พลังของคำชื่นชมที่หัวหน้ามักละเลย
โดย คุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการ สลิงชอท กรุ๊ป
“คุณชมลูกน้องครั้งสุดท้ายเมื่อไร?” คำถามนี้ยังตอบง่ายกว่า
“ลูกน้องรู้สึกว่าคุณชมพวกเขา ครั้งสุดท้ายเมื่อไร?”
เพราะบางครั้งคำชมของคุณ คนฟังอาจไม่ได้รู้สึกว่าถูกชมด้วยซ้ำ เช่น ขอบคุณ ดีมาก จบ สำหรับคุณนั่นคือชมแล้ว แต่สำหรับลูกน้อง พวกเขาอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น และการที่ลูกน้องไม่รู้สึกว่าทำงานแล้วได้รับคำชื่นชม ก็อาจทำให้หมดกำลังใจได้
งานวิจัยของ Gallup พบว่า คำชื่นชม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนมี Engagement กับองค์กรและมีใจจะอยู่กับเรานานขึ้น
คำชมมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
- สร้างกำลังใจ : ทำให้อยากจะทำให้ดีแบบนี้อีกเรื่อยๆ
- ช่วยเหลือกัน : พอทำงานด้วยกันแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี ภาพรวมออกมาได้รับคำชม ทุกคนก็มีใจอยากช่วยกันให้งานออกมาดีอีก
- ลดการลาออก : เมื่อหัวหน้าเห็นความสำคัญ คนก็อาจรู้สึกว่าอยากลาออกน้อยลง เพราะทำดีแล้วมีคนเห็น
ควรชมอย่างไรให้ดูเป็นธรรมชาติ
- ชมให้ยาวขึ้น อย่าบอกแค่ว่าดีมาก แต่ให้บอกด้วยว่าดียังไง เช่น เธอเตรียมข้อมูลมาดีมาก ลูกค้าอ่านแล้วเข้าใจง่าย ได้รับคำชมมาในที่ประชุม พี่เลยเอามาชมต่อ เป็นต้น
- ชมอย่างจริงใจ ไม่ต้องชมให้อลังการเกินความจำเป็น เพียงแค่ใส่ความตั้งใจและความจริงใจเข้าไป แค่นั้นพอ
- ชมต่อหน้าคนอื่น นอกจากจะเอ่ยคำชมกับเจ้าตัวแล้ว ยังควรชมให้เพื่อนร่วมงานหรือคนที่เกี่ยวข้องฟังด้วย เขาจะยิ่งภาคภูมิใจมากขึ้น
- ชมแล้วยังไม่ต้องรีบติ แบ่งแยกการชมกับการติออกจากกัน ถ้าชมด้วยติด้วย ลูกน้องจะจำได้แต่เรื่องที่โดนตำหนิ และคิดว่าการชมนั้น เป็นเพียงแค่ลมปาก เหมือนการทาแอลกอฮอล์ให้เย็นๆ ก่อนปักเข็มฉีดยาลงไป เท่านั้น
ลองหาจังหวะชื่นชมลูกน้องดู ถือเป็นการเติมกำลังใจในการทำงานให้กัน ❣️