สสว. จัดสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว (Green Business) สำหรับ MSME เพื่อความยั่งยืน ปีงบประมาณ 2567 และการอบรมยกระดับ Go Green 4 มิติ
สสว. และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว (Green Business) สำหรับ MSME เพื่อความยั่งยืน ปีงบประมาณ 2567 และการอบรมยกระดับ Go Green 4 มิติ เพื่อสร้างทักษะในการดำเนินธุรกิจสีเขียวสู่ความยั่งยืน ในวันที่ 9-10 กันยายน 2567 ณ ห้องวีนัส ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนะกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการสัมมนา สพช. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริม MSME ไทย สามารถพัฒนาธุรกิจให้ขยับขึ้นไปสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น มีทักษะความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยผอ.สพช. ได้สรุปภาพรวมว่าในปี 2567 มีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 580 ราย ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยผู้ประกอบการภายใต้โครงการ ได้รับการประเมินศักยภาพธุรกิจ และแนวทางการยกระดับองค์กรตามแนวทางธุรกิจสีเขียว Green SME Index ซึ่งได้พัฒนาระบบประเมินดังกล่าว
เพื่อให้ SME หรือหน่วยงานที่สนใจใช้เกณฑ์การประเมินธุรกิจตามแนวคิดธุรกิจสีเขียว ด้วยวิธี Self-Assessment เพื่อได้ทราบจุดแข็ง-จุดอ่อนของธุรกิจ และได้รับการอบรมยกระดับความรู้ สร้างทักษะในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางธุรกิจสีเขียว พร้อมได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษา เพื่อยกระดับในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทางสากล ในมิติต่าง ๆ อาทิเช่น การจัดการความยั่งยืน (Sustainability Management) การจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ระบบบริหารจัดการในองค์กร (Governance) การใช้นวัตกรรม (Innovation) เป็นต้น พร้อมกล่าวขอบคุณสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ในปีนี้
นางสาวปณิตา ชินวัตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวเปิดงาน สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว แรงกดดันทางการค้าจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญเข้มงวดมากขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564–2565 และปี 2566 สสว. มีความมุ่งหวังให้ MSME เข้าใจ green business และสามารถนำไปลอง ปรับใช้กับธุรกิจได้ สสว. จึงเตรียมเครื่องมือ โดยจัดทำ GREEN SME INDEX ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกลั่นกรองตัวชี้วัดทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอวช. SDG MOVE คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สภาอุตสาหกรรม รวมถึงธนาคารต่าง ๆ และในปี 2567 สสว.ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติยิ่งทำให้การทำงานเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบการ MSME จะได้รับการประเมินธุรกิจตามแนวคิดธุรกิจสีเขียว ผ่านการใช้เครื่องมือ Green SME Index Self–Assessment และที่ปรึกษาได้ให้คำปรึกษาตามผลคะแนนประเมิน เพื่อให้ MSME ได้ปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ Green Business ต่อไป
การสัมมนา “Go Green 4 มิติ” ในครั้งนี้ MSME จะได้รับความรู้และการนำเสนอกรณีศึกษาจากผู้มีประสบการณ์ครอบคลุมใน 4 มิติ ได้แก่ มิติการจัดการความยั่งยืน (sustainability) มิติห่วงโซ่คุณค่า (value chain) มิติการบริหารจัดการธรรมาภิบาล (governance) และมิตินวัตกรรม (innovation) อีกด้วย จะทำให้ MSME ได้ตระหนักและทราบแนวทางการเตรียมความพร้อม รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่จะกระทบในอนาคต นอกจากนี้ สสว. มุ่งมั่นผลักดันผู้ประกอบการนำธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ยกระดับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในสถานประกอบการ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การขึ้นทะเบียนและรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีค่าบริการค่อนข้างสูงมาร่วมกันช่วยให้คำปรึกษาผ่าน โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (SME ปังตังค์ได้คืน) ทั้งนี้ สสว.จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้การพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่าย ในสัดส่วน 50-80% ซึ่งในอนาคต คาดหวังว่าจะมีการใช้ Certificate ที่ได้รับจากการประเมินด้วย GREEN SME INDEX ใช้เป็นแต้มต่อให้ MSME ในการใช้บริการ BDS ได้สะดวกมากขึ้น
สสว. มุ่งมั่นผลักดัน MSME ให้มีความพร้อม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘สมดุล’