30 มิถุนายน 2015

sustain

จากกระแสความแรงของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งเป็นหนึ่งใน   Megatrend ของโลกที่ได้รับการยอมรับจากทุกวงการในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคปัจจุบัน ทำให้เราได้ยินคุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG  หนึ่งในองค์กรไทยแท้ที่สามารถนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับโลก กล่าวประโยคสำคัญในเวทีระดับนานาชาติ  “ASEAN Sustainable   Development Symposium 2014”   หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นงานที่ระดมความคิดเห็นจากผู้บริหาร บริษัทชั้นนำของโลกกว่า 200 แห่ง ในกว่า 20 ประเทศเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของโลกธุรกิจในอีก 40 ปี ข้างหน้า (ค.ศ.2050) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมโลกให้ดำรงชีวิตที่ดี ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

คุณกานต์ กล่าวว่า “ ธุรกิจวันนี้ ต้องตระหนักถึงการสร้างสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับองค์กรว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นวิถีปฏิบัติอันจำเป็น หรือ Must Have Agenda ที่ต้องวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นักธุรกิจทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และองค์กรที่ทำเรื่องนี้ก็ไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องประเด็นความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสนใจในเรื่อง “การเติบโตทางธุรกิจ”  อีกด้วย”

หากเราติดตามอ่านข่าวองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น   SCG, IKEA, ปตท.,  บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน ), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัทในกลุ่มเครือเบทาโกร,  บมจ.ไทยยูเนี่ยน  โฟรเซ่น  โปรดักส์  ฯลฯ ที่นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจ และมีการผลักดัน ส่งเสริมให้แนวคิดดังกล่าวฝังลงอยู่ในทุกห่วงโซ่ธุรกิจจนสามารถเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ต่างก็มีตัวเลขที่ยืนยันผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น  SCG  ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 – 2557  ไว้ว่าผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ มียอดขายสุทธิ (พันล้านบาท) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนี้ ปี พ.ศ.2553  –  301.3,   พ.ศ.2554  –  368.6, พ.ศ.2555  –  407.6, พ.ศ.2556  –  434. 3  และพ.ศ.2557  –   487.5

ส่วนในฝั่งต่างประเทศซึ่งกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจขาลงของโลก IKEA ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติสวีเดนที่ถือว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงองค์กรหนึ่งที่มีความเป็นเลิศในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน  สำนักข่าว BBC รายงานว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา IKEA ก็ได้ประกาศกำไรสุทธิที่มีมากถึง 3.3  พันล้านยูโร และยอดขายที่เพิ่มขึ้น 5.9 %  ซึ่งคิดเป็นรายได้ถึง 28.7 พันล้านยูโร นอกจากนี้ ทีมผู้บริหารของ IKEA ก็ได้ประกาศชัดเจนว่าจะเดินหน้าผลักดันในเรื่องการพัฒนาอย่างยังยืนนี้ต่อไป ด้วยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนในโลกใบนี้

ข้อมูลในเรื่องผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้สอดคล้องกับแนวทางของ CERES (Coalition for Environmentally Responsible Economies) หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ยืนยันว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้สามารถสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรต่างๆ ได้อย่างแน่นอน Mindy Lubber ผู้บริหารของ CERES ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันธุรกิจนับร้อยนับพันต่างก็มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะนำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ไปควบรวมกับทุกอย่างที่ทำ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุน และกลุ่มผู้ถือหุ้นต่างก็มีความมั่นใจในกรอบการพัฒนาของ  CERES และดัชนีชี้วัด Sustainable Corporate  Index  (SCI)  ที่ CERES จัดทำไว้เพื่อให้องค์กรมี Roadmap มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีเป้าหมายชัดเจนซึ่งประเด็นดังกล่าว Anne Staussboll   ผู้บริหารกองทุนระบบบำนาญของพนักงานลูกจ้างของรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีมูลค่าสามแสนล้านเหรียญ  กล่าวสนับสนุน CERES ว่า กรอบการพัฒนาของ CERES นั้นทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะบริษัทเหล่านั้นสามารถมีแนวปฎิบัติในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ดีที่สุดและสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรือ สังคม

เมื่อสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธุรกิจที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นจึงต้องสามารถสร้างสมดุลได้ทั้ง 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่ง  Must have Agenda หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คุณกานต์  ตระกูลฮุนกล่าวไว้ สามารถตอบโจทย์สำหรับทุกธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างมีทิศทางและอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกอนาคต

หมายเหตุ : สถาบันอาหาร ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม จัด “โครงการประเมินองค์กรสู่ความเป็นเลิศ เพื่อการดำเนินการอย่างยั่งยืน (SCI)” เป็นการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในเกณฑ์การประเมินองค์กรสู่ความเป็นเลิศเพื่อการดำเนินการอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมองเห็นเป้าหมายและกำหนดเส้นทางการพัฒนามุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับองค์กรภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาด้านอาหารและเครื่องดื่ม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-619-5500 ต่อ 586 (ขนิษฐา) e-mail: [email protected] หรือ www.ftpi.or.th ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สมัครด่วน รับจำนวนจำกัด  https://www.ftpi.or.th/2015/3743




Writer

โดย ชนรดา อินเที่ยง

อดีตผู้ชำนาญการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ