30 พฤศจิกายน 2017

เมื่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้เกิดความเปลี่ยนแปลง การศึกษา “แนวโน้ม” หรือ Trends และ “ประเด็นอุบัติใหม่” หรือ Emerging Issues จึงจะช่วยกำหนดทิศทางในการพัฒนาองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนบนโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากกล่าวถึงอนาคต ทุกคนก็จะพูดถึง “แนวโน้ม” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่นักอนาคตวิทยานำมาใช้ในการสร้างแบบจำลอง เพื่อคาดการณ์ทางเลือกในอนาคต  ซึ่งแนวโน้มที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องสามารถวัดค่าได้โดยการเก็บข้อมูลในเชิงปริมาณ  นำมาจัดทำเป็นกราฟเส้น เพื่อศึกษารูปร่างและทิศทางของเส้นกราฟว่าเพิ่มขึ้น  ลดลง  หรือ คงที่นั่นเอง 

   

ดังนั้นแนวโน้มคือการเปลี่ยนแปลงของอดีตเมื่อเวลาผ่านไป  เช่น ราคาที่เพิ่มขึ้นของบาร์เรลของน้ำมัน  การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้ iPhone และการลดลงของบุคคลที่มีรายได้ปานกลาง  ปัจจุบัน พวกเราส่วนใหญ่มีการพูดถึงแนวโน้มราวกับว่า มันเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแน่ๆในอนาคตมากกว่าการอธิบายถึงอดีตที่ผ่านมา  เนื่องจากสมองของมนุษย์มีความสามารถในการสร้างแบบแผนที่สมบูรณ์แบบ  เมื่อเห็นกราฟที่มีแนวโน้มดีเล็กน้อย  ก็คิดว่าเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่นั้นจะมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต   ทั้งที่เป็นมันเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น  ซึ่งบ่อยครั้งที่การคาดการณ์อาจไม่ถูกต้อง เพราะมีจุดหักเห หรือเปลี่ยนแปลง จากสาเหตุต่างๆ อาทิ

  • แบบจำลองที่ใช้ในการคาดการณ์ไม่ครอบคลุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
  • แบบจำลองที่ใช้ในการคาดการณ์ไม่ครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรถูกต้องทั้งหมด
  • ความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างตัวแปรที่ถูกเลือก มีการเปลี่ยนแปลงและทำลายรูปแบบในอดีต
  • ประเด็นที่เรากำลังจะสร้างแบบจำลองทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้

หนึ่งในวิธีการที่การศึกษาอนาคตพยายามแก้ไขปัญหาการคาดการณ์แนวโน้มเหล่านั้น  คือการมุ่งเน้นเฉพาะบางส่วนของการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจมีบทบาทในการบิดเบือนหรือทำลายแนวโน้มทางประวัติศาสตร์  ที่เรียกว่า “ประเด็นอุบัติใหม่”

 Emerging Issues

จากภาพ s-curve จุดที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนๆ นั้น คือ การระบุประเด็นอุบัติใหม่ ซึ่งถ้ายังเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีมหาวิทยาลัย หรือ ศูนย์วิจัยนำไปศึกษา  ทำให้บางเรื่องอาจจะค่อนข้างแน่นอน เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีบางเรื่อง/ชิ้นส่วนบางอย่าง อยู่ระหว่างการทดลองในห้องปฏิบัติการที่ไหนสักแห่ง  หรือมีการอภิปรายหรือพูดถึงเรื่องนั้นจากนักการเมืองหรือนักคิดบางท่าน    สำหรับบางเรื่องที่มีข้อมูลน้อยแต่ถ้าน่าสนใจและมีโอกาสเป็นไปได้ ก็จะมีการติดตามพัฒนาการของเรื่องนั้น  อย่างไรก็ตามประเด็นอุบัติใหม่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต  ตัวอย่างของประเด็นอุบัติใหม่ เช่น องค์กรอัตโนมัติที่ใช้ซอฟแวร์และหุ่นยนต์แทนมนุษย์   การเปลี่ยนแปลงของสถาบันการศึกษาแบบดั้งเดิมจากบทบาทการนำของคนรุ่นใหม่อย่าง Millennial generation   สิทธิความเป็นพลเมืองของหุ่นยนต์  และการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของหุ่นยนต์ เป็นต้น

จะเห็นว่า นักอนาคตวิทยาใช้ทั้ง “แนวโน้ม” และ “ประเด็นอุบัติใหม่” ในงานของพวกเขา  เพื่อพยายามจะทำความเข้าใจและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในสังคม  ซึ่งทั้ง 2 คำมีความสำคัญในการสร้างแบบจำลองอนาคตและบ่อยครั้งที่ถูกใช้ร่วมกัน  ทั้งที่มันมีความแตกต่างกันมากไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด และวิธีจัดการ   

ที่มา : https://visionforesightstrategy.wordpress.com/2016/04/03/trends-vs-emerging-issues-what-is-the-difference/




Writer

โดย อุษารัตน์ พงษ์สถิตย์

ผู้ชำนาญการ ส่วนกลยุทธ์และแผน
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ