8 สิ่งที่ธุรกิจควรเลือกทำ สู้ภัยไวรัส Covid-19
โดย คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ในวิกฤตก็มีโอกาส และสำหรับประเทศไทยถ้าเราสังเกตให้ดีและมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะพบว่าโดยส่วนใหญ่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเองล่วงหน้ามีน้อยมาก วิสัยทัศน์จึงเกิดกับคนและองค์กรที่มีผู้นำที่มองการณ์ไกลและหล่อหลอมคนให้คิดและลงมือทำร่วมกัน ในอดีตที่มีการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำมัน ไม่ว่าจะผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ และใช้จ่ายเงินมากมายหลายสิบหลายร้อยล้านก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทันทีที่ค่าน้ำมันแพงจนเกินรับไหว ทุกคนต่างหันไปใช้แก๊สซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกกันหมดแม้ว่าจะต้องลงทุนเสียค่าติดตั้งก็ตาม เป็นผลให้อู่ติดแก๊สและปั๊มแก๊สเกิดขึ้นมากมาย
ครั้งล่าสุดกับกระแสการลดใช้พลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้ว่าจะมีความพยายามมากมายหลายครั้งทั้งขอความร่วมมือกับห้างร้านต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งเราเริ่มเห็นผิดภัยของมันชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะขยะพลาสติกที่ไปอยู่ในทะเลจนทำให้สัตว์ทะเลหายากหลายชนิดตาย และขยะพลาสติกเหล่านี้เริ่มสร้างปัญหากับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การให้ยาแรงในรูปของกฎหมายสั่งห้ามและการให้ความร่วมมืออย่างดีจากร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เริ่มเป็นผลมีการรายงานทางสถิติออกมาชัดเจนว่ามีการใช้น้อยลง จนส่งผลกระทบถึงโรงงานผู้ผลิตที่ต้องปรับตัว และกรณีมลพิษจากการใช้ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาพื้นที่เกษตร เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM 2.5 น่าจะเป็นกรณีต่อไป ถ้ารัฐบาลส่งสัญญาณเอาจริงในการเร่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electrical Vehicle – EV) นอกจากจะรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคไว้ได้แล้ว ยังช่วยลดมลภาวะเป็นพิษได้ดีกว่าวิ่งไล่แก้ไขปัญหา
แต่อะไรก็ไม่แน่นอนวันที่ผมกำลังนั่งพิมพ์บทความนี้อยู่ ก็เป็นวันเวลาเดียวกับที่มีมาตรการเข้มข้นโดยประกาศเป็นหนังสือออกมาอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ปิดสถานบันเทิง ศูนย์การค้า (ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และร้านอาหารที่อนุญาตให้สั่งออกไปกินได้นอกร้าน) และสถานที่ปิดที่อาจมีคนไปรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการแพร่กระจายหรือติดเชื้อระหว่างกันได้ หลังจากที่พบผู้ป่วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 จากสนามมวยและร้านกินดื่มย่านทองหล่อ
จากเดิมซึ่งประชาชนโดยเฉพาะคนทำงานในเขตเมืองใหญ่ซึ่งมีความตื่นตัวกันอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากคนส่วนมากจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกไปในที่ชุมชน สถานที่สาธารณะ หรือแม้แต่ทำงานอยู่ในจุดเสี่ยงที่ต้องให้บริการหรือพบเจอลูกค้าจำนวนมาก จนทำให้ความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ เบาบางอย่างมาก แม้แต่การจราจรที่โล่งขึ้นในกรุงเทพอันเนื่องมาจากหลายโรงเรียนปิดไปก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ส่งผลให้สถานที่ทำงานหลายแห่งเริ่มนำมาตรการรับมือในภาะวิกฤตมาใช้ด้วยการให้บางแผนก/ฝ่ายทำงานที่บ้าน กระแสที่เรียกว่า Work from home จึงกลายเป็นคำฮิต และเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังสร้างคุณค่าใหม่จากที่แต่เดิมทุกคนคุ้นเคยจากการเสพสื่อออนไลน์ ดูหนังฟังเพลง และสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ได้นำทักษะความสามารถเหล่านั้นมาใช้ในการทำงาน เรียนหนังสือ ประชุมออนไลน์
หลายองค์กรซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จจากนโยบายเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) แม้ว่าจะส่งคนไปอบรม ลงทุนนำไอทีและระบบดิจิทัลมาใช้ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากพนักงานในองค์กร คราวนี้จะได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มีรายงานว่ายอดการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซอฟท์แวร์หรือแอพที่รองรับการทำงานออนไลน์ที่มีฟังก์ชั่นครบ อาทิ Webex Zoom และ Microsoft Teams มียอดดาวน์โหลดและติดตั้งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโทรศัพท์ผ่าน 4G และผู้ให้บริการคราวด์ ต่างเร่งระดมพลพร้อมขยายความสามารถให้รองรับกับทราฟฟิกที่หนาแน่นได้ คำว่าเรียนออนไลน์ (Learn from home) ทำงานออนไลน์ (Work from home) การอยู่ในสังคมออนไลน์แบบมีระยะห่างระหว่างกัน (Social distancing) จะช่วยบรรเทาผลกระทบและหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ เราเคยฟังครู เชื่อพระ หันมาปฏิบัติตัวตามที่แพทย์ให้คำแนะนำกันเถอะ
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นประชากรออนไลน์ พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน อย่างน้อยเบื้องต้นในตอนนี้คือต้านภัยไวรัส Covid-19 ก้าวไปทีละขั้นจากยอมรับ สู่ปรับใช้ และท้ายที่สุดคือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ดังนี้
≡ Technology adoption
ยอมรับมันด้วยการศึกษา ค้นคว้า และเห็นคุณค่า จากนั้นนำมาใช้ในจุดหรือพื้นที่ที่ล้าสมัยไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมายกระดับปรับกระบวนการใหม่ให้ทันสมัย
≡ Technology adaptation
ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพการทำงานที่อาจแตกต่างไปจากเดิม
≡ Technology application
การนำเทคโนโยลีล่าสุดมาใช้สร้างสิ่งใหม่ให้มีคุณค่ามากขึ้น อาทิ ลดต้นทุนกระบวนการ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) สร้างแนวคิดทางธุรกิจใหม่ (business model) เชื่อว่าเราทุกคนจะฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ความกลัว (fear) ความไม่แน่นอน (uncertainty) และข้อสงสัย (doubt) เกี่ยวกับการแพร่กระจายของ coronavirus ที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าจะก้าวไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคมาก่อนหน้านี้ อาทิ โรคซาร์ (ปี 2545) ไข้หวัดนก (ปี 2546) ไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 (ปี 2552) อีโบล่า (ปี 2557) และโรคเมอร์ส (2557) แต่นี่ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเด็นด้านสุขภาพส่งผลกระทบรุนแรง และเข้ามาเป็นหนึ่งในสิบของแรงขับเคลื่อนหลักที่สร้างการเปลี่ยนแปลง (a top ten driving force) เป็นอันดับสองรองจากดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ ตามมุมมองของนักอนาคตศาสตร์ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องรับมืออย่างรวดเร็ว
สำหรับองค์กรที่มีการการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Planning) ไว้แล้ว คงต้องพิจารณาและนำ ABC plan มาใช้ จากเดิมที่เป็นแค่ Action plan แผนปฏิบัติการในภาวะปกติ มาสู่ Backup plan แผนสำรองเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ และ Contingency plan แผนฉุกเฉิน กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมภาวะวิกฤตไว้ได้ แต่องค์กรทั่วไปซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่คงไม่มีแผนดังกล่าว การจัดการกับกระแสเงินสด (Cash flow) เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ
จากการเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์ความไม่แน่นอนอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส Covid-19 ซึ่งมีจุดกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน และแพร่กระจายขยายวงออกไปจากการเดินทางของคนไปในประเทศต่างๆ และมีความรุนแรงมากขึ้นในบางประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี นี่คือ 8 สิ่งที่ธุรกิจควรทำ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคตที่ชื่อว่า Wavepoint บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง BCG และ McKinsey ทั้งนี้แต่ละองค์กรควรพิจารณาเลือกทำในบางข้อที่กำลังความสามารถยังพอมีอยู่ และสอดรับกับสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละธุรกิจ ดังนี้
– 1 –
คัดสรรผลิตภัณฑ์อย่างมีเหตุผล
Product rationalization
มุ่งเน้นสินค้าและบริการที่ยังพอทำรายได้ ตัดทอนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจัดลำดับความสำคัญจากผลิตภัณฑ์ที่ยังมีกำไร ยังมีตลาดและส่งออกได้
ขยายการค้าในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยลดการพึ่งพิงวัตถุดิบจากแหล่งเดิมที่ได้รับผลกระทบ
– 2 –
ลงทุนด้านนวัตกรรม
Invest in innovation
แน่นอนยอดขายลดลงและต้นทุนการผลิตอาจจะเพิ่มขึ้น บางธุรกิจคิดจะเลิกจ้างงาน แต่อดีตแสดงให้เห็นว่าหลายบริษัทที่ลงทุนในนวัตกรรมจะกลับมานำตลาดเติบโตได้อีกครั้งหลังการถดถอยสิ้นสุด อย่าทิ้งคนของคุณแต่เปลี่ยนความสูญเสียด้วยการพัฒนาสิ่งใหม่ จากวัฒนธรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทุนทางปัญญา และความสามารถของพนักงาน
– 3 –
มุ่งสู่โลกออนไลน์และดิจิทัล
Go virtual and go digital
นี่เป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เริ่มจากกระบวนการขายและการตลาดออนไลน์ จากนั้นขยับสู่กระบวนการทำงานภายใน การประยุกต์ใช้คราวด์ทำให้บางองค์กรพบว่าการทำงานที่บ้านได้ผลดีไม่ต่างจากการให้พนักงานเดินทางมาที่สำนักงาน
– 4 –
ลงทุนด้านผลิตภาพ
Invest in productivity
นอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อหลีกหนีการโดนดิสรัปแล้วการปรับเปลี่ยนระบบงานภายในสู่ดิจิทัล การทำให้เป็นอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์จะทำให้บริษัทแข่งขันและสร้างคุณค่าได้อีกครั้ง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมาร้อนแรง
– 5 –
สื่อสารกับลูกค้า
Communicate with your customers
การพูดคุยอย่างเปิดเผยโปร่งใสถึงความกังวลใจกับลูกค้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดจะสังเกตว่าหลายองค์กร หลายอาคารสถานที่ กำหนดมาตรการทำความสะอาด คัดกรอง และตรวจสอบประวัติผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า จะเห็นว่าหลายองค์กรส่งอีเมล์ แจ้งทางเว็บไซต์ หรือถึงขั้นทำเป็นอินโฟกราฟิกเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีมาตรการรัดกุมในการควบคุมการแพร่เชื้อ หรือไม่ให้ผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน
– 6 –
ดูแลเอาใจใส่พนักงาน
Take care of your workforce
เพราะอาจไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ถ้ามีพนักงานบางคนป่วยติดเชื้อเพราะนั่นหมายถึงคนอื่น ๆ ในองค์กรจำเป็นต้องโดนกักตัวเพื่อดูอาการไปด้วย
ดังนั้นสื่อสารวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดกับพวกเขา กระตุ้นพนักงานให้ใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลให้บ่อยครั้ง และสวมถุงมือ (ถ้าจำเป็น) บางองค์กรมีการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมให้กับพนักงานโดยครอบคลุมถึงการตรวจและรักษาโควิด 19
– 7 –
กลับไปหารือกับชุมชน
Give back to your communities
ไม่ใช่แค่ในอาคารสถานที่ทำงานของเราเท่านั้น บางองค์กรอาจจำเป็นต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้นำชุมชนรอบข้างให้ตระหนัก และเห็นถึงวิกฤตร่วมกันอะไรที่องค์กรเราสามารถส่งเสริมสนับสนุนได้ ควรแบ่งปันและให้ความช่วยเหลือ บางโรงงานอุตสาหกรรมมีการขยับปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตสินค้าที่ไม่มีคำสั่งซื้อ หันไปผลิตหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลและชุมชนรอบข้าง กลายเป็น CSR ในภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างดี
– 8 –
คิดไปข้างหน้า
Think ahead
ไม่มีวิกฤตใดที่คงอยู่อย่างถาวร Covid-19 ก็เช่นกัน เมื่อนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ สามารถจะรักษาและพัฒนาวัคซีนได้ ทุกคนก็จะวางใจและกลับมาสู่การใช้ชีวิตปกติ การค้าและการแข่งขันก็จะกลับมาดังเดิม ดังนั้น แผนฟื้นฟู (Recovery plan) จะต้องจัดทำไว้ล่วงหน้า ทันทีทีสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมทำตลาดอีกครั้ง ณ เวลานั้น ใครเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าย่อมได้ประโยชน์ในทันที
…………….
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่นิ่งและยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ว่าจะไปสิ้นสุดในช่วงเวลาใด นอกจากมาตรการให้พนักงานทุกคนระมัดระวังและดูแลรักษาตัวเองแล้ว พนักงานควรร่วมกับผู้บริหารขององค์กรช่วยกันหามุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับอนาคต เหตุการณ์นี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกเราว่า การคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตและการสร้างทางเลือกทางรอดในภาวะวิกฤต (Foresight and Scenarios) ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้านและมากพอ จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้
ข่าวดีที่บางประเทศอย่างจีน และเกาหลีใต้ที่มีการระบาดรุนแรง เริ่มควบคุมสถานการณ์และลดการแพร่กระจายได้แล้ว จึงเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านพ้นไปได้ในเร็ววัน สำหรับองค์กรขนาดเล็ก (SMEs) ที่อาจเริ่มขาดสภาพคล่อง และพนักงานบางส่วนที่อาจโดนมาตรการลดเวลาทำงาน คงต้องฝากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะรุนแรงบานปลายไปจนถึงขั้นเลิกจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงอย่างมากถึงภาพรวมของทั้งประเทศได้