15 พฤษภาคม 2023

ความเป็นเลิศต้องก้าวรุก

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

 

การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์”  หนึ่งในค่านิยมและแนวคิดหลักของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นปัจจัยร่วมขององค์กรที่ประสบความสำเร็จทุกองค์กร ทำให้นึกถึงหนังสือ The Attacker’s Advantage ของ Ram Charan ซึ่งเคยนำไปเขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในชื่อบทความว่า “ผู้ก้าวล้ำต้องก้าวรุก 

Ram Charan กล่าวว่าคุณสมบัติสำคัญของผู้ก้าวรุกคือ หนึ่ง กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย สอง รับรู้อย่างเท่าทัน
สาม มุ่งไปข้างหน้า และสี่ สร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง

การเผชิญหน้ากับความท้าทายนั้น ไม่ใช่เรื่องของความกล้าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฝึกฝนตนเองให้พร้อมด้วยทักษะที่จำเป็น เช่น ความฉับไวในการเห็นความแตกต่าง การมองเห็นโอกาส ความกล้าที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะไปยืนบนพื้นที่ใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ (POL-BU) บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2560 เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องนี้

POL-BU ผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายเป็นวัตถุดิบ  ลูกค้าคือโรงงานที่นำเม็ดพลาสติกไปแปรรูปเป็นภาชนะพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งไม่มีมูลค่าสูงมากนัก แต่ก็สร้างผลกำไรให้ธุรกิจเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีเนื่องจากใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามผู้บริหารมองเห็นว่าถ้ายังคงการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติแบบเดิมคงไม่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เพราะต้องมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในสนามแข่งขันนี้อย่างแน่นอน จึงตั้งเป้าหมายปรับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นด้วยการไปหาข้อมูลจากลูกค้าที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ เช่น เครือสหพัฒน์ หรือโครงการหลวงเป็นต้น การผลิตเม็ดพลาสติกที่นำไปใช้ผลิตภาชนะพลาสติกจึงต้องปรับคุณสมบัติให้มีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ได้แก่ การใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิตเป็นเส้นใยในผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และมุ้งคลุมแปลงผัก เป็นต้น

วิสัยทัศน์ในการก้าวรุกไปในอนาคตของ POL-BU จึงกำหนดว่า  “To be Leading Plastic Material Provider for Better Living” การเปลี่ยนแปลงนี้การผลิตคือกระบวนการหลักที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องมีการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน การได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการคือการบ่งชี้ถึงความสำเร็จที่เป็นเลิศในกระบวนการผลิตอย่างแท้จริง

ดังนั้น Best Practice ของ POL-BU ที่ได้พบก็คือ “การปรับกระบวนการพร้อมตอบสนองความฉับไวของกลยุทธ์” ซึ่งจะเห็นวิธีปฏิบัติในกระบวนการผลิตที่มีความเป็นพลวัตร มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้การจัดการความรู้เป็นพื้นฐาน บุคลากรในแต่ละหน่วยย่อยของฝ่ายผลิตมีการฝึกฝนตนเองตลอดเวลาด้วยการปรับปรุงวิธีการที่ดีกว่าในการปฏิบัติงานประจำวัน จนทำให้สามารถก้าวออกจากจุดตั้งต้นไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ท้าทาย และด้วยการเตรียมพร้อมในทุกองคาพยพขององค์กรเอง ช่วยเสริมการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้มีความมั่นคงอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยมีจุดตั้งต้นที่วิสัยทัศน์และการวางกลยุทธ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

จากการสัมภาษณ์ทีมงานฝ่ายผลิตของ POL-BU จะเห็น “ความพร้อมในการรับการเปลี่ยนแปลง” ที่ชัดเจน การที่จะปรับกระบวนการผลิตเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ฝ่ายผลิตต้องมีระบบพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อรักษาต้นทุนให้คงที่ การสูญเสียต้องเป็นศูนย์ ดำเนินการต่อเนื่องได้ตลอด 24 โมง ด้วยการดูแลเครื่องจักรให้มีความเสถียรซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่เกิดจากการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทีมงานฝ่ายผลิตกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในการก้าวรุกไปข้างหน้า

ทุกองค์กรย่อมต้องการขึ้นไปยืนแถวหน้าด้วยกันทั้งนั้น แต่การจะ “ก้าวล้ำ” ก็ต้องกล้า “ก้าวรุก”
ความกล้าต้องมากับความพร้อม การบ่มเพาะความพร้อมในการก้าวไปด้วยกัน ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญมาก
“การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์” คือการพิสูจน์ความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง

 

แนะนำหลักสูตร Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้) 👉 คลิก

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น