10 กรกฎาคม 2023

มุมมองผลิตภาพของไทย
จากรายงาน IMD Competitive Yearbook 2023

 

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD ปี 2566 ประเทศไทยของเราขยับขึ้น 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับที่ 30
จากจำนวน 64 ประเทศทั่วโลกหรืออยู่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 46.87 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

 

ตัวชี้วัดที่มีการปรับปรุงดีขึ้น 5 อันดับแรก คือ  อัตราการเติบโตของการจ้างงานในระยะยาว อัตราการเติบโตของกำลังแรงงานในระยะยาว อัตราการเติบโตของ Real GDP ต่อประชากร อัตราการเติบโตของ Real GDP และการส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ที่ดีขึ้นทั้งเชิงมูลค่าที่เป็นตัวเงินและอัตราการเติบโต

โดยอัตราการเติบโตของ Real GDP ต่อประชากรที่ดีขึ้นนั้นสะท้อนมูลค่าการผลิตทางเศรษฐกิจของประชากรรายคนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งชี้วัดความมั่งคั่งโดยภาพรวมของประเทศดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แน่นอนว่าความมั่งคั่งนี้มาจากการอัตราการเติบโตของ Real GDP ที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเติบโตของประชากรที่ลดลงนั่นเอง

 

แต่ถ้าเรามามองในมุมของผลิตภาพหรือ Productivity เพื่อจะดูกว่าความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นนี้มีความแข็งแรงอย่างไร โดยมาไล่ดูชุดตัวชี้วัดผลิตภาพที่อยู่ในรายงาน พบว่า

Overall productivity (PPP) และ Labor productivity (PPP) อยู่ในอันดับที่ 56 ซึ่งอยู่ในควอไทล์ที่ 4 หรือก้นแก้ว

 

 

ซึ่งถ้าพิจารณาลงรายละเอียดในแต่ละภาคอุตสาหกรรม พบว่า    ผลิตภาพในภาคเกษตร (AGRICULTURAL PRODUCTIVITY: PPP) อยู่อันดับ 58  ผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม (PRODUCTIVITY IN INDUSTRY: PPP) อยู่อันดับ 54 และผลิตภาพในภาคบริการ PRODUCTIVITY IN SERVICES: PPP) อยู่ที่อันดับ 53

ซึ่งอันที่จริงเราก็อยู่ตรงนี้มานาน น่าจะถึงเวลาที่หน่วยงานกำกับดูแลและมีอำนาจในการจัดการจะต้องยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติซึ่งก็มีการพูดแบบนี้หลายครั้ง

นอกจากนี้ ความท้าทายของประเทศไทยที่ปรากฎในรายงานยังมีเรื่องเกี่ยวกับ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตที่ไม่สมดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 การจัดการความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตระหนักและความสามารถในการรับมือกับความปลอดภัยทางไซเบอร์และภัยคุกคาม รวมถึงแรงงานที่มีทักษะไม่เพียงพอในภาคบริการ

 

แต่ก็ยังมีเรื่องดี ๆ จากการวัด Sentiment ของผู้บริหารองค์กรไทยเกี่ยวกับปัจจัยความน่าดึงดูดใจที่สําคัญของเศรษฐกิจ โดย 5 อันดับแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ (66.1%) ทัศนคติที่เปิดกว้างและเป็นบวก (62.5%) โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้ (58.9%) ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน (52.6%) และพลวัตของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เทคโนโลยี และแนวโน้มใหม่ๆ อยู่เสมอ (47.9%)

 

ตัวชี้วัดผลิตภาพเป็น Lagging indicators เป็นผลของการดำเนินงานซึ่งจะทราบอีกทีก็สิ้นปี ที่สำคัญยังมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าในบริบทที่เรากำลังเผชิญ ไม่เพียงแต่ความไม่แน่นอนเท่านั้นแต่ยังรวมถึงความไม่รู้อย่างแท้จริงเกี่ยวกับวามท้าทายในอนาคต ว่าอะไรคือกุญแจสำคัญ ทำให้ยังมีความกังวลอยู่ในหลายเรื่อง

  • ประการแรก ความสำคัญของเทคโนโลยี ในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างผลผลิต ผลิตภาพและการเติบโต
  • ประการที่สอง การค้นหาโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทต่างๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ โครงสร้างและรูปแบบธุรกิจที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
  • และประการสุดท้าย การคิดใหม่ ผลประโยชน์และต้นทุนของการค้าเสรี และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในหลายประเทศ

ซึ่งการทบทวนผลกระทบของความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น การเรียนรู้ความไม่แน่นอนตัวใหม่ๆ และการเข้าใจความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยหากเราเข้าใจความซับซ้อนของความท้าทายเหล่านี้ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ก็จะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่นเพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

 

 

บริการงานวิจัย โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คลิก

 




Writer

โดย ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ