เคล็ดลับการทำธุรกิจให้อยู่รอดทุกวิกฤติ มุ่งสร้างผลิตภาพอย่างยั่งยืน ในแบบฉบับ TOYOTA
โดย ดร.ศิริพงศ์ โพธลักษณ์
รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ถ้าเจอเสือ ทำอย่างไรให้อยู่รอด? หากเราวิ่ง ก็คงไม่มีทางรอด แต่ถ้าเราอ่านสถานการณ์ออกว่าสิ่งที่กำลังเจอคืออะไร และมีความพร้อมที่จะไปต่อข้างหน้า สิ่งนี้จะทำให้เราอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
โตโยต้าก่อตั้งมากว่า 61 ปีแล้ว ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 17,000 กว่าคน โรงงานสามารถผลิตรถได้เกือบ 800,000 คันต่อปี ซึ่งที่ประเทศไทยเป็นฐานใหญ่ของการส่งออก และรถโตโยต้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก ล้วนส่งออกมาจากโรงงานไทย ซึ่งปี 2024 นี้เอง โตโยต้าได้ย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาอยู่ที่นี่ แน่นอนว่ายอดการส่งออกก็ตกมาอยู่ที่ประเทศไทยเช่นกัน
การได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในแง่ของการที่ได้เป็นฐานผลิตหลัก นั้นหมายถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของแรงงานไทย ผลของการผลักดันจากทุกฝ่ายทำให้เกิด productivity ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และจากนี้ โตโยต้าเองต้องรักษามาตรฐานและพัฒนาผลิตภาพต่อไป
ช่วงที่ผ่านมาโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีสถานการณ์หลายอย่างที่เข้ามาทดสอบว่าจริงๆ แล้ว องค์กรมีความสามารถที่จะอยู่รอดหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ทำให้โตโยต้าผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ มาได้ นั่นคือ ‘การรู้จักปรับตัวให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน‘
เคล็ดลับที่ช่วยให้โตโยต้าฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ มาได้ มีดังนี้
ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับธุรกิจ
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง องค์กรต้องรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง รวมถึงคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ปัจจุบันโตโยต้ามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและการขับขี่ที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
จากเหตุการณ์หลายอย่างทำให้หลายบริษัทไม่สามารถเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้นได้ ทั้งหมดจึงมุ่งมาที่ประเทศไทย องค์กรต้องต่อยอดจากโอกาสตรงนี้ให้ได้ แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน ทั้งในด้านนโยบายหรือการลงทุน รวมถึงมาตรการต่างๆ มารองรับ รวมถึงเตรียมแรงงานให้พร้อม ซึ่งประเทศไทยมีกำลังฝีมือไม่แพ้ใคร
สร้างคุณค่าของธุรกิจให้แข็งแรง
การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการอยู่รอด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยกำลังและเวลาในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โตโยต้าเองมีการพัฒนาส่วนนี้อยู่เสมอ บริษัทต้องสร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจ โดยที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม
ให้ความสำคัญกับ Productivity อย่างต่อเนื่อง
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เช่น ในประเทศจีน ช่วงของการระบาดโควิด 19 ที่หลายประเทศหยุดชะงัก แต่จีนได้มีการปรับปรุง พัฒนา productivity ในแง่ของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี ขึ้นมามากมายและเมื่อจบช่วงโควิดก็ปล่อยออกสู่ทั่วโลก องค์กรเองก็ต้องหมั่นพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
หากธุรกิจจะ transform ไปสู่ การมี productivity ที่ยั่งยืน องค์กรต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แบบที่มีประสิทธิภาพและสเถียรภาพ ผู้บริหารและพนักงานต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ แนวคิดที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่ออนาคต “เปิดใจ วางแผน และเริ่มต้นลงมือ” เริ่มจากปรับ mindset ของทุกคนและเริ่มตั้งแต่วันนี้