18 มกราคม 2024

เช็คสุขภาพ KM

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

ผู้ที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ การเช็คสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ หลายคนพบว่าสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้อย่างดี หรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เช่นเดียวกับในโรงงาน การเช็คอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องกลต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจมีมูลค่ามหาศาล

แต่องค์กรส่วนใหญ่กลับมองข้ามเครื่องมือการบริหารจัดการที่นำมาใช้ในองค์กร ผู้ที่บริหารมักนำเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาตามกระแสนิยม และมักขาดความต่อเนื่อง จนคนในองค์กรรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ เพราะสรุปบทเรียนได้ว่าไม่ได้ช่วยอะไร เสียเวลา เดี๋ยวผู้บริหารก็เอาของใหม่เข้ามาให้ทำอีก วนกันไป

KM ในองค์กรก็เผชิญชะตากรรมเช่นนี้ในหลายๆ องค์กร ที่ดำเนินการแบบขาดๆ หายๆ เหลือแต่กิจกรรมที่ไร้เป้าหมาย แต่ต้องทำเหมือนเป็นประเพณีประจำปี

จึงขอเชิญชวนให้ลองเช็คสุขภาพ KM องค์กรตามรายการดังต่อไปนี้

1.กำหนดส่วนงานรับผิดชอบเฉพาะ มีแผนดำเนินการ
การดำเนินการจัดการความรู้ในองค์กรมีความชัดเจนเพียงใด
เช่น มีการกำหนดส่วนงานรับผิดชอบแบบเจาะจง (ไม่ใช่ฝากเลี้ยง) มีแผนการดำเนินการที่ตอบเป้าหมายองค์กร เป็นต้น

2.มีผลลัพธ์ความสำเร็จอะไรเกิดขึ้นบ้าง
หากการจัดการความรู้ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมากกว่าสิบปีด้วยกันทั้งนั้น มีผลลัพธ์ความสำเร็จอะไรเกิดขึ้นบ้าง ความสำเร็จนั้นต้องส่งผลต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือความสำเร็จของทีมงานที่สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการใช้ความรู้ในการทำงาน

3.มีการทำ KM ทุกส่วนงาน
บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้เท่าเทียมกันหรือไม่
ข้อนี้สังเกตง่ายที่สุด หากยังคงคิดว่า KM เป็นงานของส่วนงานทีได้รับมอบหมายเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับงานของตนเอง ก็คือเริ่มมีอาการของตัวโรคแล้วและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ

4.มีการนำความรู้ที่จัดเก็บไปใช้ในการทำงานมากกว่า 70%
ส่วนที่ไม่ได้มีการนำมาใช้เพราะเหตุใด เช่น อาจเป็นความรู้ที่มีคุณค่า แต่เข้าถึงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการถ่ายทอดที่เข้าใจยาก ไม่มีระบบการใช้คำหลัก (Key word) ที่ง่ายต่อการสืบค้น ไม่มีการจัดหมวดหมู่ความรู้

5.มีการนำความรู้จากผู้อาวุโสไปใช้ 80%
การถอดองค์ความรู้ผู้เชียวชาญหรือผู้อาวุโส ในแต่ละปี (หากมีการจัดเก็บตาม KPI) ไม่มีความรู้ที่เป็นทักษะ ประสบการณ์ที่จะนำมาเป็นวิธีปฏิบัติในการต่อยอดความสำเร็จขององค์กร มีแต่เรื่องเล่าประสบการณ์การทำงาน ขาดการสกัดแก่นความรู้ (Key knowledge) ที่สามารถนำไปใช้จริง

6.ทุกส่วนงานสร้าง Key knowledge มาใช้ในการทำงาน
แต่ละส่วนงานมีความชัดเจนในความรู้สำคัญ (Key knowledge) ที่ทำให้งานที่รับผิดชอบประสบความสำเร็จหรือไม่ และมีความเข้าใจตรงกันหรือไม่ เพื่อสร้างและแสวงหาความรู้นั้นมาใช้ในการทำงาน เช่น การถ่ายทอดความรู้ของผู้ที่มีประสบการณ์สูงให้กับทีมงานเพื่อดึงศักยภาพให้ใกล้เคียงกัน สร้างความสำเร็จให้ทีมงานด้วยกัน

KM ถ้ามองอย่างผิวเผินดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่ไม่มีความจำเป็นต่อการทำงานเท่าใดนัก เพราะบางเครื่องมือเช่น Lean เห็นผลในการลดต้นทุนชัดเจนทันที แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้ง

KM คือเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายในทุกอณู เพราะการทำงานด้วยการใช้การจัดการความรู้จะสร้างประสิทธิภาพสูงกว่า ตั้งแต่ความรู้ในการบริหารงานของระดับผู้บริหาร ความรู้เฉพาะทางในงานแต่ละหน้าที่ อาจจะมีผู้ตั้งคำถามว่าการทำงานก็ต้องใช้ความรู้กับการใช้การจัดการความรู้นั้น ต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าคนทำงานทุกคนมีความรู้ในการทำงานทั้งนั้น แต่คำว่าการจัดการความรู้ที่จะนำมาใช้ในการทำงานก็คือการทำงานที่มีการหาวิธีปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการถามตนเองในทุกครั้งที่งานสำเร็จ หรือล้มเหลวว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรบ้าง ไม่ได้ปล่อยให้ผ่านเลยไป แต่มีการจัดเก็บประสบการณ์นั้นมาเป็นองค์ความรู้ที่จะทำให้งานที่ต้องทำต่อไปส่งผลที่เป็นเลิศ

ทุกคนในทุกระดับย่อมมีบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานด้วยกันทั้งนั้น และนั่นเองคือความรู้ที่มีคุณค่า (Valuable knowledge) ที่ควรนำมาจัดการอย่างถูกต้องเพื่อต่อยอดความสำเร็จ และถ่ายทอดไปสู่เพื่อนร่วมงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความสำเร็จ จากแรงผลักที่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครต้องแบกน้ำหนักมากกว่าใคร

มาสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรด้วยการเช็คสุขภาพ KM ก่อนจะสายเกินไป

 

 

แนะนำหลักสูตร Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้) คลิก 

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2024’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น