5ส จัดบ้าน และ Minimalism
โดย กฤชชัย อนรรฆมณี
Lean and Productivity Consultant / Trainer
[email protected]
5ส ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นรากฐานของ ผลิตภาพ และ คุณภาพ ในโลกกายภาพ โดยเฉพาะภาคการผลิตหรือโรงงานมานานแล้ว พร้อมกับการขยายไปยังภาคบริการ ในเวลาต่อมาด้วย
หลักการ ที่เป็นที่ร้บรู้ทั่วไปคือ มีเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นในพื้นที่ทำงาน เป็นระเบียบ เพื่อให้ค้นหาง่าย เก็บง่าย รักษาง่าย และ ดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อแนวคิด 5ส เชื่อมโยงไปสู่การจัดการในกรณีของ บ้านพักอาศัย ทำให้มีแง่มุมมาชวนคุย ขยายความกันได้ครับ
บ้านรกรุงรัง ผลกระทบ
มีงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดบ้าน พบว่าบ้านที่ไม่เป็นระเบียบมีความสัมพันธ์ เชิงจิตวิทยา และ การทำงานของสมอง อย่างคาดไม่ถึง
ข้าวของในบ้านที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย ทำให้สมาธิใน การจดจ่อต่อสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง เพราะสายตาและสมอง รับรู้ข้อมูลที่เข้ามาอย่างไม่เป็นระบบ ล้นเกิน สมองเกิดความตึงเครียด โดยไม่รู้ตัว
ผู้ที่อาศัยในบ้านที่รกรุงรัง เมื่อหาข้าวของในบ้านไม่เจอ มักผัดผ่อนการค้นหาออกไป นิสัยเช่นนี้มีแนวโน้มส่งผลไปยัง การผลัดวันประกันพรุ่ง ในการทำงาน
ข้าวของมากมาย ยังทำให้การทำความสะอาดยากขึ้น เป็นบ่อเกิดแห่งความขี้เกียจ ความสกปรกจะตามมาได้ง่าย จำคำที่คุณป้าของผมพูดสมัยเด็ก ๆ ได้ว่า ความสกปรกและฝุ่นนั้น จะทำให้บ้านร้อน ฝุ่นในบ้านส่งผลต่อระบบหมุนเวียนระบายอากาศ และ สุขภาพของคนในบ้าน
รูปธรรมที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การนอน ห้องนอนที่รกไม่สะอาด ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หลับยาก หลับไม่สนิท เกิดปัญหาสืบเนื่องอื่น ๆ ตามมา
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด กลายเป็นปัจจัยเล็ก ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ทั้งของสมาชิกในบ้านแต่ละคน รวมถึง ความสัมพันธ์ของคนในบ้านด้วย
ต่อยอด 5ส กับการจัดระเบียบบ้าน
การจัดระเบียบบ้าน ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง โดยนักเขียนญี่ปุ่น Marie Kondo กับหนังสือ ‘ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว’ (The life-changing magic of tidying up)
หนังสือสร้างปรากฏการณ์ยอดขาย ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ คุณ Marie กลายเป็นวิทยากรสัมมนา และที่ปรึกษาด้านการจัดบ้านชื่อดัง มีรายการออกอากาศใน Netflix
จากสะสางใน 5ส คือ การคัดแยก เพื่อให้เหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็นในการทำงานเท่านั้น คุณ Marie นำมิติความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ มาใช้ในการจัดระเบียบบ้าน จากการพิจารณาด้วย ‘ความจำเป็น’ มาเป็น ‘การจุดประกายความสุข (Spark Joy)’
เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม เช่น อยากใช้ชีวิตในยามเช้าแบบไหน, อยากใช้เวลาก่อนเข้านอนแบบไหน ให้จินตนาการถึงรูปแบบที่ปรารถนา แล้วจึงเลือกเก็บไว้เฉพาะของที่ ปลุกเร้าจุดประกายความสุข ตามเป้าหมายนั้น และโยนสิ่งที่ไม่ใช่ทิ้งไป
ในขณะที่เป้าหมาย 5ส คือการสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในการทำงาน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ และ คุณภาพ เป้าหมายการจัดบ้านที่คุณ Kondo กล่าวถึงคือ การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทุกวัน
สิ่งของที่จุดประกายความสุขเหล่านั้น ถูกจัดวางให้เป็นระเบียบ ดูแลทำความสะอาดโดยมองเป็นกิจกรรมที่เป็นการออกกำลังกาย ฝึกสมาธิไปในตัว
พร้อมกับแนะนำให้สร้าง บทสนทนาโต้ตอบ ราวกับบ้านเป็นสิ่งมีชีวิตด้วย เช่น ‘ขอบคุณที่ช่วยดูแลฉันมาตลอดทั้งวัน’ ขณะถูพื้นสัมผัสบ้านไปด้วย
แนวคิด Minimalism
“บ้านชั้นเดียวโทนขาวไม้ สไตล์ Minimal ขนาดพื้นที่กะทัดรัด”
“โต๊ะเครื่องแป้งโรแมนติกแบบ Minimal ดีไซน์เรียบง่าย ให้ความสวยงาม โทนสีอบอุ่นชุดนี้เลย”
(จากการค้นหาด้วยคำว่า Minimal บนโลก Online)
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า Minimal ดูจะกลายเป็นกระแสหนึ่งที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในแง่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ ออกแบบตามประโยชน์ใช้สอยที่จำเป็น ขจัดองค์ประกอบอื่นที่ไม่จำเป็นออกไป โทนสีนุ่มนวลไม่ฉูดฉาด ถ้าเป็นบ้านก็มักจะเป็นสีขาว สีไม้ โทนอบอุ่น
อีกคำหนึ่งที่สื่อความในแนวทางเดียวกัน คือ ‘น้อยแต่มาก’ (Less is more) เน้นหน้าที่ (Function) ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก
ผลิตภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีในตระกูล iPhone รวมถึง แบรนด์ Muji น่าจะเป็นตัวอย่างใกล้ตัว ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ ออกแบบให้เรียบง่าย เน้นเส้นสายสะอาดตา
นอกจากความเรียบง่ายในแง่ตัวสินค้าแล้ว หากมองให้กว้างขึ้น ความเรียบง่ายครอบคลุมไปถึง วิถีการใช้ชีวิต (Lifestyle) ด้วยการมีสิ่งของที่เป็นวัตถุให้น้อยลงด้วย
ในญี่ปุ่น มีแนวคิดแบบเซนที่ พยายามใช้ชีวิตด้วยของเท่าที่จำเป็น เช่น มีเสื้อผ้าไม่กี่ชุด เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น สวนทางกับโลกทุนนิยมปัจจุบันที่กระตุ้นให้คนบริโภค ในบ้านเรามีการนำแนวคิดนี้ มาเป็นพื้นเรื่องราวของภาพยนต์ ‘ฮาวทูทิ้ง’ เมื่อปี 2019
หลักการ 5ส จนมาถึงการจัดระเบียบบ้าน จึงมีมุมมองความสัมพันธ์กับ รูปแบบการใช้ชีวิต ตามหลักการ Minimalism ได้
‘เพราะมีลูก Marie Kondo เจ้าแม่จัดบ้าน จึงยอมบ้านรก’ เป็นหัวข้อข่าวของคุณ Marie ในปีนี้
เธอกล่าวว่า ตอนนี้บ้านเธอรกมาก ขอยอมแพ้กับการทำบ้านให้เรียบร้อยในตอนนี้ หลังจากคลอดบุตรชายคนที่ 3 เพราะจุดหมายชีวิตในช่วงนี้คือลูก เวลาทุกนาทีกับลูก ๆ ที่บ้าน คือสิ่งสำคัญที่สุด
กล่าวได้ว่า ขณะนี้สิ่งปลุกเร้าความสุขของเธอคือลูกนั่นเอง กิจกรรมอื่น ๆ กลายเป็นเรื่องรองไปก่อน
ตำแหน่งความสมดุลชีวิตในแต่ละช่วงเวลา บางทีอาจไม่ใช่จุดเดียวกันครับ
ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก
‘Capability Development Program 2023’ พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง