1 กุมภาพันธ์ 2017

โลกใบนี้กำลังก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิต ตลอดจนการทำงานก็ถูกปรับโฉมไปด้วยเช่นกัน และเมื่อความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอยู่เสมอ การศึกษา “ข้อมูล” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คุณพิจารณาตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

จากรายงานล่าสุดของ ดร. แอนดรู แชมเบอร์เลน (Dr. Andrew Chamberlain) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดหางาน Glassdoor เกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการจ้างงานและตลาดแรงงานในปี 2017 เขาคาดการณ์ถึงแนวโน้ม 5 กระแส (trend) เกี่ยวกับรูปแบบการทำงานที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1. การวิเคราะห์ข้อมูลในงาน HR จะมีความซับซ้อนมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันหลายบริษัทได้ว่าจ้างนักวิเคราะห์ข้อมูลมาเพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตลาดและระบบโลจิสติกส์ แต่ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ดร.แชมเบอร์เลน คาดการณ์ว่าแผนก HR จะจ้างนักวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลเรื่องความผูกพันขององค์กร ผ่านการใช้ประโยชน์ของ A/B testing (ซึ่งเป็นวิธีการเปรียบเทียบข้อมูล 2 เวอร์ชั่น ว่าอันไหนมีสมรรถนะสูงกว่ากัน) เพื่อสะท้อนทัศนคติของพนักงานที่มีต่อองค์กร

2. มีการใช้ระบบอัตโนมัติในแทบทุกงาน

แม้ว่าเทคโนโลยีจะไม่ได้เข้ามาแทนที่การทำงานทั้งหมด แต่ในหลายๆอุตสาหกรรม ทั้งการค้าปลีก การเงิน การขนส่ง ตลอดจนในอุตสาหกรรมขนาดย่อม ระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ดร.แชมเบอร์เลน แนะนำว่า ทั้งระดับตัวบุคคลและองค์กรควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน

3. ไม่คาดหวังเกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับจากที่ทำงาน

จากบทวิเคราะห์เกี่ยวกับโลกธุรกิจใหม่มีการวิภาควิจารณ์บ่อยครั้งเกี่ยวกับการให้สวัสดิการแก่พนักงาน เช่น โต๊ะปิงปอง วีดีโอเกม อาหารกลางวัน สปา และหลายๆรูปแบบที่มากกว่าเงินทอง ในปีหน้า ดร.แชมเบอร์เลน มองว่าสวัสดิการต่างๆเหล่านี้จะลดลง แต่องค์กรจะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากขึ้น เช่น การเพิ่มวันลาหยุด และแพ็กเกจการประกันสุขภาพ

4. มีความพยายามในการแก้ปัญหาความแตกต่างเรื่องเพศกับค่าจ้าง

ดร.แชมเบอร์เลน คาดการณ์ว่า ในปี 2017 หลายบริษัทจะมีความโปร่งใสเกี่ยวกับการจ่ายเงินให้พนักงานรวมถึงการให้ความรู้พนักงานเพิ่มมากขึ้นด้วย การจ่ายค่าจ้างจะมีความเสมอภาคมากขึ้น จากการสำรวจของบริษัท Glassdoor พบว่า พนักงานอเมริกัน 67% ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายค่าจ้างที่แตกต่างกันในงานแบบเดียวกันสำหรับเพศชายและเพศหญิง

5. รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนโฉมไป (gig economy เป็นรูปแบบสัญญาจ้างงานชั่วคราวระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้ประกอบการอิสระ)

สำหรับปีที่กำลังจะมาถึง ดร.แชมเบอร์เลน เขียนไว้ว่า ในขณะที่ Airbnb และ Uber เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แต่ในความเป็นจริงการจ้างงานระหว่างองค์กรกับผู้ประกอบการอิสระไม่ได้ขยายตัวมากอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามการจ้างงานลักษณะนี้ช่วยให้รูปแบบการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและคนสามารถทำงานได้ในทุกที่ ส่งผลให้ได้รับความแพร่หลายในวงกว้าง

ที่มา : https://www.entrepreneur.com/article/286711

 




Writer

โดย รติกร บัวคำ

- นักวิชาการเพิ่มผลผลิต ส่วนรณรงค์ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
- มีความเชี่ยวชาญ ในด้านการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในองค์กร เทคนิคการรณรงค์และการจัดการความรู้เพื่อการเพิ่มผลิตภาพ และการให้คำปรึกษาแนะนำในองค์กรต่างๆ อาทิ บมจ.พรีเมียร์ โพรดักส์ บมจ.ไทล์ท้อป อินดัสตรี้ เป็นต้น
- ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ส่วนงานพัฒนากระบวนการผลิต บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)