สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หนึ่งในพันธมิตรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ร่วมงานเปิดโครงการ “SME Green Productivity” ยกระดับเพิ่มผลิตภาพ SME อุตสาหกรรมสีเขียว
บรรยากาศงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการสินเชื่อ SME Green Productivity ยกระดับเพิ่มผลิตภาพ SME สู่อุตสาหกรรมสีเขียว” โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank พร้อมด้วย นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตร ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ สำนักงานใหญ่ SME D Bank เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิด “โครงการสินเชื่อ SME Green Productivity ยกระดับ SMEs สู่อุตสาหกรรมสีเขียว” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SME ไทย ยกระดับเพิ่มผลิตภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ “Green Industry” ซึ่งจะสร้างประโยชน์ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น ลดต้นทุนธุรกิจและสามารถปรับตัวเข้ากับกฎกติกาการค้าใหม่ระดับสากลได้ ควบคู่กับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ ภาคอุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชน เกิดการสร้างงานกระจายรายได้ นำไปสู่สังคมแห่งความสุข สร้างรากฐานแข็งแรงอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับเพิ่มผลิตภาพแก่เอสเอ็มอีให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ผ่านโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เบื้องต้น 11 แห่ง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันยานยนต์ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึง “การพัฒนา” เติมทักษะความรู้ยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจ ควบคู่กับ “เครื่องมือทางการเงิน” (Climate Finance) ด้วยพาเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปพัฒนา ปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีผลิตภาพสูงขึ้น พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนให้ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล