8 กุมภาพันธ์ 2024

Thailand Productivity Forum 2024: The Path to Sustainable Success ชวนจับตามองอนาคตองค์กรและบุคลากรไทย กับก้าวต่อไปภายใต้เป้าหมายการสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน 

 

 

31 มกราคม 2567 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้จัดงาน Thailand Productivity Forum 2024: The Path to Sustainable Success ภายใต้วาระครบรอบ 30 ปี โดย นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความตั้งใจในการจัดงานครั้งนี้ ที่นอกเหนือจากการรวบรวมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร ควบคู่กับยกระดับศักยภาพแรงงานไทยแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำเป้าหมายที่จะส่งมอบคุณค่า และแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภาพ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน 

ฉายภาพอนาคตอุตสาหกรรมไทย ไปต่ออย่างไรในโลกที่ต้องแข่งขัน ?

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ อุตสาหกรรมไทยต้องเติบโตและปรับรูปแบบสู่ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนเคียงข้างชุมชน” โดยนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมขยายโอกาสในการแข่งขัน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต 

ดัน อุตสาหกรรมการเกษตรสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve
อาทิ เกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ที่มุ่งพัฒนาให้เกษตรกรกลายเป็น
‘นักธุรกิจเกษตร’ สามารถนำองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรม
มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำเกษตรกรรม
เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และผลักดันให้เกิดการต่อยอดอย่างสร้างสรรค์
  

พร้อมเสริมย้ำว่าจากนี้ไป แนวทางการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมและประเทศไทย จะเกิดขึ้นภายใต้มุมมอง Sustainable Productivity ซึ่งไม่เพียงแต่คำนึงถึงความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึง คน และ ชุมชน ผ่านแนวทางในการขับเคลื่อนต่าง ๆ เช่น การใช้แนวคิด Green Productivity เพื่อขับเคลื่อน การสนับสนุนความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity) และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการกระจายรายได้ให้กับคนและชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน 

Green Productivity ภายใต้การผลักดันขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 

Dr.Indra Pradana Singawinata เลขาธิการ องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งขับเคลื่อนผลิตภาพเพื่อเร่งรัดการพัฒนาทางสังคม และเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย หนึ่งในประเทศสมาชิก กำลังจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการยกระดับ Green Productivity หรือ การเพิ่มผลิตภาพสีเขียวด้วยการจัดตั้ง ศูนย์รับรองความเชี่ยวชาญ (Center of Professional Certification on Green Productivity Specialists) ภายใต้การดูแลโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยได้รับการรับรองจากองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย พร้อมตอกย้ำพันธกิจของสถาบัน และยกระดับการเพิ่มผลิตภาพไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 

‘บางจากฯ & โตโยต้า’ ถอดรหัสผู้นำ ก้าวข้ามทุกความท้าทายด้วยผลิตภาพ  

‘Productivity’ คือ คำตอบของการก้าวไปสู่ความยั่งยืน 2 องค์กรชั้นนำ ทั้ง บางจากฯ และ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ต่างให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกมิติขององค์กร  

คิดแล้วต้องทำ นำองค์กรสู่เป้าหมาย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกเล่าถึงเป้าหมาย ภายใต้การปรับเปลี่ยนตนเองจากโรงกลั่น สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในฐานะผู้นำองค์กร จึงต้องเป็นผู้ที่ริเริ่ม สามารถผลักดันแนวคิด และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในองค์กรให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรม หรือปลูกฝังบุคลากรให้เข้าใจ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีผลิตภาพ โดยยึดหลักการสร้างสมดุลในการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ 

โตโยต้า ชี้ Productivity อยู่ในทุกกระบวนการ ดร.ศิริพงศ์ โพธลักษณ์ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึง Productivity หรือ ผลิตภาพ ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขทุกปัญหาที่องค์กรต้องพบเจออย่างยั่งยืน พร้อมเสริมย้ำว่า Productivity ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการทรัพยากร แต่อยู่ในทุกเรื่อง และทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ การทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพสูง ไปจนถึง การสร้าง output และสร้างคุณค่า (Value Added) เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์/บริการ ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า 

แรงงานไทย กับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตามอง  

ท่ามกลางกระแส Digital Transformation ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และความผันผวนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ Gen AI รวมไปถึงวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในช่วงการบรรยาย Workforce Excellence ของงาน Thailand Productivity Forum 2024: The Path to Sustainable Success จาก นายทัส จันทรี TAS Consulting Partner และ ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา ประธาน People Management Group แสดงให้เห็นว่า แรงงานไทยในอนาคตจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าเดิมทั้งในด้านทักษะความรู้ และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทาย

  • AI จะมาแทนที่มนุษย์ ? แม้ในวันนี้ AI อาจไม่สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่แน่นอนว่า คนทำงานจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจตามมาจากการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยี เช่น เพิ่มทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยี หรือรู้จักการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อยกระดับผลิตภาพของการทำงานให้สูงขึ้น รวมถึงการทำความเข้าใจเรื่อง Digital Literacy 
  • คนทำงานยุคใหม่ต้องมี Agility ที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้องค์กรและบุคลากรไทย ต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และไม่ยึดติดกับกรอบทำงานรูปแบบเดิม ๆ
  • Continuous Learning ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้าง Productivity to People คน หรือ บุคลากรในองค์กรจะต้องได้รับโอกาสให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง องค์กรควรวางแผนพัฒนาบุคลากร ทั้งในแง่ของการ Re-Skill, Up-Skill ให้เก่งขึ้น รวมไปถึงการสร้าง Sense of Ownership เพื่อให้การทำงานนั้นเกิดผลิตภาพอย่างแท้จริง  

 

รับชมงาน Thailand Productivity Forum ย้อนหลัง

http://https://www.youtube.com/watch?v=tn3_gcoYQUc

 




Writer

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร