9 กรกฎาคม 2020

“ฟื้นโอกาส ฝ่าวิกฤต COVID–19 ต่อสู้ทุกความเปลี่ยนแปลงด้วย Productivity”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของไวรัส COVID – 19 คือ แรงขับเคลื่อน (Driving Force) อันทรงอิทธิพล ที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีการดำเนินชีวิตมากมาย เกิดเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า ‘New Normal’ หรือความปกติใหม่ในหลายด้าน อาทิ การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมที่เริ่มคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น ภาพของผู้คนที่สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะอาจกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนคุ้นชิน หรือการพึ่งพาประโยชน์จากเทคโนโลยีในด้านการเรียน และการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผลจากการระบาดของ COVID – 19 ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่อความคล่องตัวของระบบเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หลายองค์กรธุรกิจต้องหยุดชะงัก  ไม่สามารถปรับตัวให้ก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้

 

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “หากเราไม่เปลี่ยนตัวเอง เราก็จะต้องถูกเปลี่ยนในท้ายที่สุด” เมื่อผลจากการระบาดของ COVID – 19 เป็นแรงขับเคลื่อนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายประการ และไม่อาจพาเราหวนกลับไปจุดเดิมได้ เมื่อผู้คนในสังคมต้องปรับตัว ธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน จากเดิมที่เคยปฏิบัติงานด้วยเป้าหมายที่ต้องการนำรายได้เข้ามาให้ได้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่สถานการณ์ในปัจจุบันคงทำให้หลายองค์กรได้เล็งเห็นถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรเร่งทำเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตของดังกล่าว การหันมาให้ความสำคัญกับ การเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity จึงเป็นคำตอบในการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร พร้อมฝ่าฟันกับทุกอุปสรรคที่เข้ามากระทบ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่กำลังเปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที

Productivity

เมื่อเป้าหมายของ การเพิ่มผลิตภาพ – Productivity คือ การมุ่งบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดขององค์กรอย่างคุ้มค่า นำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุดของกระบวนการดำเนินงาน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า สร้างความเข้มแข็ง และการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ดังนั้น การนำแนวคิดเรื่องการเพิ่มผลิตภาพมาปรับใช้ในองค์กร จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างรอบด้าน รู้จุดอ่อน จุดแข็ง และเกิดความพร้อมในการปรับตัวให้สอดรับกับทุกแรงขับเคลื่อนในอนาคต ไม่เพียงแต่ COVID – 19 แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจที่มีความผันผวน การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ และภูมิอากาศ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของบทบาทด้านเทคโนโลยี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลกระทบได้หากองค์กรหรือธุรกิจขาดความพร้อม


จะนำพาองค์กรฝ่าวิกฤตด้วย

Productivity ได้อย่างไร ?

วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งขององค์กร

จุดเริ่มต้นของการเพิ่มผลิตภาพ คือ การพิจารณากระบวนการทำงานภายในองค์กรถึงคุณค่า (Value) ปัญหาความสูญเสีย (Lost) จุดแข็งที่สามารถนำไปพัฒนาสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ยกระดับสู่ความสำเร็จด้วยการบริหารผลิตภาพ

การสร้างกลยุทธ์ในการเพิ่มผลิตภาพขององค์กร ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรควรทำให้แนวคิดการเพิ่มผลิตภาพเป็นแนวคิดพื้นฐาน (Standardization) ด้วยการบรรจุเข้าไปในทุกกระบวนการทำงาน นำไปสู่การยกระดับอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) เพื่อให้พร้อมสำหรับการปรับตัวท่ามกลางสภาวะวิกฤต ตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรไปพร้อมกับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต

สร้าง Productivity Mindset ในองค์กร

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การสร้างความเข้าใจในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพให้แก่พนักงานทุกระดับ โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน

เพราะอนาคตที่ยั่งยืนย่อมมาจากปัจจุบันที่เข้มแข็ง แนวคิดการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity จึงเป็นแนวคิดที่สามารถช่วยให้องค์กรพลิกฟื้นวิกฤตให้กลับกลายเป็นโอกาส พร้อมนำพาให้องค์กรบรรลุทุกเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 




Writer