21 กุมภาพันธ์ 2015

ประเทศไทยมาถึงยุคคสช. ถึงเวลาปรับเปลี่ยนประเทศกันขนานใหญ่ เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นสปช.เพื่อปฏิรูปการศึกษามีจำนวนมากที่สุด ทำให้เชื่อได้ว่า คนมองเห็นการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและมีคนเห็นปัญหาว่าสมควรจะแก้ไขเชิงโครงสร้างมากกว่าเรื่องอื่นใด หรืออย่างน้อยก็คงไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ

ใช่เลย ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการศึกษามาก ใครๆก็รู้สึกได้ สัมผัสได้ว่าคนของเราขาดการขัดเกลาให้มีคุณภาพ ไม่ว่าจะวัดด้วยผลการสอบ ผลการสำรวจหรือการประเมินจากนายจ้าง ผู้คนทั่วประเทศต่างไม่พอใจ และกังวลกับสิ่งที่มองเห็นตรงหน้า  กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศนี้ ซึ่งหมายถึงบ้านเมืองที่ลูกหลานตัวเองจะอยู่ต่อไป

ที่ผ่านมายิ่งทำยิ่งแย่

เป็นที่ประจักษ์กันทั่วประเทศว่าการศึกษาของเรายิ่งปฏิรูปยิ่งแย่ลง ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า คนยุคนี้มี “คุณภาพ” สู้คนยุคก่อนไม่ได้ ทั้งที่จำนวนคนจบปริญญาเอกเป็นด๊อกเตอร์ ปริญญาโทก็เกลื่อน ความรู้มีมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าหา “คน” ที่ใช้งานได้น้อยลง

ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่า การศึกษาของเรามาผิดทาง

คำถามคือ ที่ผ่านมามันผิดพลาดตรงไหน

ลองมาดู ที่ว่าแย่นั้นมันแย่อย่างไร ในเมื่อเด็กที่สอบได้เหรียญทองโอลิมปิคด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปีละหลายๆ คน เป็นที่สดุดีเลื่องลือไปทั่ว โรงเรียนต่างๆ ก็เอารูปมาทำป้ายติดหน้าโรงเรียน โฆษณาว่าสามารถผลิตเด็กคุณภาพที่ดี สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ผู้ปกครองเองก็เป็นปลื้ม คนอื่นๆ ก็อยากพาลูกเข้าโรงเรียนดังๆ เหล่านี้ถึงกับยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่ๆ ซื้อโอกาสให้ลูกได้เข้าไปศึกษาในโรงเรียนดังๆ เหล่านี้ ซึ่งไม่ต่างจากการใช้เงินซื้อตำแหน่งในที่ทำงาน แล้วก็กลายเป็นภาระของเด็กที่สอบเข้าไปไม่ได้ ซึ่งเท่ากับว่าตามเด็กคนอื่นไม่ได้อยู่แล้ว เข้าไปอยู่ร่วมกันก็ต้องขวนขวายเพิ่มขึ้นอีกเพื่อตามเขาให้ทัน

เด็กที่เรียนทันคนอื่นได้ก็นับว่าโชคดีไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะตามกันไม่ทัน ต้องกวดวิชากันหามรุ่งหามค่ำ ต้องเหน็ดต้องเหนื่อยทั้งตัวเด็กเองและตัวพ่อแม่ เด็กบางคนถึงกับปฏิเสธที่จะเรียน

ลองไปดูเนื้อหาที่เรียนกัน ปรากฏว่าเป็นเรื่องราวที่ผู้ใหญ่ไม่มีความรู้เลย ช่วยอะไรเด็กไม่ได้ แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่รู้ ก็เพราะเป็นความรู้ที่ไม่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  ไม่ได้เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้ในอาชีพ  สอบผ่าน เรียนจบแล้วก็เก็บขึ้นหิ้ง ให้เป็นความภาคภูมิใจอยู่ในสมุดพกเท่านั้น    ไม่ได้มีประโยชน์โภคผลอะไร

ในส่วนของวิธีการวัดผลเองก็เหมือนกัน สิ่งที่เอามาวัดผลออกแบบมาให้วัดผลได้ง่ายสำหรับครู ไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดความรู้ เพราะมันวัดความจำ ทั้งการจำคำตอบและจำวิธีการ ถ้าคำตอบไม่ตรงกับที่ครูสอนถือว่าผิด ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการคิดต่าง

พอมาเป็นคนทำงาน สังคมกลับเรียกร้องสิ่งตรงข้าม ตั้งแต่  การคิดนอกกรอบ คิดต่าง ภาวะผู้นำ จริยธรรม ค่านิยมของการช่วยเหลือผู้อื่น ความกระตือรือร้น ความคิดแบบมีเหตุมีผล ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยเรียน แต่ถูกกดไว้ไม่ให้เกิดด้วยซ้ำ

ตัวครูเองก็ขาดสิ่งเหล่านั้น ซึ่งก็ไปโทษเขาไม่ได้ ในเมื่อเขาไม่ได้ถูกปลูกฝังสิ่งเหล่านั้นตั้งแต่ก่อนเป็นครู ไม่ได้ถูกคาดหวังให้มีคุณสมบัตินั้นอีกด้วย วัน ๆ  ถูกกระทรวงศึกษาบังคับให้ทำเอกสารโน่นนี่มากมายจนไม่มีเวลาทำอะไรที่เป็นสาระเช่น   การพัฒนาความรู้ตัวเอง หรือดูแลส่วนอื่นๆ ของลูกศิษย์นอกห้องเรียน เวลาเด็กมีผลการเรียนต่ำก็ถูกประเมินไม่ดี

สถานศึกษาไม่ต้องเอาใจผู้ปกครอง ไม่ต้องเอาใจเด็ก

แต่ต้องสนองความต้องการของสังคม

ผิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น

หากเอาศาสตร์การบริหารมาจับการศึกษาแล้ว จุดเริ่มต้นที่ตั้งคำถามว่าโรงเรียนมี “พันธกิจ” อะไร และ “ลูกค้า” เป็นใคร ปัจจุบัน เราถือว่า ผู้ปกครองกับนักเรียนคือลูกค้า โรงเรียนคือผู้ประกอบการซึ่งต้องสนองความต้องการลูกค้า  และถูกลูกค้าประเมินผลจึงได้เกิดกระบวนการให้เด็กประเมินผลครูผู้สอน  ประเมินการเรียนจากคะแนนสอบ   และสิ่งที่เรียกว่า  “Child center”

ความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นตรงนี้ ในความเป็นจริง เวลาเด็กจบออกมา พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้เป็นผู้ประเมิน แต่นายจ้างหรือสังคมต่างหากเป็นผู้ประเมิน เพราะฉะนั้น “ลูกค้า” จึงไม่ควรเป็นผู้ปกครองหรือตัวเด็กเอง

“พันธกิจ” ของสถานศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่ แต่ต้องเป็นการสร้างความพร้อมของเด็กเพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของสังคมต่อไป แต่ที่ผ่านมา การศึกษามองข้ามกระบวนการถัดไป กลับไปมองว่าผู้ที่จ่ายเงินต้องการอะไรมากกว่าจึงได้ผลิตผลการศึกษาที่นำมาใช้งานไม่ได้

เมื่อเป็นอย่างนั้น สถานศึกษาก็ไม่ต้องเอาใจผู้ปกครอง ไม่ต้องเอาใจเด็ก แต่ต้องสนองความต้องการของสังคม ซึ่งก็คือ “นายจ้าง”  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอกชน ราชการ ครูอาจารย์ จะได้นำไปหล่อหลอมให้ทำงานตามความต้องการขององค์กรนั้นต่อไป

P-world-113 : Strategic-Education

เมื่อองค์กรการศึกษาต้องการผลิต “ผลผลิต” ที่มีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของ “ลูกค้า”  ซึ่งเป็นนายจ้างของผลผลิตเหล่านั้น ก็ต้องตอบให้ได้ว่าต้องการสร้างคนแบบไหน ให้แก่นายจ้างประเภทใด  เช่น สร้างนักวิจัย หรือสร้างคนทำงาน หรือสร้างครูที่จะไปสอนต่อ หรืออะไรกันแน่ ไม่ใช่เหมารวมกันหมดอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ความชัดเจนของผลผลิตจะช่วยให้เกิดความชัดเจนว่า    ต้องมีปัจจัยนำเข้า “Input” อะไร  มีกระบวนการสร้างอย่างไร  ต้องหาบุคลากรแบบใดมาสอนบ้าง  และต้องมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่จะใช้ในกระบวนการผลิตคนคุณภาพดีเหล่านี้

ใคร ๆ ก็รู้ว่า หากต้องการ Output ที่ดี ก็ต้องสรรหา Input ที่ดี ผ่านกระบวนการที่ดี จึงจะสัมฤทธิ์ผล ทั้งสามองค์ประกอบนี้ บกพร่องไปตัวใดตัวหนึ่งผลผลิตก็จะออกมาไม่ดี  องค์กรการศึกษาแต่ละแห่งจึงต้องเข้มงวดในการคัดสรรนักเรียนและครู  ต้องเข้มข้นในกระบวนการสอน และก่อนสำเร็จการศึกษาก็ต้องมีกระบวนการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดอีกด้วย

เท่านี้คงจะมองเห็นปัญหาที่เกิดกับระบบการศึกษาของเราในวันนี้ แค่เริ่มต้นผิด อะไรก็ผิดไปหมด

ผมจึงไม่ค่อยจะไว้วางใจนักการศึกษาทั้งหลายที่จะมาปฏิรูปอะไรอีก ที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำได้แค่ปฏิรูปวิธีการสอบเท่านั้น




Writer

โดย สุธี พนาวร

กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ยูไนเต็ด บิซสิเนส คอนซัลแตนท์ จำกัด

ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยฮิโตทสึบาชิ ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2527
คณะเศรษฐศาสตร์ วิชาเอก การตลาดระหว่างประเทศ(ทุนมอนบุโช ของรัฐบาลญี่ปุ่น)
ระดับปริญญาโท สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร พ.ศ. 2531 วิชาเอกธุรกิจระหว่างประเทศและการเงิน