13 สิงหาคม 2015

instantNoodle-1

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสหลบร้อนไปเที่ยวกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่หนีร้อนไปเจอฝนที่ตกทั้งวันทั้งคืนมากพอ ๆ กับคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกันตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกรุงโตเกียวเดิน ๆ สักพักก็เจอคนไทย ญี่ปุ่นเขาเตรียมการอย่างดีต้อนรับนักท่องเที่ยวไทย ทั้งไม่ต้องขอวีซ่า มีเอกสารแนะนำการท่องเที่ยวภาษาไทยแจก มีการสนับสนุนบริษัททัวร์ ช่วงวันหยุดยาว ๆ หลายคนจึงแห่กันไปเที่ยวญี่ปุ่น

วันหนึ่งของการเดินทางผมหลบฝนจากโตเกียวไปเมืองโยโกฮาม่าที่นั่งรถไฟไปประมาณ 40 นาที โชคดีอากาศที่นั่นดีมากเดินเล่นได้สบาย ๆ และก็มีโอกาสไปเที่ยว พิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วย (Cup Noodle Museum) นอกจากเรื่องราวการคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของ Momofuku Ando (ค.ศ. 1910-2007) แล้วผมยังได้แนวคิดเรื่องนวัตกรรมติดสมองกลับมาด้วย

ตามที่ผมเคยเขียนสมการง่าย ๆ ที่ว่า Innovation = Invention + Marketing มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามอย่างย่อยยับ ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนอดอยาก Momofuku เห็นคนแย่งกันซื้อ ราเมน (บะหมี่ญี่ปุ่น) เพื่อประทังความหิว Momofuku เป็นคนช่างสังเกต เลยคิดว่าน่าจะทำให้ราเมนสามารถเก็บได้นานขึ้นและสามารถนำมาปรุงกินภายหลังได้ พูดง่าย ๆ ว่า เขามองด้านการตลาดก่อนคิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ต้องขายได้แน่นอน อย่างนี้เรียกว่า “นวัตกรรม” ก่อนจะขยายความต่อเรื่องนวัตกรรมแบบ Momofuku Ando ผมขอให้วิชาการเกี่ยวกับประเภทของนวัตกรรมสักนิดหน่อยดังนี้ครับ

หากจะแบ่งประเภทของนวัตกรรมแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ว่า ในด้านเทคโนโลยีหรือวิธีใช้ก็ดี รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น
  2. นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) คือการประยุกต์ใช้แนวคิด วิธีการ หรือกระบวนการใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. นวัตกรรมการบริหารจัดการ (Managerial Innovation) คือการคิดค้นรูปแบบของการจัดองค์กรใหม่ที่ทำให้การทำงานขององค์กรนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์

นวัตกรรมมาจากองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ เทคโนโลยี และโอกาสทางการตลาด อย่างที่กล่าวไปแล้ว การคิดค้นใหม่ ๆ จะไม่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจถ้าไม่มีตลาดรองรับ พูดง่าย ๆ คือ นวัตกรรมนั้นขายไม่ได้

เพราะฉะนั้นการคิดค้นนวัตกรรมต้องเริ่มจากการศึกษาโอกาสทางการตลาดโดยมีเป้าหมายที่จะนำนวัตกรรมนั้นออกสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างกำไรให้กิจการ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้

  1. เป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
  2. มีการทำงานเป็นทีมประสานกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
  3. ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงหรือความล้มเหลวที่อาจจะเกิดขึ้นและเตรียมแนวทางรับมือไว้ก่อนล่วงหน้า
  4. เรียนรู้และยอมรับความผิดพลาดเพื่อพัฒนาต่อไป

นวัตกรรมกระบวนการ

นวัตกรรมกระบวนการเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ว่าในด้านกระบวนการหรือเทคโนโลยีการปฏิบัติงาน หรือรูปแบบองค์กรเพื่อการแข่งขันหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้อาจจะเป็นผลมาจากสัญญาณทางการตลาดหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมกระบวนการแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. นวัตกรรมเพื่อการทดแทนหรือแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น
  2. นวัตกรรมกระบวนการแบบเฉียบพลัน เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกระบวนการผลิตอย่างสิ้นเชิง เช่นการที่นาย Henry Ford เปลี่ยนกระบวนการผลิตรถยนต์จากแบบ Craft Production เป็น Mass Production

ธุรกิจ SMEs ที่มีปัญหาเรื่องเงินทุนจำกัด ไม่สามารถจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ก็ควรพิจารณานวัตกรรมกระบวนการ ปรับปรงุ กระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย

นวัตกรรมการบริหารจัดการ

ในความเป็นจริงนวัตกรรมสองประเภทแรกที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจไม่สามารถเกิดขึ้นเลยถ้าไม่เกิดนวัตกรรมด้านบริหารจัดการในองค์กรนั้น ๆ นวัตกรรมการบริหารจัดการจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการในการบริหารองค์กรไม่ว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร เช่น การที่บริษัทโตโยต้านำนวัตกรรมการบริหารการผลิตแบบ Just-in-Time มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพจนเป็นที่นิยม

“Momofuku แทนที่จะคิดแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่ง เขากลับคิดแบบเป็นมิตร ชวนคู่แข่งทั้งหมดมาจัดตั้งสมาคมและค้าขายแบบอยู่กันได้”

Momofuku Ando ทดลองผิดทดลองถูกในครัวภายในบ้านตนเองแบบอดหลับอดนอน (นอนวันละ 4 ชั่วโมง) เป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่มีวันหยุด จนวันหนึ่งเขาสังเกตว่า เทมปุระที่ทอดจนกรอบนั้นเมื่อนำมาจุ่มน้ำจิ้มก็นุ่มได้ เท่านี้ Momofuku ก็ร้อง “ยูเรก้า” ค้นพบว่าเอาบะหมี่มาทอดก่อน แบบเทมปุระ(อาหารทอดประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น) แล้วอบให้แห้งน้ำมัน เมื่อจะกินบะหมี่ก็เอาน้ำร้อนเทใส่ แค่นี้ก็ได้บะหมี่นุ่มน่าทาน เขาคิดค้นได้ในปี ค.ศ. 1958 แล้วก็จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย  อย่างไรก็ตาม เมื่อขายดีก็มีคนเลียนแบบทำตาม เพราะเทคโนโลยีไม่ได้ยากอะไรนักหนา Momofuku แทนที่จะคิดแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่ง เขากลับคิดแบบเป็นมิตร ชวนคู่แข่งทั้งหมดมาจัดตั้งสมาคมและค้าขายแบบอยู่กันได้ Momofuku เดินทางไปอเมริกาในปี ค.ศ. 1971 เพื่อหาลู่ทางขยายตลาดไปอเมริกา Momofuku พบว่าชาวอเมริกันฉีกซองเทบะหมี่ใส่ถ้วยเติมน้ำร้อนแล้วกินบะหมี่ด้วยช้อนส้อม เท่านี้เขาก็ร้อง “ยูเรก้า” อีกแล้วเพราะนี่จุดประกายความคิดการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามารถขยายตลาดไปได้ทั่วโลก ในวัย 95 ปี Momofuku ยังไม่หยุดคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเขาจนในปี ค.ศ. 2005 เขาสามารถคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอวกาศที่สามารถนำขึ้นไปทานในอวกาศได้

ผมใช้เวลาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นี้ประมาณ 2 ชั่วโมงรวมทั้งทดลองผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยของตนเอง แล้วก็สรุปความคิดด้านนวัตกรรมของ Momofuku Ando บิดาแห่งการคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ ดังนี้

  1. พยายามคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่สิ่งประดิษฐ์นั้นต้องมีความต้องการของลูกค้าหรือตลาดรองรับ
  2. พยายามมองรอบ ๆ ตัวแล้วหาความคิดใหม่ ๆ อย่าหมกมุ่นคิดค้นตามแนวทางเดียว อย่างที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคิดค้นขึ้นมาได้เพราะการสังเกตเทมปุระ
  3. สิ่งประดิษฐ์ใหม่นั้นต้องตอบสนองความต้องการของคนหลายคน เรียกว่า มีตลาดรองรับ
  4. มีมุมมองแบบรอบด้านหลายมิติ แบบว่าคิดนอกกรอบแล้วนอกกรอบอีก อะไรทำนองนั้น
  5. ไม่คิดแบบที่ตัวตนเองเป็นอยู่ เช่น หากเป็นทหารก็ไม่คิดค้นนวัตกรรมตามรูปแบบความคิดของทหารเท่านั้น ต้องคิดหลากหลายแบบคนอาชีพอื่นเขาบ้าง
  6. ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

ผมหวังว่าการเล่าเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมของ Momofuku Ando คงมีส่วนกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านที่เคารพรักเกิดความสนใจสิ่งรอบ ๆ ข้างแล้วนำมาต่อยอดความคิดเป็นนวัตกรรม หรืออย่างน้อยก่อนกินบะหมี่สำเร็จรูปซองหรือถ้วยต่อไป จะได้รู้ที่มาที่ไปของนวัตกรรมบ้าง คงไม่เป็นเพียงกินอิ่มแล้วหลับสบาย ๆ แบบพี่เบิร์ดนะครับ

 




Writer

โดย ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

วิทยากรที่ปรึกษาอิสระ : จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการตลาดและปริญญาเอกด้านการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต (E-learning Methodology) มีประสบการณ์ด้านบริหารงาน ด้านการวางแผนกลยุทธ์และการตลาดในบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการค้าระหว่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ ตลอดทั้งการวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด