เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาการซ้อมรบทางเรือร่วมกันระหว่างรัสเซียและจีนในทะเลดำและเมดิเตอร์เรเนียน และการไปเยือนรัสเซียของ ฯพณฯ สี จินผิง ประธานาธิบดีของจีน ถือเป็นภาพที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองประเทศที่กำลังเบ่งบานเหนือดินแดนยูเรเชีย ทว่า ลึกๆ แล้วแม้มหาอำนาจทั้งสองประเทศจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีแนวคิดทางการเมืองที่หันหลังให้กับการจัดระเบียบโลกตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และตึงเครียด ซึ่งมาจากหลายเหตุปัจจัย
หนึ่งในชนวนเหตุของความไม่ลงรอยกันเกิดจากการที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและนับวันจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตรงข้ามกับรัสเซียที่นับวันอำนาจจะแผ่วลงตามลำดับ โดยที่รัสเซียอาจจะไม่ยินดีที่จะยอมรับการเป็นหุ้นส่วนที่ตกเป็นรองจีนนัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศนี้นับวันจะโตวันโตคืน แต่ละปีการค้าระหว่างสองประเทศ มีมูลค่ารวมกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นมูลค่า 1 ใน 10 ของรัสเซียและ1ใน 40 ของจีน) ในส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มเส้นทางสายไหมของจีนที่ยกมาพูดถึงระหว่างการเข้าคารวะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อาจมีแนวโน้มที่จีนจะเข้าไปลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานของรัสเซีย ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการขนส่งสินค้าจากจีนเข้าไปยังรัสเซียเลยไปถึงยุโรปและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่าย ยังเห็นชอบที่จะลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อีก 2 โครงการ ที่จะเป็นการนำก๊าซในไซบีเรียเข้าไปยังจีน และจะส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดจากรัสเซียแทนที่ยุโรป
ถึงกระนั้น ก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากโครงการที่กล่าวถึงมีมูลค่าการลงทุนสูงลิบลิ่ว และจีนก็พยายามกดราคาอย่างหนัก เมื่อรัสเซียกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดก๊าซในยุโรป อีกทั้ง จีนยังมองรัสเซีย เป็นการลงทุนที่เสี่ยงไม่น้อย หากแต่รัสเซียเองก็ไม่ได้วางใจจีนเต็มร้อย และไม่ได้คาดหวังว่าการเงินของจีนจะแทนที่ตลาดทุนในยุโรปในเวลาอันใกล้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน รัสเซียเหลือโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนน้อยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่การคว่ำบาตรกรณีการแทรกแซงทางทหารในยูเครนที่ตนเข้าไปสนับสนุน
ความหวั่นเกรงเรื่องวิศวกรรมย้อนกลับ (reverse engineering) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัสเซียยังลังเลที่จะขายเทคโนโลยีทางการทหารที่ล้ำสมัยให้แก่จีน แม้ว่าทุกวันนี้จากสถานการณ์ในช่องแคบที่ตึงเครียดขึ้นทุกขณะ รัสเซียจะตกลงเสนอขายระบบการต่อสู้ทางอากาศซึ่งทันสมัยที่สุดที่จะทำให้จีนสามารถโจมตีเป้าหมายในไต้หวันหรือแม้แต่บางส่วนในอินเดียได้ก็ตาม
นอกจากนี้ จีนและรัสเซียยังให้การสนับสนุนสถาบันในระดับภูมิภาคใหม่ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลทั้งการกระชับหรือทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต ส ถาบันระดับภูมิภาคที่ทั้งสองประเทศเข้าไปสนับสนุน เป็นต้นว่า องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้นำโดยจีน โดยมีวัตถุประสงค์การก่อตั้งเพื่อต่อกรกับการก่อการร้าย ลัทธินิยมหัวรุนแรงและที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวคิดที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียกลาง ซึ่งประเทศผู้เข้าร่วม ในที่นี้ร่วมถึงรัสเซียด้วย มีความหวั่นเกรงการแทรกซึมจากพวกกลุ่มต่อสู้หัวรุนแรงจากอัฟกานิสถานและตะวันออกกลางเป็นสำคัญ ด้านรัสเซีย ถือเป็นแกนนำในการจัดตั้งสหภาพทางเศรษฐกิจยูเรเชีย โดยก่อตั้งบนรากฐานของสหภาพศุลกากรที่มีขึ้นก่อนหน้านี้และรวมเข้ากับประเทศ เช่น อัลเมเนีย เบลารุส คาซัคสถานและรัสเซีย การตั้งกำแพงอัตราภาษีภายนอกที่อยู่ในระดับสูงของกลุ่ม เป็นสิ่งที่จีนวิตกกังวล เนื่องจาก ธุรกิจอุตสาหกรรมในจีนได้ขยายตัวเข้าไปยังพื้นที่ตอนใน และสินค้าส่งออกข้ามไปยังยูเรเชียจะยิ่งทวีความสำคัญ
ขณะที่ธนาคารเพื่อการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ที่มีจีนเป็นแกนนำ จะเป็นช่องทางดึงดูดหลักในยูเรเชีย และสำหรับประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งอย่างรัสเซีย ก็ตั้งความหวังไว้มากว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างมาก
ทั้งจีนและรัสเซียยังมีความเกี่ยวพันกันจากระบบการเมืองแบบเบ็ดเสร็จที่แฝงมาพร้อมกับแนวคิดด้านชาตินิยม ทั้งนายปูตินและนายสี ต่างไม่ชอบใจนักกับระบบการเมืองที่เปิดเสรีอย่างระบบของสหรัฐอเมริกา ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากท่าทีอันโกรธเกรี้ยวที่จีนมีต่อการชุมนุมของนักศึกษาในฮ่องกง หรือกรณีของรัสเซียที่หาว่ามีอำนาจจากภายนอกกำลังบิดเบือนระบบการเมืองในยูเครนให้กลายเป็นปฏิปักษ์กับตน
หันมามองที่แนวโน้มด้านประชากรในตะวันออกไกลของรัสเซียที่รังแต่จะสร้างความสั่นคลอนให้กับความสัมพันธ์ที่มีต่อจีน ปัญหาด้านเส้นเขตแดนระหว่างทั้งสองเป็นเรื่องที่คาใจจีนมาเนิ่นนาน เนื่องจากจีนนั้นมองว่า เส้นเขตแดนตนกับรัสเซียถูกขีดขึ้นจากสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หรืออาจนานกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำของประชากรปรากฏเป็นหลักฐานอยู่เนืองๆ คนงานชาวจีนเป็นล้านๆ คนทำงานอยู่ในแถบตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งย้ายมาจากแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ยังมีเป็นร้อยล้านคน เทียบกับตัวเลขประชากรชาวรัสเซียที่มีเพียงประมาณหกล้านคนที่อาศัยอยู่ทางเขตชายแดนของประเทศ
ทั้งจีนและรัสเซีย ต่างกำลังเผชิญกับกับดักชนชั้นกลาง ทางรอดเดียว คือ ต้องหันมาพึ่งพานวัตกรรมและการสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้น ลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูก ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม หากไม่สามารถรับมือกับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางของตนที่มาพร้อมกับระดับรายได้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายระหว่างชายแดนของสองประเทศนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
หันไปที่ฝั่งชาติตะวันตก อันที่จริงไม่มีประเทศใดที่สนใจจะยุยงให้จีนและรัสเซียแตกคอกันนัก เมื่อพิจารณาว่า หากทั้งสองประเทศขยายความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกันได้ ก็ยิ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิตพลังงานของโลกที่จะมีมากขึ้น หรือข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าของสองประเทศก็ยิ่งจะช่วยกระตุ้นโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่อยู่ในความสนใจของตะวันตกมากกว่า คือ การที่จีนและรัสเซียจะไม่ทำตัวเป็นพี่ใหญ่เกเร รังแกเพื่อนบ้านที่ตัวเล็กกว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัสเซียเข้าไปกดดันยูเครน หรือ จีนที่แผ่อำนาจในทะเลจีนตะวันออกและใต้ สองกรณีนี้เป็นเหตุจูงใจให้ชาติตะวันตก ต้องเสริมขุมอำนาจทางการทหารและกระชับสัมพันธ์ทางการทูตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิดการปะทะรุนแรง
ตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่พยายามเสริมความร่วมมือกับจีนและรัสเซียมานานแล้ว แม้ว่ามหาอำนาจเหล่านี้จะมีความแตกต่างกัน แต่ความพยายามดังกล่าวคาดว่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ว่าอเมริกาเอง รวมถึงชาติพันธมิตรทั้งหลายจะออกตัวต่อต้านการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลไกของนาโตและความร่วมมือในเอเชีย-แปซิฟิกทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ในที่นี้ร่วมถึงผ่านทางความร่วมมือทรานส์แปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาขั้นสุดท้าย
ดังที่กล่าวมาทั้งหมด หากว่ารัสเซียไม่สามารถหาช่องทางการเติบโตทางเศรษฐกิจแหล่งใหม่ได้ ก็มีแนวโน้มที่รัสเซียจะตกชั้นจากการเป็นมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ในไม่ช้า หากมองจากสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานและการค้า ทั้งจีนและรัสเซียต่างก็มีทางเลือกที่จะหลอมรวมความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดในสัมพันธภาพที่มีต่อกันได้ทุกเมื่อ ถึงตอนนี้ ทั้งรัสเซียและจีน มาถึงจุดทางแยกสำคัญที่ต้องตัดสินใจแล้วว่า การยึดแนวคิดต่อต้านอเมริกา น่าจะไม่ใช่หนทางที่จะช่วยให้ตนสามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญในระดับชาติได้อีกต่อไป
ที่มา http:// blogs.reuters.com/great-debate/2015/05/12/how-durable-are-china-russia-relations/