมู่บ้านเขียวจึงเกิดขึ้นบนแนวคิดสำคัญ 3 ประการ คือ 1)การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสิ่งที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากตนเอง และส่งผลต่อไปสู่องค์กร สังคม และโลก 2)สามารถวัดผลในด้านการประหยัดพลังงาน และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ 3)ทุกคนสามารถร่วมกิจกรรมนี้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสำนักงานหรือพื้นที่อื่น ๆ

ภาพที่ 2: แผนผังการกระตุ้นและติดตามผลกิจกรรมหมู่บ้านเขียวGreenHouseGameMonitor

หลังจากนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ใช้วิธีการแบ่งกลุ่มตามแผนกการทำงาน เรียกว่า หมู่บ้าน โดยการผลักดันทั้งแบบรายบุคคล ซึ่งถือเป็นหนี้ต่อโลก และรายหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นหนี้สาธารณะ (จากไฟฟ้า น้ำ ของตึกสัดส่วนตามจำนวนสมาชิก ด้วยแผนผังภูเขาหัวโล้น) มีการคำนวณข้อมูลด้วยโปรแกรม พร้อมทั้งบันทึกกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างจิตสำนึก (เติมเต็มภูเขาหัวโล้น) โดยรายบุคคล คิดคะแนนจาก % การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และรายหมู่บ้าน % ต้นไม้บนภูเขาหัวโล้น ซึ่งผู้ที่ได้รับ % สูงสุดเป็นผู้ชนะ นอกจากนี้ยังมีรางวัลให้แก่สมาชิกที่ทำการบันทึกกิจกรรมมากกว่า 80% จะได้จับรางวัลทูตเขียวแห่งปี

ภาพที่ 3: ตัวอย่างกิจกรรมการขับเคลื่อน

ActivityCarbon

สำหรับกิจกรรมที่แฝงภายในเกมนั้น จำแนกออกเป็น 2 ส่วน ควบคู่กัน คือ 1) กิจกรรมลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และ 2) กิจกรรมสร้างจิตสำนึก

ตารางที่ 1: รายละเอียดกิจกรรมลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และกิจกรรมสร้างจิตสำนึก

CarbonFootPrintActivity

ซึ่งการรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมนั้น มีการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ภายในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อาทิ บอร์ดเกมและพลังงาน Website, Morning Screen ตลาดนัดมือสอง โดยเกมหมู่บ้านสีเขียวปีที่ผ่านมาผลลัพธ์มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลออกเป็น 5 ด้าน คือ 1) กิจกรรมช่วยสิ่งแวดล้อม 2) ค่าไฟฟ้าที่ลดลง 3) ขยะขายได้จากทุกหมู่บ้าน 4) ตลาดนัดมือสอง 5) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตีเป็นมูลค่าเช่น ปีที่ 1 ค่าไฟฟ้าลดลงจากการเปิดเครื่องคอมฯ 1 ชั่วโมงต่อวัน 5,184 บาท ปีที่ 2 จำนวน 9.990 บาท เป็นต้น สำหรับกิจกรรมในปีที่ 3 นั้น มีการดำเนินกิจกรรมเดิมอย่างต่อเนื่องและเพิ่มเติมในบางเรื่อง คือ ใบลงคะแนน และอบรมเรื่องคาร์บอนฟุตปริ้นท์เพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้พนักงานเกิดการมีส่วนร่วมด้วยความเข้าใจ

ติดตามด้วยประเมิน ต่อเติมแนวทางคาร์บอนฯ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผล เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้าของกิจกรรม รวมทั้งนำผลที่ได้รับไปวางแผนพัฒนาต่อยอด จึงมีการกำหนดแนวทางการประเมินผล โดยเริ่มต้นจากการกำหนดขอบเขตขององค์กร (Organization Boundaries) ซึ่งต้องมีการเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายของการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ขององค์กรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการนำผลการคำนวณไปใช้ดำเนินการ เช่น เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ หรือเพื่อใช้สื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับการกำหนดขอบเขตองค์กรนั้น ต้องครอบคลุม 2 มิติ คือ มิติที่ 1 แบบควบคุม (Control Approach) ทั้งในส่วนของการดำเนินงาน และทางการเงิน และมิติที่ 2 แบบปันส่วนตามกรรมสิทธิ์ (Equity Share) โดยการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยึดตามหลักสากลเป็นสำคัญ คือ GHG(CO2e) = AD x EF ซึ่ง GHG หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (CO2e) AD หมายถึง ข้อมูลกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Activity data) และ EF หมายถึง ค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) [มีหน่วยเป็น Kg CO2e/หน่วย

ตัวอย่างการคำนวณ เช่น ในปี พ.ศ. 2557 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน้ำมันดีเซลทั้งหมด 118.85 ลิตร/ปี และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อย GHGs ของน้ำมันดีเซลเท่ากับ 2.7446 Kg CO2e/ลิตร

Formular-CarbonFootPrint

ในส่วนของค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) สามารถใช้วิธีการตรวจวัดจริง หรือการศึกษาจากฐานข้อมูลขององค์กรบริการก๊าซเรือนกระจก หรือองค์กรระหว่างประเทศ#2 ร่วมด้วย

โดยประโยชน์จากการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตปริ้นท์ ส่งผลให้ทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ และหาแนวทางเพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ นำไปสู่การเป็นองค์กรลดคาร์บอน ยังผลประโยชน์ต่อส่วนร่วม ชุมชน สังคม ประเทศ และโลกใบนี้

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดอยตุงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบ่งบอกด้วยฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ อาทิ กาแฟคั่ว แมคคาเดเมียนัท กระดาษสาดอยตุง สินค้าเซรามิค โดยมีรายละเอียดแจกแจ้งข้อมูลไว้อย่างชัดเจนในสินค้าแต่ละชิ้นว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

ภาพที่ 4: ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์DoiTungCoffee

จากจุดเริ่มต้นของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการขับเคลื่อนองค์กรปลอดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่ผู้บริโภคในนาม “ดอยตุง” เท่านั้น ยังเป็นมิตรต่อพนักงานภายในองค์กร โดยมีแนวคิดที่ว่า ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน แล้วจึงขยายผลจนเกิดการปรับวิถีการดำเนินชีวิตสร้างความสมดุลแห่งวัฎจักร ชุมชน + สังคม + ธรรมชาติ + คน ที่อยู่รวมกันได้ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป


#1เกณฑ์ในการประเมินประกอบด้วย 7 ข้อ คือ 1.การบริหารจัดการองค์กร (15%) 2.ความตระหนักขององค์กร (20%) 3.การใช้พลังงานและทรัพยากร (15%) 4.การจัดการของเสียและน้ำเสีย (10%) 5.สภาพแวดล้อมขององค์กร (15%) 6.การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (15%) และ 7.การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (10%)
#2 ฐานข้อมูลขององค์กรบริหารก๊าซเรือนกระจก http://thaicarbonlabel.tgo.ot.gh/download/Emission_Factor_CFP.pdf หรือองค์กรระหว่างประเทศ IPCC – Intergovernmental Pnael on Climate Change



Writer

โดย สุภาพร เตวุฒิธนกุล

จบปริญญาตรีและโทด้านรัฐศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ) ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบการณ์ทำงานที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติกว่า 10 ปี ปัจจุบันตำแหน่งนักวิจัยด้านการจัดการองค์กร ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ