20 มีนาคม 2017

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนไปสู่อนาคตด้วยขุมกำลังทางปัญญา แต่ทว่าระบบการศึกษาทั่วโลกกำลังเกิดปัญหาที่ไม่สามารถผลิตคนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงกับงานในอนาคต มาดูกันว่าเราจะมีแนวทางเตรียมความพร้อมทางการศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร

รายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า Realizing Human Potential in the Fourth Industrial Revolution โดย World Economic Forum ระบุถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาของโลก ที่ไม่สามารถเตรียมความพร้อมเด็กรุ่นใหม่สำหรับการทำงานในอนาคต โดยยังระบุถึง แนวทางการปฎิบัติที่จะทำให้ระบบการศึกษา และการฝึกอบรม มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องไปกับงานในอนาคต

การฝึกอบรมงานใหม่ๆ

เมื่อเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบธุรกิจทั้งในทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาค เราจึงควรสร้างประเภทงานใหม่ๆ และจัดการงานเก่าๆไปไว้ในที่ที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ระบบการสนับสนุนการศึกษาและฝึกอบรมทั่วโลกกลับไม่ได้ตอบสนองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า จะมีสองในสามของเด็กระดับประถมศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน จะไม่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต

ในรายงานนี้ยังได้นำเสนอการอภิปรายของผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย สหภาพแรงงานสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ โดยพวกเขาให้คำแนะนำว่ารัฐบาลและภาคเอกชน ถึงการร่วมมือกันในเรื่องสำคัญ เพื่อให้เด็กๆมีการเตรียมพร้อมที่เหมาะสมสำหรับการทำงานในอนาคต 8 เรื่องสำคัญดังนี้

  1. มุ่งเน้นการศึกษาตั้งแต่วัยเยาว์ : การปฏิรูปการศึกษาควรเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยควรเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ การจัดสรรเตรียมการเรื่องการดูแลเด็กเล็กสำหรับผู้ปกครองที่ต้องทำงานนอกบ้านจะเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา
  2. ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา : หลักสูตรฝึกอบรมจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในทักษะทั้งงานที่เฉพาะเจาะจงและงานทั่วไป เช่น ทักษะการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการโครงการ เป็นต้น ที่ท้าทายคือการทำให้หลักสูตรเหล่านี้มีการพัฒนาสม่ำเสมอและตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก มีการอับเดทหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นกรอบแนวทางกับโรงเรียนในท้องถิ่นในการปรับใช้ได้ด้วยตัวเอง
  3. เปิดรับการสอนรูปแบบใหม่ๆ : รายงานนี้ยังสนับสนุนในเรื่องการฝึกอบรมเรื่องนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เปิดกว้างให้การเรียนการสอนแบบทางเลือก และสนับสนุนการทดลองเทคนิคใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น the New York City Department of Education ได้สร้าง “Lab” schools เพื่อสนับสนุนให้มีการคิดค้นการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ หรือในประเทศกานา สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ที่ริเริ่มหลักสูตรระยะสั้น ในการสอนแบบเพื่อนสอนเพื่อน (peer-to-peer teaching) การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based learning) และการเรียนรู้ผ่านเกม (gamification)
  4. การให้ครูออกจากหอคอยงาช้าง: เพื่อเชื่อมให้ระบบการศึกษาและธุรกิจเข้าถึงใกล้ชิดกันมากขึ้น ในรายงานนี้จึงแนะนำโครงการ teacher “externships” หรือ ให้ครูได้ออกไปฝึกงานภายนอก ฝึกในธุรกิจต่างๆ ให้คำปรึกษาในที่ทำงาน และร่วมฝึกอบรมครูกับภาคเอกชน เป็นต้น
  5. ให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงโลกแห่งความจริงในการทำงาน: ในขณะเดียวกันนักเรียนก็ควรได้มีโอกาสสัมผัสกับชีวิตจริงของการทำงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เช่นจากการฝึกงานและการฝึกอาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้พวกเขาได้เห็นตัวเลือกของอาชีพที่หลากหลาย และรู้ว่ามีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นต้องมี
  6. รอยด่างพร้อยของอาชีวศึกษา: อาชีวศึกษาและการศึกษาทางด้านเทคนิคมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างยิ่งแต่กลับถูกเพิกเฉย และมักจะถูกมองเป็นทางเลือกที่รองลงมา The World Economic Forum ได้สนับสนุนในการส่งเสริมเส้นทางสายวิชาชีพและทางเทคนิคอย่างเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษาที่มีความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ระบบการฝึกอบรมวิชาชีพของเยอรมนี จะจัดให้เด็กฝึกหัดแบ่งวันของพวกเขาเป็นช่วงการเรียนการสอน และการฝึกงานที่บริษัท เด็กฝึกหัดเหล่านี้จะได้รับค่าจ้างต่อเนื่องไปถึงสองสามปี แนวคิดของโครงการนี้ไม่เพียงแค่สร้างความสามารถพิเศษ แต่ทำให้ การเชื่อมของระบบการศึกษากับโกลของการทำงานจริงนั้นราบรื่นขึ้น
  7. ความชำนาญทางดิจิตอล: ทักษะด้านดิจิตอลจะกลายเป็นทักษะพื้นฐานของหลากหลายอาชีพ แต่ “ความชำนาญทางดิจิตอล” ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด

ในรายงานสรุปยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมุ่งเน้นเรื่องไอซีทีมากขึ้นในการฝึกอบรมครู และในสถานที่ฝึกงาน เพื่อแก้ไขวิกฤตทักษะดิจิตอลที่กำลังเติบโต ประเทศอินเดียเป็นตัวอย่างการประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ โดย the National Association of Software and Services Companies (NASSCOM) ได้ร่วมมือกับ NGOs และรัฐบาลของอินเดียในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ Digital Literacy Centres ทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้ความรู้ด้านดิจิตอล

  1. การศึกษาที่ไม่มีคำว่าสิ้นสุด: จากการเปลี่ยนแปลงที่อย่างรวดเร็วของตลาดงาน ทำให้แรงงานจะไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่ทักษะด้านเดียว หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะสามารถทำงานในอาชีพได้ในระยะยาว ในรายงานนี้ยังได้สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจต่อพนักงานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อให้พวกเขายังคงสามารถพัฒนาทักษะ หรือปรับตัวกับบทบาทใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่นในสิงคโปร์ พนักงานแต่ละคนจะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับการฝึกอบรมประจำปี

ที่มา : https://www.weforum.org/agenda/2017/01/ways-to-prepare-kids-for-jobs-of-future




Writer

โดย เปรมวดี ศรีพงษ์

เจ้าหน้าที่ออกแบบสื่ออาวุโส ส่วนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ