จากผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดย Institute for Management Development (IMD) ที่พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากโลกในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนแบบดั้งเดิม ที่ไม่สามารถแข่งขันและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วให้เป็น “องค์กรนวัตกรรม” การปรับตัวด้วยความรวดเร็วและการสร้างนวัตกรรม เป็นสองปัจจัยสำคัญที่องค์กรต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อสอดรับกับกระแส Disruptive ที่พลิกเปลี่ยนทุกอย่างไปด้วยความเร็วสูง ซึ่งการจะเป็นองค์กรนวัตกรรมที่สามารถปรับตัวให้ พร้อมรับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้นั้น องค์กรต้องมีการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) ให้เกิดขึ้น ภายในองค์กรของตนเพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ
Peter Drucker กล่าวถึง นวัตกรรม ว่าเป็น เครื่องมือสำคัญขององค์กร ในการใช้สร้างศักยภาพเพื่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ และความมั่งคั่ง เป็น “การสร้างสิ่งใหม่ให้แตกต่างจากเดิม” สิ่งใหม่ที่ว่านี้สามารถเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น
- การเกิดโดยบังเอิญ (บางทีทำผิดพลาดก็กลับกลายเป็นนวัตกรรม) เช่น กระดาษโพสต์อิท
- โอกาสที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
- นวัตกรรมที่เกิดจากความต้องการของกระบวนการ
- การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและตลาด
- ความแตกต่างทางกายภาพ เช่น ประชากร อายุ ระดับการศึกษา ก็สามารถสร้างโอกาสในการเกิดนวัตกรรมได้
- มุมมองที่เปลี่ยนไปของคน
- ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีใหม่
อ้างอิงจาก – หนังสือคลื่นความคิดจุดติดนวัตกรรม : รติรส ศิริมงคลรัตน์
เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่า วัฒนธรรมองค์กรนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการสร้างนวัตกรรม จากการสำรวจของ Gartner Financial Services ประจำปี 2559 “อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการสร้างนวัตกรรมคือการเมืองภายใน และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ยอมรับความล้มเหลว ไม่ยอมรับแนวคิดจากภายนอกและเปลี่ยนแปลงไม่ได้” MIT Sloan หน่วยงานที่ทำการศึกษาด้านการจัดการองค์กร พบว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของนวัตกรรมที่รุนแรงกว่าปัจจัยทางด้านแรงงาน, ทุน, รัฐบาลหรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมของชาติ
วัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) หมายถึง วัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เกิดการ สร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือนวัตกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งสิ่งใหม่นี้อาจยังไม่มีมาก่อน หรือเป็นสิ่งที่มีการทำแล้ว แต่องค์กรยังไม่เคยทำการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมจึงเป็นการสร้างบรรยากาศให้บุคลากรภายในองค์กรทุกระดับ กล้าที่จะคิดนอกกรอบ กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และมีความสนใจใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า หากองค์กรไม่มีวัฒนธรรมที่เป็นนวัตกรรม องค์กรจะสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีหลากหลายวิธีที่จะเริ่มต้น นี่คือ 5 วิธีในการเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างยิ่งขึ้นต่อนวัตกรรม:
1. เริ่มสร้างนวัตกรรมแบบง่ายๆ ก่อน
เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนเริ่มรู้สึกสบายใจในการมีส่วนร่วมกับการสร้างนวัตกรรม พนักงานบางคนอาจจะไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกัน ตามแนวคิดของ Lean องค์กรอาจจะสร้างหรือใช้การสื่อสารภายใน เพื่อให้ความรู้กับพนักงานในเรื่องของความหมายและหลักการในการสร้างนวัตกรรม หรือองค์กรอาจจะเริ่มด้วยการแบ่งปันบทความและแนวคิดเรื่องนวัตกรรมของผู้บริหารไปสู่พนักงาน หากองค์กรมีแผนในการจัดอบรมให้ความรู้กับพนักงาน ก็ควรเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่แนวคิดพื้นฐาน เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม และ การสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการใหม่ โดยมีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร ที่จะนำมาข้อมูลนั้นเข้ามาใช้ในการคิดค้นเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการตามความต้องการของลูกค้าหรือออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นั้นเอง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการและกรอบการดำเนินงานที่จริงจังมากขึ้น
2. สร้างความหลากหลายให้กับทีมงานนวัตกรรม
จากการศึกษาหลายแห่งยืนยันว่า ความหลากหลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับนวัตกรรม จะเป็นการง่ายขึ้นยิ่งหากทีมที่ทำนวัตกรรมขององค์กรมีความหลากหลายมากเท่าใดก็จะยิ่งดีขึ้นในการแก้ปัญหา เมื่อเริ่มสร้างวัฒนธรรมที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น องค์กรควรทำให้แน่ใจว่ามุมมองที่แตกต่างจะถูกนำเสนอและไม่ถูกละเลยในการเริ่มดำเนินการสร้างนวัตกรรม ในทีมงานสร้างนวัตกรรมควรจะประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีประสบการณ์ทางด้านอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังควรต้องมีความหลากหลายทางด้านเพศ, อายุและวัยวุฒิ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร
3. โยนกฎทิ้งไป
ผู้นำด้านนวัตกรรมอย่าง Rolls-Royce ได้แบ่งปันเรื่องราวอันทรงพลังเกี่ยวกับสี เมื่อทีมของพวกเขาเริ่มออกแบบห้องปฏิบัติการนวัตกรรมใหม่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท พวกเขาได้ส่งคู่มือแบรนด์องค์กรที่ระบุรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับพื้นพรม และสีสำหรับทาผนังที่สามารถใช้ได้ สิ่งแรกที่ทีมนวัตกรรมทำก็คือการโยนคู่มือทิ้งลงในถังขยะ ผนังถูกทาสีด้วยสีที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างตั้งใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเป็นสถานที่ซึ่งกระบวนการและแนวคิดแบบดั้งเดิมขององค์กรจะถูกทิ้งไว้ที่ประตู นี่เป็นพื้นที่ใหม่สำหรับวิธีหรือแนวคิดแบบใหม่ กฎบางข้อไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป อย่าอายที่จะโยนมันทิ้งลงในถังขยะ
4. ส่งเสริมความอยากรู้
นวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่สนใจจากโลกภายนอก แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีส่วนร่วม วิธีที่ดีในการจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นให้กับทีมงานก็คือการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิดค้น ส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนและเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรที่สนใจ ค้นหาและส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
อีกวิธีหนึ่งในการสร้างความอยากรู้อยากเห็นให้กับพนักงาน คือการนำความรู้จากภายนอกเข้ามาภายในองค์กร ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ของ Rolls-Royce พวกเขาได้จัดงาน“ Digi-Talks” ทุกเดือน เพื่อนำวิทยากรรับเชิญในหัวข้อต่างๆ มาพูดคุยกับพนักงาน ตั้งแต่เรื่องเครื่องจักรไปจนถึงศิลปะการพับกระดาษ องค์กรขนาดใหญ่อีกแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มต้นสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรที่นำ facilitators จากภายนอกมาเป็นผู้นำการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การระดมสมองเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ในเวลาจำกัด, กระบวนการสร้างชิ้นงานต้นแบบด้วยความรวดเร็ว (rapid prototyping) และการทำงานร่วมกัน
5. รู้จักคนของตัวเอง
เมื่อเริ่มต้นประชาสัมพันธ์โครงการนวัตกรรมขององค์กร พนักงานในองค์กรจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะซื้อแผนทันที กลุ่มที่สองจะไม่ซื้อ และกลุ่มสุดท้ายจะนั่งอยู่เฉยๆไม่ตัดสินใจ ให้องค์กรพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานในกลุ่มสุดท้ายว่าทำไมนวัตกรรมจึงสำคัญ พนักงานเข้าใจอย่างไร คิดว่าผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมหรือไม่ ทรัพยากรและกิจกรรมต่างๆ เอื้อต่อพนักงานในการสร้างนวัตกรรมหรือไม่
แนวคิดเหล่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้น นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า การจะสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์อนาคตได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการบ่มเพาะวัฒนธรรมความสร้างสรรค์ภายในองค์กร ซึ่งอาจต้องอาศัยระยะเวลาจนกว่าจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้
องค์กรที่มีการดำเนินงานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมเท่านั้นจึงจะสามารถ พัฒนาไปสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการเป็นผู้นำและอยู่รอดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องจากจะเป็นองค์กรนวัตกรรมได้ก็ต่อเมื่อองค์กรนั้นมีวัฒนธรรมนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบนั่นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.innovationexcellence.com/blog/2019/06/06/5-ways-to-build-a-more-innovative-culture-at-work