นวัตกรรมเป็นเสมือนคำศักดิ์สิทธิ์ที่องค์กรธุรกิจคิดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน หลายปีมาแล้วที่แต่ละองค์กรบ่มเพาะ เติมเต็มการสร้างนวัตกรรมในองค์กรอย่างเข้มข้น และเก็บเกี่ยวผลที่เจริญงอกงามในวันนี้ แต่ก่อนที่นวัตกรรมจะก้าวขึ้นมามีบทบาทอันร้อนแรงนั้น องค์กรหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นความจำเป็นต่อพันธกิจขององค์กร ซึ่งเป็นภารกิจระดับชาติ การสร้างนวัตกรรมจึงเปรียบเสมือนดีเอ็นเอขององค์กรที่เติบโตไปพร้อมกัน
เพื่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ
สายออกบัตรธนาคาร (สอบ.) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2550 โดยการปรับโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่ผลิต ออกใช้และจัดการธนบัตร แม้ว่าจะไม่อยู่ในสถานะของการแข่งขันทางธุรกิจเนื่องจากการออกธนบัตรเป็นอำนาจหน้าที่ของธปท. แต่เพียงผู้เดียว และไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหากำไร แต่ก็ต้องแข่งขันกับตนเองเพื่อรักษาความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ ความสำเร็จในการผลิต ออกใช้และจัดการธนบัตรนั้น นวัตกรรมในกระบวนการเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง สอบ.กำหนดให้การสร้างนวัตกรรมเป็นกลยุทธ์หลักตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่คำว่านวัตกรรมยังไม่เป็นที่รู้จัก และได้รับการบ่มเพาะอย่างเป็นระบบต่อเนื่องโดยมีการจัดการความรู้เข้ามาเป็นพื้นฐานสำคัญในเวลาต่อมาในการทำหน้าที่ผลิต ออกใช้และจัดการธนบัตรนั้น หมายถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการด้านธนบัตรของประชาชนอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม สอบ.จึงได้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ว่า “เป็นองค์กรที่ผลิตและบริหารจัดการธนบัตรชั้นนำของโลก” โดยกำหนดพันธกิจคือ “ผลิตและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้ธนบัตรหมุนเวียนมีสภาพดี ยากต่อการปลอมแปลง และเพียงพอต่อความต้องการของระบบเศรษฐกิจ เป็นที่เชื่อมั่นและพึงพอใจของประชาชน” เพื่อให้บรรลุถึงพันธกิจดังกล่าว สอบ.จึงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างนวัตกรรม
ความท้าทายของโลกอนาคต
ในขณะที่โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในธุรกิจธนาคารนั่นคือการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงินที่เรียกว่า FinTech เช่น การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (PromptPay) การใช้บัตร Debit ซึ่งจะทำให้การใช้ธนบัตรค่อยๆ ลดลง นโยบายของรัฐบาลต้องการลดต้นทุนด้านการชำระเงินของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายตั้งแต่การเริ่มต้นโรงพิมพ์ธนบัตร ในปี พ.ศ. 2512 โดยผู้บริหารต้องการให้ลดการนำเข้าวัตถุดิบ เริ่มต้นจากการผลิตหมึกพิมพ์ขึ้นมาใช้เอง นั้นคือการเริ่มต้นนวัตกรรมขององค์กร และกระบวนการสร้างนวัตกรรมของสอบ. มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการเครื่องมือการบริหารจัดการอื่นๆ เข้าไปเพื่อสร้างประสิทธิผลให้สูงขึ้น ผ่านการเรียนรู้ ถ่ายทอดและต่อยอด ซึ่งได้สะท้อนถึงค่านิยมหลักข้อหนึ่งนั่นคือ E-Efficiency ใส่ใจประสิทธิภาพ
จุดเริ่มต้นที่กลยุทธ์
เพื่อให้สามารถดำเนินการตามพันธกิจที่กำหนดไว้ ในกระบวนการจัดทำกลยุทธ์ในขั้นตอนของกำหนดทิศทาง ระบุถึงการกระตุ้นและทำให้เกิดนวัตกรรมอย่างชัดเจน โดยกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรม และระบุไว้ในการดำเนินการของผู้นำระดับสูงเพื่อความสำเร็จขององค์กรในการสร้างนวัตกรรมว่าผู้นำระดับสูงต้องดำเนินการมุ่งเน้นนวัตกรรมผ่านโครงการต่างๆ โดยมีแผนงาน R&D เชิงกลยุทธ์ กำหนดให้ฝ่ายวิจัยออกบัตรธนาคาร (ฝวธ.) เป็นแกนสำคัญเพื่อผลักดันการสร้างนวัตกรรม กำหนดให้การปรับปรุงงานเป็นเป้าหมายงานที่สำคัญของบุคลากรทุกคน มีการยกย่องชมเชยและให้รางวัลกับผู้ที่มีผลงานดีเยี่ยม ตลอดจนให้การสนับสนุนโครงการ Kaizen และ Suggestion เพื่อให้เกิดบรรยากาศเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง มีการทบทวนอย่างเป็นระบบในวาระการประชุมของผู้บริหารระดับสูงที่เรียกว่า Organizational Performance Review Agenda (OPeRA) ซึ่งหากพบว่าแนวทางใดไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ คณะผู้บริหารจะพิจารณาแนวทางใหม่เพื่อให้เกิดผลอย่างที่ต้องการ
นอกเหนือจากแผนงานตามทิศทางกลยุทธ์ ยังมีการกระตุ้นให้พนักงานและบุคคลากรจากทุกส่วนงาน เสนอผลงานนวัตกรรม เข้าประกวดแข่งขันในโครงการ“การยกย่องชมเชยและให้รางวัล (Recognition & Awards Program)” ในเวทีขององค์กรใหญ่คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย
กระบวนการสร้างนวัตกรรม
สำหรับคนทำงานสอบ. นวัตกรรมคือความจำเป็นที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรนั้น ต้องใช้กระดาษและหมึกพิมพ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถต่อต้านการปลอมแปลงได้ ซึ่งต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ และมีเพียงไม่กี่ประเทศ และไม่กี่บริษัทในโลกที่สามารถผลิตได้ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ยุคแรกเห็นความจำเป็นที่โรงพิมพ์ธนบัตรจะต้องพึ่งตนเองให้ได้ โดยสามารถผลิตหมึกพิมพ์ธนบัตร ซ่อมเครื่องจักรได้เอง การค้นคว้าและพัฒนา”หมึกพิมพ์ธนบัตร” ได้สำเร็จ นับเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนวัสดุดิบในการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือสามารถพัฒนาหมึกพิมพ์ธนบัตรให้มีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง การส่งเสริมนวัตกรรมจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ระบุไว้ในกลยุทธ์ และมีการออกแบบกระบวนการอย่างเป็นระบบ กระบวนการจัดการนวัตกรรมเริ่มจากการกำหนดโอกาสในการสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์จาก 3 ช่องทางคือ 1) นโยบายเชิงกลยุทธ์จากผู้บริหาร 2) การรับฟังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3) การคิดนอกกรอบ การระดมสมอง การจินตนาการของพนักงานทุกส่วนงาน ซึ่ง ฝวธ.จะเป็นผู้ประสานงานหลักกลั่นกรองโครงการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงเป็นผู้ติดตามและรายงานความคืบหน้าคณะผู้บริหารทุกไตรมาส
ในทุกปีจะมีการนำเสนอโครงการวิจัย ซึ่งเริ่มต้นจากการนำเสนอโครงการจากทุกส่วนงานมาให้ ฝวธ.ทำการประเมิน โดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงซึ่งดูความคุ้มทุน ผลประโยชน์ที่ได้รับ และการประเมินความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด (Cost, Benefits, Intelligent risk) การดำเนินโครงการที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ของบประมาณ ในการติดตามโครงการวิจัยที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการนั้น คณะกรรมการสามารถให้ยุติการดำเนินโครงการได้หากไม่เป็นไปตามแผน หรือเป้าหมายที่กำหนด งานวิจัยทุกโครงการจะต้องนำไปประยุกต์ใช้งานก่อนนำเสนอผลงานประจำปี โดยมีการนำผลการดำเนินงานวิจัยเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อประเมินความรู้ (Knowledge Audit) ในปัจจุบันและอนาคต
ตัวอย่างโครงการนวัตกรรมและผลประโยชน์ที่ได้รับ
- การปรับปรุงเครื่องพิมพ์เส้นนูนรุ่นเก่า ซึ่งพิมพ์เส้นนูนระบบ 3 สี ให้สามารถพิมพ์เป็นระบบ 4 สีได้
- การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรนับคัดให้สามารถใช้งานได้เทียบเท่ากับเครื่องจักรนับคัดในปัจจุบัน
- การศึกษาปรับปรุงเครื่องพิมพ์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วเป็นเครื่องตรวจคุณภาพแผ่นพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดหาเครื่องตรวจคุณภาพใหม่
- การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ธนบัตรสำเร็จรูป ทำให้เกิดนวัตกรรมการสร้างเครื่องกลิ้งรีดเพื่อรีดมุมทั้ง 4 มุมของห่อธนบัตรให้เรียบมนไม่เกิดรอยหยัก หยาบ และ บาดคม ในกระบวนการห่อบรรจุธนบัตร (Cut & Pack) ทำให้การใช้งานสะดวกขึ้น และ ผลงานนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
การปรับปรุงงานแรงเสริมสู่นวัตกรรม
การปรับปรุงงานเป็นเสมือนวัฒนธรรมองค์กร จากค่านิยมในเรื่อง Security มั่นคงปลอดภัยและ Efficiency ใส่ใจประสิทธิภาพ ผู้บริหารระดับสูงสร้างสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงงานเกิดขึ้นทุกระดับและทุกฝ่ายงาน โดยใช้กระบวนการ Process Improvement Steps ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ซึ่งมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ โดยมุ่งลดค่าใช้จ่ายรวมด้านธนบัตร ยืดอายุธนบัตร ลดความแปรปรวนของคุณภาพในการผลิต ป้องกันความผิดพลาดในการจ่ายธนบัตร เพื่อให้ต้นทุนรวมลดลง มีการระบุโอกาสในการปรับปรุงจากช่องทางต่างๆ ได้แก่ กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ กระบวนการจัดการนวัตกรรม การควบคุมกระบวนการ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การรับฟังเสียงของลูกค้า รวมถึงจากกิจกรรมไคเซ็น กิจกรรมเสนอแนะ และการจัดการความรู้
สอบ. มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานหลักอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพิมพ์ธนบัตร (รพธ.) นำแนวคิด Lean , Six Sigma มาใช้ในการปรับปรุงผลการดำเนินการของกระบวนการ เพื่อลดความแปรปรวนของกระบวนการ ในปี พ.ศ. 2554-2556 รพธ. สามารถลดอัตราชำรุดในขั้นงานพิมพ์สีพื้นและงานพิมพ์เส้นนูน ลดการใช้หมึกพิมพ์ OVI สำหรับงานพิมพ์เส้นนูนของชนิดราคา 1000 บาท ประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ในปี พ.ศ. 2555 – 2557 ฝ่ายบริหารจัดการธนบัตร (ฝจธ.) ได้มีการปรับปรุงเครื่องจักรนับคัดและกระบวนการนับคัดธนบัตร ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการนับคัดของเครื่องจักรจาก 20 ฉบับต่อวินาที เป็น 30 ฉบับต่อวินาที
KM เติมเต็มนวัตกรรม
การจัดการความรู้ของสอบ.เริ่มในปี พ.ศ. 2540 ตั้งแต่เรื่องการจัดการความรู้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักเช่นกัน โดยให้พนักงานนำความรู้จากการไปอบรม ความรู้จากผู้ปฏิบัติงาน ทำเป็นรายงานเพื่อให้คนในองค์กรได้เรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอด นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปรับปรุงงานโดยเฉพาะการทำงานเครื่องจักรในโรงผลิตธนบัตร ความสำเร็จจากการปรับปรุงงานที่ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนางานของตนเองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้มีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเมื่อมีการนำเอาเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร
การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพความสามารถสู่ความเป็นเลิศ มีผู้รับผิดชอบหลักคือ ฝวธ. กับฝ่ายบริหารและพัฒนาบุคคล (ฝบบ.) ดำเนินการจัดการความรู้ อย่างเป็นกระบวนการ เริ่มจาก
- การกำหนด หรือทบทวน KM Master Plan and Direction โดยคณะผู้บริหาร ซึ่ง ฝวธ. และ ฝ่ายกลยุทธ์และวางแผน (ฝกผ.) ร่วมสนับสนุนข้อมูลเชื่อมโยงกับทิศทางเชิงกลยุทธ์
- Knowledge Audit เป็นการประเมินความพร้อมขององค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในการสร้างความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ความรู้ รวมถึงความรู้ที่จำเป็นซึ่งเป็นความต้องการในอนาคต
- Review Tool / Infrastructure / Approach เป็นการทบทวนกลไก เครื่องมือ ช่องทางและแนวทางที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การจัดการความรู้มีประสิทธิผลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- Deployment เพื่อทำให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายงานและทุกพื้นที่ของสอบ. มีการจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิผล สอดคล้องกับ KM Master Plan and Direction รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
- KM Assessment ประเมินความสำเร็จและบรรยากาศการจัดการความรู้ เพื่อระบุโอกาสในการปรับปรุง
- การรายงานสรุปผลการบรรลุเป้าหมายด้าน KM ที่กำหนดไว้ โดยมีการติดตามระหว่างปี เพื่อเร่งรัด แก้ไขหรือปรับปรุงอย่างทันท่วงที
การจัดการความรู้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจากการต่อยอดองค์ความรู้ภายในองค์กร ซึ่งทำให้สอบ.บรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ทั้ง 3 ด้านคือ
- ระบบการบริหารจัดการธนบัตรของประเทศที่มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและเป็นที่เชื่อมั่น เห็นได้จากตัวชี้วัดเช่น ดัชนีสภาพธนบัตรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนธนบัตรปลอมต่อธนบัตรหมุนเวียนที่มีแนวโน้มต่ำลง ความพึงพอใจของธนาคารพาณิชย์ต่อบริการรับ-จ่ายธนบัตร
- การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร ตัวชี้วัดได้แก่ ผลการประเมิน Multi Skill ที่สูงขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน
- กระบวนการภายในที่เป็นเลิศ ผลลัพธ์ได้แก่ สัดส่วนแผนปฏิบัติการที่สำเร็จตามเป้าหมาย
เพราะทุกอณูในบรรยากาศการทำงาน คือการก้าวเดินด้วยนวัตกรรม จึงทำให้สอบ. สามารถทำหน้าที่ในการรักษาระบบความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็ง และผลสำเร็จจากการพัฒนาศักยภาพองค์กรอย่างต่อเนื่องบทพิสูจน์ที่น่าภาคภูมิใจก็คือการได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) ถึง 2 ปีซ้อนในปี พ.ศ. 2557 และ 2560 นั่นเอง