2 กุมภาพันธ์ 2024

Professionalism ค่านิยมที่ทุกองค์กรต้องการ

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร

 

มีคำภาษาอังกฤษสองคำที่อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดและใช้สับสนคือคำว่า “Professional” และ “Professionalism” โดยคำว่า Professional มักหมายถึงคนประกอบอาชีพที่ต้องมีทักษะความสามารถเฉพาะ ต้องผ่านการฝึกฝนเป็นอย่างดี อาจต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนด หรือได้รับใบประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นใบรับรอง นอกจากความรู้ความสามารถยังรวมถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่มีจรรยาบรรณในวิชาชีพเป็นตัวกำหนด อาทิ แพทย์ พยาบาล วิศวกร ทนายความ สถาปนิก และเมื่อใดที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดอย่างร้ายแรง หรือสร้างความเสียหายให้แก่ส่วนรวมโดยไม่ได้ใช้ความสามารถในทางที่ถูกต้อง ก็อาจโดนลงโทษและเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพนั้นๆ ได้เช่นกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดล้วนต้องการความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ทั้งสิ้น ซึ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งและมากเกินกว่าใบประกอบวิชาชีพที่ได้มา

คนที่เป็นมืออาชีพจะรู้จักตนและค้นพบว่าตัวเราเป็นใคร มีลักษณะเป็นอย่างไร ศักยภาพและความสามารถของตนเองมีมากน้อยแค่ไหน ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น โดยไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง มืออาชีพจะมุ่งคิดหาทางออกที่ดีที่สุด (Think win-win) ที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่สรุปล่วงหน้าไปก่อนว่าต้องเป็นหนทางของเธอ (Your way) หรือหนทางของฉัน (My way) แต่จะช่วยกันคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้ได้หนทางของเรา (Our way) ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่านี่แหละดีที่สุดเหมาะสมที่สุด

ดังนั้นมืออาชีพต้องมองให้กว้างและเปิดใจรับฟังได้ทุกเรื่อง มือสมัครเล่นเท่านั้นที่มักจะจมอยู่กับปัญหาและหาทางออกไม่ได้ บางครั้งก็คลุกวงในมากเกินไปจนไม่สามารถสลัดตัวเองให้หลุดพ้นออกมาได้ ซ้ำร้ายยิ่งนานเข้ากลับยิ่งถลำลึก มืออาชีพจะรู้จักการเต้นฟุตเวิร์ค เข้าคลุกวงในเมื่อได้จังหวะและถอยฉากเมื่อต้องการควบคุมสถานการณ์

 

| ความเป็นมืออาชีพ

สิ่งแรกของความเป็นมืออาชีพที่แตกต่างจากคนอื่นทั่วไปก็คือ การมองโลกในแง่ดี

มองแบบเป็นบวก (Positive thinking) ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นจากแววตา สีหน้า ท่าทาง คำพูด ความคิด และการแสดงออก ถ้าใครได้มีโอกาสไปชมการแข่งขันหมากกระดาน ไม่ว่าจะเป็นหมากรุกไทย หรือหมากรุกสากลระดับชิงแชมป์ จะเห็นว่าผู้เข้าแข่งขันจะไม่ยอมนั่งนิ่งอยู่หน้ากระดานเท่านั้น แต่กลับถอนตัวออกจากที่นั่ง เดินไปเดินมา บางครั้งก็วนมาดูกระดานจากที่สูงซักทีในระหว่างที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังหาทาง เดินเพื่อแก้เกมอยู่ การมองปัญหาหรือสิ่งต่างๆ รอบตัวในมุมมองที่ครอบคลุมส่วนอื่นๆ ประหนึ่งว่ามองจากที่สูงเหมือนนก (Bird’s eye view) ซึ่งการมองเช่นนี้จะทำให้มองได้กว้างและมองได้ไกล บางครั้งอาจต้องถอนตัวออกมาจากสถานการณ์นั้นๆ หรือถอดหัวโขนของบทบาทที่มีอยู่ การกระทำเช่นนี้จะทำให้เราไม่มองเพียงจุดเล็กๆ หรือประเด็นปัญหาที่เผชิญอยู่เท่านั้น

มืออาชีพจะใช้ทักษะการมองให้ถูกต้องกับเหตุการณ์ที่เผชิญอยู่ เหมือน “BIRDS” ดังนี้

B – Board เมื่อจนตรอกหาทางออกไม่ได้ หนทางเดียวคือต้องมองให้กว้างไกลออกไป ไร้ขอบเขต ไม่มองแค่ภายในกรอบหรือขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยไม่ให้เงื่อนไขต่างๆ มาจำกัดความคิดที่มีอยู่

I – Imagination บางครั้งอาจต้องเพ้อฝันบ้าง อะไร ที่ไม่เคยมีใครทำก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ หรือเป็นจริงไม่ได้ มืออาชีพจะต้องมีจินตนาการ คิดสร้างสรรค์ มองให้แตก (แยกออกเป็นส่วนย่อยๆ) คิดให้ต่าง (ไม่จำเป็นต้องซ้ำแบบเดิม ก้าวหน้า ทันสมัย หรืออาจไม่เคยมีใครทดลองทำมาก่อนก็ได้)

R – Realistic เมื่อต้องทำให้ได้ในเวลา และทรัพยากรที่จำกัด การอยู่บนพื้นฐานความจริง และคำนึงถึงความเป็นไปได้ ตั้งอยู่บนหลักการและทำได้จริง ย่อมดีกว่าซื้อเวลาและนั่งรอโอกาส

D – Decision making ตัดสินใจให้ทันกับสถานการณ์ อาจคาดคะเนสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงเพียงปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน เพราะการมุ่งตัดสินใจแบบเฉพาะหน้า อาจทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาใหม่เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป

S – Strategic approach บางครั้งการเดินตรงเข้าสู่เป้าหมายก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป การมองหายุทธวิธีหรือแบบแผนในการปฏิบัติ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะช่วยให้เราบรรลุผลได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตามมืออาชีพจะไม่ใช้แค่การมองและนำเสนอ แต่ต้องโน้มน้าวให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่า และเชื่อว่าสามารถจะนำมาปฏิบัติให้บรรลุผลได้ ถ้าเราเป็นคนที่ได้แต่คิดแล้วทิ้งมันไป การกระทำและคำพูดต่อไปก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ขาดคนเชื่อถือในที่สุด เพราะคุณค่าไม่ได้จบลงแค่คิดได้แต่ต้องทำให้ได้ต่างหาก

คนที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพจะประพฤติปฏิบัติในทางที่ตรงข้ามกัน หลายองค์กรมักระบุไว้ในค่านิยมขององค์กร (Core values) ถือเป็นสิ่งที่องค์กรต้องการและพนักงานทุกคนจะต้องทำให้ได้ ความจริงมีข้อนี้ข้อเดียวและสามารถทำได้ดีมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็เพียงพอแล้ว ลองพิจารณาคุณสมบัติความเป็นมืออาชีพและไม่เป็นมืออาชีพ และถ้าจะให้ดีลองประเมินตนเองดูว่า ได้ซักกี่ข้อของที่สรุปมาให้ ซึ่งยังอาจเพิ่มเติมสิ่งที่คุณคิดว่าใช่และไม่ใช่เพื่อให้สอดคล้องกับสาขาอาชีพหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ทำอยู่ได้ โดยอาจเพิ่มเรื่องของจรรยาบรรณหรือจริยธรรมทางธุรกิจเข้าไปด้วย

ตัวอย่างคุณสมบัติของคนที่ทำงานแบบมืออาชีพ

  • ไม่ล้ำเส้น มืออาชีพระวังทั้งการพูด กิริยา ท่าทาง การเขียน และการลงมือทำงาน อีกทั้งจะไม่วิจารณ์ผู้อื่น และไม่ก้าวก่ายงานของผู้อื่น

  • คิดเองได้ ไม่ต้องรอให้เจ้านายสั่ง ไม่ต้องให้เพื่อนร่วมงานขอ ไม่ต้องมีปัญหาและเกิดความจำเป็นขึ้นก่อน แต่ต้องประเมินสถานการณ์ ศึกษาข้อมูลแล้วคิดหาหนทางเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเสมอ โดยมองความเป็นไปได้ และหาแนวทางใหม่

  • มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดใดของตนเอง จงยอมรับและจัดการกับผลที่ตามมา ทั้งผลโดยตรงและผลกระทบทางอ้อม ทั้งความดีความชอบและความผิดพลาด ไม่คิดผลักภาระหรือปัญหาไปให้คนอื่น

  • รู้จักตัดสินใจ บ่อยครั้งที่คนทำงานต้องเผชิญกับการตัดสินใจในเวลาจำกัด ไม่สามารถหาข้อมูลมาช่วยได้ แต่มืออาชีพก็ไม่นับเป็นอุปสรรคเมื่อต้องตัดสินใจจะไม่ลังเล ไม่มัวแต่คิดอยู่จนช้าเกิน และไม่โยนการตัดสินใจไปให้คนอื่น

  • ให้เกียรติผู้อื่น ปฏิบัติตนตามมารยาททางธุรกิจและสังคมได้เสมอ มืออาชีพมีความนับถือตนเองมากเท่ากับที่นับถือผู้อื่น เพราะมองว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรีและเกียรติแห่งความเป็นคนเท่ากัน

  • รักษาเกียรติในยามแพ้ ไม่ใช่เรื่องยากที่คนจะรักษาเกียรติและความสง่างามในยามที่คว้าชัยชนะไว้ได้ในกำมือ แต่ความพ่ายแพ้มักเผยให้เห็นบุคลิกอีกด้านหนึ่ง มืออาชีพที่แพ้จะไม่มีปฏิกิริยาทางลบกับผู้ชนะ ไม่โทษทั้งคนอื่นและตนเอง ไม่เกรี้ยวกราด เสียดสี หรือแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรง ถึงแม้จะเป็นการแพ้ครั้งยิ่งใหญ่

  • ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มืออาชีพจะยอมรับได้ในเวลาอันสั้น ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำผลเช่นใดมาสู่การทำงาน มืออาชีพจะไม่ต่อต้าน แต่จะทำความเข้าใจในความจำเป็น มองข้อดีหากมีผลกระทบจะแจ้งให้ผู้รับผิดชอบทราบและหาทางแก้ไข

  • ความผิดพลาดและการขอโทษ จะไม่ขยายความผิดพลาดของคนอื่นให้ใหญ่ขึ้น ไม่ปิดบังหรือกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตนเอง แต่จะมองด้วยทัศนคติที่ดี จะไม่พูดแก้ตัว แต่จะขอโทษและรับปากว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

  • มีความยืดหยุ่น ความยืดหยุ่นของมืออาชีพไม่ใช่การกลิ้งไปกลิ้งมาเพื่อจะเลี่ยงไม่ต้องทำงาน และไม่ใช่การพูดกลับไปกลับมา หรือเปลี่ยนใจได้รอบทิศหรือเพื่อผลประโยชน์ตนเอง แต่คือการไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งและปิดกั้นตนเองจากสิ่งอื่น เตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ทุกประการ

  • ไม่น่ารักก็ไม่เป็นไร ให้เกียรติผู้ร่วมงาน แต่จะไม่กังวลว่าคนอื่นจะปลาบปลื้มตนเองหรือไม่ คือไม่มัวแต่บริหารเสน่ห์ของตนเอง แต่จะทุ่มเทให้กับการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาจไม่สามารถตามใจทุกคน หรือทำให้ทุกคนพอใจ

  • มนุษยธรรมกับธุรกิจ โลกแห่งธุรกิจจะต้องสร้างผลกำไรในรูปเงินตรา แข่งขันกันสูง ต้องยอมรับกติกาแล้วเรียนรู้ตามวันเวลาและประสบการณ์ อาจถูกมองว่าเลือดเย็น โหดร้าย แต่จริง ๆ แล้ว ต้องสร้างความสมดุลระหว่างงานกับคน

  • ศักยภาพสูงสุดของตนเอง มืออาชีพตระหนักถึงคุณค่าของการพัฒนาตนเองและเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตนเอง และช่วยพัฒนาสังคมเมื่อมีโอกาสไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ถึงตรงนี้เราคงพอจำแนกแยกแยะออกระหว่างการทำงานแบบมืออาชีพ และการทำงานแบบวิชาชีพ เพราะว่าการทำงานแบบมืออาชีพสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสาขาวิชาชีพทุกตำแหน่งหน้าที่การงานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงผู้บริหาร แต่การทำงานแบบวิชาชีพ คืออาชีพเฉพาะที่ผู้ปฏิบัติจะต้องได้รับการรับรองว่ามีความรู้ ความสามารถ ซึ่งแน่นอนคงพิสูจน์กันยากในเรื่องของสภาพจิตใจ ความเป็นมืออาชีพมันเป็นอะไรที่เหนือกว่าความรู้ความสามารถ แต่มันเป็นเรื่องของใจที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่และฝึกฝนเป็นพิเศษ

แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้หรือทำได้ยาก เริ่มต้นวันละข้อสองข้อไม่นานเราก็จะได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างโดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารการรับรอง หรือให้บุคคลใด ๆ มายืนยันค้ำประกันให้แต่อย่างใด

สิ่งที่มักจะตามมาจากความเป็นมืออาชีพก็คือ ความไว้วางใจ (Trust)




Writer