.
บุคลากรเก่ง องค์กรแกร่ง พร้อมก้าวสู่เป้าหมายแห่งความเป็นเลิศ
เมื่อ ‘บุคลากร’ คือคนสำคัญหนึ่งที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร ผู้บริหารต่างก็คาดหวังว่า บุคลากรหรือพนักงาน จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าหมายขององค์กร อย่างไรก็ตาม … สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหาร หรือ HR ต้องให้ความสำคัญและกลับมาทบทวนว่า ที่ผ่านมา องค์กรได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาและผลักดันบุคลากรให้พร้อมด้วยศักยภาพแล้วหรือยัง ? เพราะอย่าลืมว่าการพัฒนาศักยภาพบุคลากร คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เขาเหล่านั้นสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังที่องค์กรตั้งไว้ได้
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ มหาวิทยาลัยมหิดล สององค์กรผู้คว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านบุคลากร หรือ Thailand Quality Class Plus: People ประจำปี 2565 ต่างก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรเช่นเดียวกัน ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘บุคลากร คือ ผู้ที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่วิสัยทัศน์’ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจะต้องทุ่มเท และวางแผนเพื่อพัฒนาคนของตัวเองให้ ‘เก่ง’
เราลองมาดูกันว่า ธ.ก.ส. และ มหิดล เขาเริ่มต้นในส่วนนี้อย่างไร และมีแง่มุมใดที่จะนำไปปรับใช้กับองค์กรของท่านได้บ้าง ?
เพราะการพัฒนาบุคลากร ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในวันเดียว
แต่เป็นสิ่งที่ต้องวางแผนเพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส. จึงได้วางแผนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการบุคลากรทั้งระยะสั้นและระยะยาว (HR Master Plan) เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรทั้งด้านอัตรากำลังและขีดความสามารถที่สอดคล้องกับทิศทางทั้งปัจจุบันและในอนาคต
เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากร ตั้งแต่การคัดเลือกเข้ามาปฏิบัติงานในองค์กร โดยเริ่มต้นจากการสื่อสารให้บุคลากรใหม่ได้รับทราบนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการเสริมสร้างการรับรู้ค่านิยมมหิดล (M-A-H-I-D-O-L) และแผนการพัฒนาบุคลากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามสายงาน เรียกได้ว่า roadmap การพัฒนาบุคลากรนั้นถูกดำเนินไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ฉะนั้น การวางแผนหรือการวางกลยุทธ์อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดทิศทางและตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรอย่างเหมาะสม
Reskill – Upskill เสริมความเก่ง สู่องค์กรแกร่ง
การยกระดับทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป การ Reskill – Upskill นับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง องค์กรจำเป็นต้องทบทวนว่า ทักษะของบุคลากรที่มีอยู่นั้นสอดรับ และเพียงพอต่อโลกในวันนี้ หรือในอนาคตหรือไม่
ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทาง BAAC Learning & Development Model เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากร โดยมุ่งเน้นการเตรียมทักษะให้พร้อมต่อการเป็นมืออาชีพในสายงาน การพัฒนาเพื่อรองรับระบบทดแทนตำแหน่ง และการเป็นผู้นำในอนาคต ผ่านการอบรม/สัมมนา ศึกษาดูงาน และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ด้านมหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะของบุคลากรในแต่ละสายงาน เช่น Global Talent การส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยด้วยหลักสูตร Professional Researcher Empowerment Program (PREP) โครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษา (MU-ADP) ฯลฯ
รวมถึงการมี Digital KM Masterclass ในการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ จากความรู้ที่ฝังลึกจากกระบวนการทำงานสู่ความรู้ที่ชัดแจ้งสามารถแบ่งปันให้คนในองค์กรได้ พร้อมร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ มาร่วมสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างสมรรถนะหลัก (Core Competency) ของมหาวิทยาลัยผ่านบุคลากรและนักศึกษาในการดำเนินการแต่ละพันธกิจอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากทักษะ คือ ‘ความสุข’ ของบุคลากร
ไม่เพียงแต่ความเก่งของบุคลากรเท่านั้น แต่การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ บุคลากรยังต้องมีทัศนคติที่ดีและมีความผูกพันต่อองค์กร สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข การมอบสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับบุคลากร จึงเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรมองข้าม ทั้ง ธ.ก.ส. และมหาวิทยาลัยมหิดล ต่างก็มีนโยบาย หรือมาตรการเพื่อดูแลบุคลากรในส่วนนี้ อาทิ
- มอบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของบุคลากร
- จัดให้มีมาตรการเพื่อดูแลบุคลากรในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระบาดของ COVID-19
- วางระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่โปร่งใสและเป็นธรรม