17 พฤษภาคม 2023

 

เปลี่ยนรูป แปลงร่าง สร้างองค์กรดิจิทัล

โดย คุณจำลักษณ์  ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร

 

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติมต่อยอดให้องค์กรสูงเด่นยิ่งขึ้น ยิ่งตอนนี้เรามาถึงยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่ในโลกไซเบอร์ เป็นเหมือนเหมืองทองของแท้ที่ทุกธุรกิจต่างๆมุ่งหน้ามาขุดกันอย่างจริงจัง วัฒนธรรมการทำงานแบบดิจิทัล และความสามารถของคนในองค์กรที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงเหมืองทองแห่งใหม่ในโลกไซเบอร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า การจะมัวแต่ไปนั่งขุดหาแร่ในเหมืองเดิมๆ ซึ่งเริ่มเหลือน้อยลงทุกที แต่กลับต้องแย่งชิงกันกับคนจำนวนมากคงไม่ได้

คำว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation” จึงเป็นคำฮิตติดอันดับบนสุดของระบบการจัดการองค์กร แล้วมันคืออะไร ใครมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องบาง และจะต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม เพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่องค์กรแบบใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Organization) สรุปสาระสำคัญบางส่วนจากหลักสูตร “เปลี่ยนรูป แปลงร่าง สร้างองค์กรดิจิทัล (Digital Organization and How to build one)” ของผู้เขียน มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่ขอมาแบ่งปันกันดังนี้

 

  1.Digital Mindset   

ชุดความคิดของคนในองค์กร ในทุกระดับชั้น และแน่นอนสำคัญที่สุดก็ต้องเริ่มจากคณะผู้บริหาร และผู้บริหารสูงสุด ที่จะต้องไม่ใช่แค่แสดงออกเท่านั้น หากแต่ตนเองจะต้องทำให้เห็นว่าการคิดในเชิงธุรกิจจะต้องเป็นดิจิทัล งบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อม

  2.Digital Toolset   

ระบบงานและกระบวนการภายใน ที่จะต้องลื่นไหลแบบไร้รอยต่อ ข้อมูลต่างๆภายในองค์กรจะไม่ถูกจัดเก็บแบบต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างใช้ หากแต่อยู่ในระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อลดความซ้ำซ้อน เชื่อถือได้ว่าทุกคนจะใช้ข้อมูลที่ใหม่อยู่เสมอ และที่สำคัญคือเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังเป็น 2.0 และคิดว่าจะก้าวไปเป็น 3.0 หรือ 4.0 ในอนาคต โดยใส่เซนเซอร์และระบบอัตโนมัติเข้าไปให้ดูยิ่งใหญ่ไฮเทคนั้น ขอบอกว่านั่นเป็นแค่ด้านเดียว เพราะเป็นการยกระดับอัพเกรดเฉพาะระบบการผลิต (Physical Flow) ในความเป็นจริงจะต้องคำนึงถึงการไหลของข้อมูลและการประมวลผล (Information Flow) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจในทุกจุดของโรงงานด้วย

  3.Digital Skillset   

ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะในการใช้เทคโนโลยี ระบบควบคุม สมองกลฝังตัว การเชื่อมต่อทั้งแบบมีสายและไร้สาย และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆในการประมวลข้อมูลและคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว เพราะองค์กรแบบใหม่จะไร้กระดาษ ทุกอย่างอยู่ในระบบ ถ้าไม่มีทักษะในการดึงข้อมูลมาใช้ให้เป็นรูปแบบรายงานต่างๆได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

  4.Digital Culture   

เป็นส่วนสุดท้ายที่ไม่ทำก็ไม่ยั่งยืน กำลังจะบอกว่าวัฒนธรรมการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องในแบบไคเซ็น หรือการสร้างผลงานแบบก้าวกระโดดในเชิงนวัตกรรมนั้น อาจจะมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ถ้าขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมแบบดิจิทัล เพราะช่วยลดปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดเดิมๆไปได้อย่างสิ้นเชิง อาทิ ผู้บริหารเซ็นอนุมัติเอกสารสำคัญไม่ได้เพราะไปต่างประเทศ คนทำงานว่างไม่ตรงกันจึงไม่ได้ประชุมเสียที ข้อมูลกระดาษมากมายเก็บไว้จนล้นห้อง จัดทำรายงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไม่รู้สถานะเครื่องจักรและการผลิต เป็นต้น

คงไม่ต้องถามกันแล้วครับว่า “ทำไม” หรือ “เมื่อใด” ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะจากผลระทบที่เกิดขึ้น และความกังวลของใครหลายคนว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อาจจะไม่ใช่แค่มาทำงานแทนคน แต่สามารถคิดและตัดสินใจในบางเรื่องได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นทุกคนจะต้องขยับปรับตัวขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าเครื่องจักรที่ว่า ด้วยการเพิ่มคุณค่าในตัวเอง

การประเมินความพร้อมขององค์กรหรือระยะการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัล

ในช่วงที่ผ่านมามีผู้บริหารหลายองค์กรสอบถามผมเข้ามา เกี่ยวกับการประเมินความพร้อมขององค์กรหรือระยะการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัล และอยากได้เครื่องมือ ชุดคำถาม หรือแนวทางอะไรก็ได้ที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาว่าองค์กรต้องเตรียมการอะไรบ้าง ในด้านใด เพื่อรับมือกับยุคการแข่งขันใหม่ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่ทั้งแรงและเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคใหม่เปลี่ยนเร็วกว่าผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเสียอีก ดังนั้นใครเร็วกว่า ตอบสนองได้ดีกว่า ย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน

แต่แน่นอนบริบท สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และโครงสร้างของแต่ละอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน
บางอุตสาหกรรมมีความไวต่อเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนได้ง่าย แต่บางอุตสาหกรรมไม่เป็นเช่นนั้น
จะสังเกตได้ว่าธุรกิจบริการจะทำได้ง่ายได้ไวกว่าโรงงานที่มีการลงทุนเครื่องจักรและระบบการผลิตไปแล้ว

เครื่องมือในการประเมินผลการเปลี่ยนผ่านขององค์กรไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ภายในองค์กร ทั้งชุดความคิด (digital mindset) ของคนในองค์กร ที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของดิจิทัล โดยมีหัวหอกสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูง กระบวนการภายในจาก Physical process เป็น Digital process และทักษะความสามารถของคนภายในองค์กรที่รู้และใช้เครื่องมือดิจิทัล (Digital skill) ให้เกิดประโยชน์ในงานของตัวเองได้ โดยดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละส่วนที่มีความพร้อมและสำคัญก่อน จนกระทั่งเกิดสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมดิจิทัล (Digital culture)

การประเมินผลมีทั้งแบบเจาะลึกในรายละเอียด ที่ผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาด้านระบบนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อวางแผนให้กับองค์กร และแบบภาพรวมที่ผู้บริหารองค์กรนั้นๆสามารถนำไปใช้ในการประเมินตัวเองได้ ผ่านชุดคำถามง่ายๆไม่กี่คำถาม ผู้บริหารหลายรายที่ขอให้แนะนำ ซึ่งแน่นอนมีหลายสำนักมาก แต่ผมขอยกตัวอย่างมาพอสังเขป เพื่อที่ว่าผู้บริหารองค์กรต่างๆจะได้ใช้เป็นแนวทางศึกษาต่อไป

แบบประเมินเบื้องต้นเพื่อให้รู้สถานะการเปลี่ยนผ่านองค์กรของตนสู่ดิจิทัลนี้เป็นของ บริษัท Oracle ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปในเว็บไซต์และทำการประเมินออนไลน์ได้ โดยจะสรุปเป็นรายงานแบบกราฟิกให้เราเห็นทั้งรายหัวข้อและภาพรวม แต่ละมิติมีอะไรบ้างที่เราต้องพิจารณา และแต่ละด้านนั้นเราให้ความสำคัญ นำมาใช้ และเกิดผลลัพธ์เช่นใด สรุปสุดท้ายก็คือ องค์กรของคุณอยู่ที่จุดใดในเส้นทางการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล เมื่อตอบคำถาม 11 ข้อต่อไปนี้ เราจะค้นพบและได้เรียนรู้ว่าทำไมเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความสำคัญต่อองค์กรในยุคสมัยนี้

 

  1. Cloud uptake  

องค์กรของคุณกำลังใช้ Cloud Software, Infrastructure และ Platform Server ในขอบเขตครอบคลุมงานด้านต่างๆมากน้อยแค่ไหน (ก)ใช้น้อยมาก เพราะโดยกฎระเบียบและนโยบายการบริหารงาน ยังไม่เอื้อให้คนในองค์กรใช้บริการผ่านคลาวด์ (ข)ใช้บ้างในบางงาน เราใช้บริการผ่านคลาวด์เฉพาะกับบางกิจกรรม/โครงการเท่านั้น (ค)ใช้ในหลายระบบงาน หลายอย่างที่ใช้ผ่านคลาวด์ อาทิ การพัฒนาการบริการ ฐานข้อมูลลูกค้า โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เป็นต้น (ง)ใช้คลาวด์เป็นหลักเกือบทุกระบบงาน เกือบทุกสิ่งทุกอย่างสามารถใช้งานผ่านคลาวด์ได้อย่างสะดวก แล้วมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้

  2. Cloud goal  

เมื่อองค์กรจะปรับตัวจากการใช้เทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ ไปสู่การบริการบนคลาวด์ อะไรคือเหตุผลหลักที่สำคัญ หรืออะไรเป็นเป้าหมายที่ทำให้องค์กรตัดสินใจเช่นนั้น (ก)ประหยัดต้นทุน มีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการซือมาติดตั้งภายใน ไม่ต้องบริหารจัดการด้วยตัวเอง (ข)งบประมาณ เปลี่ยนจากต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนผันแปรตามปริมาณและความต้องการใช้งาน (ค)ความคล่องตัว ทำให้พวกเราได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย บริการและฟังก์ชั่นการใช้งานที่ใหม่ทำงานได้รวดเร็วอยู่เสมอ (ง)กลยุทธ์ทางธุรกิจ มีนโยบายที่ชัดเจนในการโอนถ่ายระบบพื้นฐาน การบำรุงรักษา การสนับสนุน และการอัพเกรดฟังก์ชั่นต่างๆ ไปยังผู้ให้บริการภายนอก เพื่อที่เราจะได้มุ่งความสำคัญไปที่โจทย์ทางธุรกิจและความท้าทายจากลูกค้า

  3. Data analytics   

อะไรคือกลยุทธ์ซึ่งเป็นที่มาของการลงทุนที่จะนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในด้านที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้า/บริการ) เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล (ก)ความเข้าใจและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ดีกว่า (ข)การปรับปรุงและพัฒนากระบวนการภายในให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (ค)การวิเคราะห์ข้อมูลที่รวมรวมมาได้จากการส่งมอบสินค้าหรือการให้บริการลูกค้า เพื่อปรับปรุงคุณภาพ รักษามาตรฐาน และมีความปลอดภัย (ง)ความเคลื่อนไหวของ Big Data จนเป็นกระแสหลัก ถึงแม้ว่าองค์กรจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในตอนนี้ก็ตาม

  4. Mobility  

องค์กรของคุณกำลังใช้ Mobile Application อย่างไร เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้า (ก)ลูกค้ากำลังใช้ mobile apps ควบคู่ไปกับสินค้า/บริการของเรา แบบที่ไม่สามารถจะแยกจากกันได้ (ข)ลูกค้ากำลังใช้ mobile apps เพิ่มประสบการณ์ใหม่ในสินค้า/บริการของเรา (ค)ลูกค้ากำลังใช้ mobile apps เพื่อให้และรับสารสนเทศมากมายเกี่ยวกับสินค้า/บริการของเรา (ง)พนักงานกำลังใช้ mobile apps ในการปรับปรุงวิธีการให้บริการแก่ลูกค้า (จ)เราไม่มี mobile apps ที่ใช้ปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงาน
ด้วยพื้นที่จำกัด ครั้งหน้าเรามาดูกันต่อว่าทีเหลืออีก 7 คำถามนั้น มีอะไรบ้าง และเมื่อตอบจนครบจะนำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์อะไรต่อ

  5. Internet of Things  

องค์กรของคุณได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า IoT ในการขายสินค้า/ให้บริการที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ป้องกันความเสียหายในการผลิตสินค้า/ให้บริการ เพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ หรือในแนวทางอื่นๆ หรือไม่ (ก)เราขายสินค้า/ให้บริการที่เป็นอุปกรณ์ ระบบ เครื่องจักร และสิ่งอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (ข)เราใช้สิ่งที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ในการตรวจติดตามและหาจุดสมดุลให้กับการดำเนินการของเรา เช่น ในการผลิต ในการขนส่ง ในการจัดการสินค้าคงคลัง ในการส่งมอบ เป็นต้น (ค)เราสร้างกระแสรายได้ใหม่โดยการใช้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์ที่ได้จาก IoT (ง)เรายังไม่มีการใช้ IoT ในสินค้า/บริการ หรือการดำเนินการอื่นของเรา แต่อยู่ในแผนกลยุทธ์ที่เราจะนำมาใช้ในอนาคต (จ)เรายังไม่มีแผนใดๆที่จะใช้ IoT

  6. Social Media  

องค์กรของคุณมีการใช้ Social Media อาทิ Facebook Twitter Instagram Pinterest LinkedIn YouTube และอื่นๆ หรือไม่ (ก)เราใช้ Social Media เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อกับลูกค้าแบบสองทาง เช่น การตอบสนองต่อสิ่งที่ลูกค้ากำลังค้นหาบน Social platform ต่างๆ (ข)เราตรวจติดตามและวิเคราะห์ Social Media เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้ากำลังพูดถึงเกี่ยวกับองค์กรหรือแบรนด์ของเรา (ค)เราทำการตลาดและส่งเสริมการขายสินค้า/บริการของเราผ่านช่องทาง Social Media (ง)เราไม่มีกลยุทธ์ใดๆในการตรวจติดตามหรือเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ใน Social Media

  7. Talent  

อะไรคือแนวทางหลักขององค์กรในการแสวงหา พัฒนา และรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถสอดรับกับแนวโน้มความต้องการที่องค์กรกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (ก)เรามีแผนพัฒนาพนักงานเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถด้านดิจิทัล (ข)เราสร้างกลุ่มงานหรือตำแหน่งงานแยกต่างหากเพื่อรับมือกับโครงการใหม่ๆด้านดิจิทัล (ค)เราไม่มีการสรรหาว่าจ้างหรือฝึกอบรมที่มุ่งตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลโดยเฉพาะ

  8. Agility  

อะไรคือหนทางหลักขององค์กร ที่ทำให้สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และสิ่งนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (ก)เรานำเอาเทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมายเพื่อรับมือกับวงจรของผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง (ข)เราสร้างช่องทางการป้อนกลับแบบดิจิทัล เพื่อที่สามารถติดตามการใช้งานสินค้า/บริการของลูกค้า และสมรรถนะขององค์กรได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น (ค)เราแก้ไขหรือทดแทนระบบงานหรือกระบวนการภายใน ที่ไม่ทันกับกลยุทธ์ด้านดิจิทัลขององค์กร (ง)เราไม่มีการปรับปรุงใดๆเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

  9. IT Budget Breakdown  

เมื่อถึงเวลาจัดทำงบประมาณด้าน IT การลงทุนในระบบโครงข่ายและซอฟท์แวร์ประยุกต์ใช้งานใหม่ๆ มีสัดส่วนงบประมาณเป็นร้อยละเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณการดูแลรักษาระบบเดิม (ก)น้อยกว่า 20% (ข)ระหว่าง 20%-40% (ค)มากกว่า 40% (ง)ไม่มีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณด้าน IT ที่ชัดเจน

  10. Business Model  

องค์กรมีการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนประเภทสินค้า/บริการ วิธีทำการตลาด การบริการลูกค้า เป็นต้น (ก)แทบไม่มี (ข)เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่เห็นผลตอนนี้ (ค)ในบางส่วน และเห็นผลในเชิงบวกต่อการเติบโตและกำไรบ้างแล้ว (ง)อย่างมากในทุกๆส่วน จากตั้งรับเป็นเชิงรุกเหนือคู่แข่ง

  11. Leadership  

คณะผู้บริหาร/ผู้นำองค์กร ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในลำดับต้นๆ (ก)เราสร้างกลุ่มนวัตกรรมและธุรกิจดิจิทัลแยกต่างหาก โดยการนำของ Chief Digital Officer หรือผู้บริหารระดับสูงคนใดคนหนึ่ง เพื่อดำเนินการตามนโยบายด้านดิจิทัล (ข)CEO ของเรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับ CIO และผู้บริหารท่านอื่นๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้กระบวนการเป็นอัตโนมัติ ขับเคลื่อนการตัดสินใจด้วยข้อมูล สร้างความประทับใจให้ลูกค้า กลืนธุรกิจคู่แข่ง และบ่มเพาะวัฒนธรรมดิจิทัล (ค)เรากำลังลงทุนด้านดิจิทัลในบางหน่วยธุรกิจ และ/หรือบางพื้นทีเพื่อนำร่อง ก่อนที่จะขยายไปทั่วทั้งองค์กร (ง)ก็แค่ “พลวัตรของการปฎิรูปทางดิจิทัล” เป็นกระแสของวิวัฒนาการทางด้าน IT เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอดีต จากเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ เป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จนมาถึงยุคที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแค่นั้น

 

ชุดคำถามทั้ง 11 ข้อ อ้างอิงที่มาจากลิงก์นี้ https://www.oracle.com/webfolder/s/digital-transformation-assessment/index.html  ลองนำไปใช้วัดและประเมินความพร้อม ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล เชื่อว่าผู้อ่านจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า จะต้องรับมือหรือปฏิบัติการเชิงรุกให้ทันกับยุคดิจิทัลนี้อย่างไร

 

เสริมความแกร่งผู้บริหารให้พร้อมด้วยทักษะด้านดิจิทัล เพื่อนำองค์กรก้าวสู่ Digital Transformation อย่างมั่นใจ กับ
“โครงการยกระดับศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะผู้บริหารระดับสูง Smart DX Leader”
ที่ยกทัพวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานผู้นำด้านดิจิทัลระดับประเทศมาร่วมให้ความรู้และประสบการณ์สุดเข้มข้น

คลิก

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร