ยกระดับความคิด ด้วยกระบวนการคิด 5 แบบ
โดย คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร
สำหรับเนื้อหาของบทความครั้งนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญบางส่วนมาจาก หลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนา หัวข้อ “ยกระดับความคิด ด้วยกระบวนการคิด 5 แบบ หรือ Five Thinks in The Thinking Process” ที่ผู้เขียนเป็นวิทยากร และเป็นเนื้อหาต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ที่ชื่อว่า “ปลดล็อคความคิด ด้วยแนวคิด 5 แบบ” เพื่อขยายความถึงรูปแบบ วิธีการ และวัตถุประสงค์ของการนำแนวคิดทั้ง 5 แบบ มาใช้ในกระบวนการคิดให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ อีกทั้งการคิดแต่ละแบบยังมีประสิทธิภาพ (ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีความสูญเปล่าสิ้นเปลืองน้อยที่สุด) และมีประสิทธิผล (บรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้) จึงจะเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการคิดที่ตอบตรงใจ และได้ตรงโจทย์
ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.นที ทองศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในการเรียนคณิตศาสตร์มี 2 เรื่องที่ต้องเรียน หนึ่งคือวิธีคำนวณ ทักษะการคำนวณบางครั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียน ยกตัวอย่างเช่นเอาเลข 20 หลักมาคูณกันให้ได้เร็วที่สุด ผมจะเรียกว่าทักษะ ต้องอาศัยการฝึกฝน ซึ่งบางครั้งเราก็ใส่ให้เด็กมากเกินไป โดยลืมทักษะอีกตัว นั่นก็คือทักษะการคิด”
นอกจากนั้นท่านยังกล่าวเสริมเพิ่มเติมอีกว่า “คณิตศาสตร์ประกอบด้วยวิธีการคิดกับวิธีการคำนวณ ถ้าเราไม่ให้วิธีการคิด วิธีการคำนวณก็แทบจะไม่มีประโยชน์ เพราะวิธีการคำนวณสามารถถูกแทนได้ด้วยเครื่องคิดเลข สมมติว่าเอาเครื่องคิดเลขให้เด็กสองคน แล้วบอกว่าธนาคารให้ดอกเบี้ย 1.75 เปอร์เซ็นต์ ทบต้น ฝากเงิน 3 หมื่นบาทตอนนี้ อีก 30 ปีจะได้เงินเท่าไหร่ ถ้าไม่รู้วิธีการคิดหรือว่าคิดไม่เป็น มีเครื่องคิดเลขในมือก็คิดไม่ได้ ตรงนี้แหละที่เราต้องจัดสมดุล”
จะเห็นได้ว่าทั้งการคิดที่เป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้ในเงื่อนไขและบริบทที่หลากหลาย กับการคำนวณที่เป็นเรื่องทักษะที่ต้องฝึกฝนทำซ้ำๆบ่อยๆจนเกิดความชำนาญ จนสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ รวมกันเรียกว่า ความรู้ (Knowledge) ไม่ว่าความรู้นั้นจะได้มาโดยวิธีการใด อาทิ การศึกษาในระบบ ครูพักลักจำ เลียนแบบ ฟังบรรยายหรือเรื่องเล่าจากช่องทางต่างๆ อ่านตำราด้วยตัวเอง ศึกษาค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ เมื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสู่การลงมือปฏิบัติย่อมทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น ยิ่งนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายย่อมทำให้เกิดประสบการณ์มากขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนทำงานที่เก่งและได้รับการยอมรับ(โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับอายุ) จะมีตำแหน่งห้อยท้ายว่า “อาวุโส (Senior)” หรือมีตำแหน่งเฉพาะว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ “ผู้ชำนาญการ” ในงานด้านนั้นๆ
แต่คงน่าเสียดายถ้าความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของเขาจะปล่อยให้ติดตัวเขาไปเพียงลำพัง บางคนก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น บางคนก็เลื่อนขั้นไปอยู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือบางคนก็โยกย้ายไปแผนกอื่น คงจะดีกว่าถ้าได้ถอดเอาทักษะนั้นๆออกมาและพัฒนาต่อให้อยู่ในรูปแบบที่ถ่ายทอดไปสู่คนอื่นได้ (tools and techniques)
ในขณะเดียวกันทักษะความสามารถหรือเทคนิควิธีการที่เคยใช้ได้ดีในอดีต อาจจะไม่สอดรับกับยุคสมัยหรือบริบทที่เปลี่ยนไป นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีการพัฒนาและต่อยอดความรู้เดิมด้วยความรู้ใหม่ๆ ผ่านการทดลอง (experiment) จนได้กรรมวิธีใหม่ที่ได้ผลดีกว่าเดิมหลายเท่า นอกจากจะส่งผลดีต่อคนหรือหน่วยงานที่คิดค้นพัฒนาแล้ว หลายครั้งกรรมวิธีใหม่ๆนั้นยังพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบเทคโนโลยี (Technology) ที่สามารถถ่ายทอดหรือก่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจด้วยการขายไปให้หน่วยงานอื่นๆใช้ได้ในวงกว้างด้วย
จะเห็นได้ว่า ความรู้ (Knowledge) และความคิด (Thinking) เป็นพื้นฐานสำคัญของทุกคน เพราะโลกใบนี้ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีพัฒนาการที่ก้าวล้ำนำหน้าขึ้นตามลำดับ ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเราอาจจะมีความเข้าใจแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะพบว่าสิ่งที่เราเข้าใจมาตลอดนั้นผิดหรือคลาดเคลื่อน เมื่อค้นพบความรู้ใหม่หรือพิสูจน์ได้ว่าความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง ดังนั้นความรู้เป็นพลวัตรเราจึงไม่ควรยึดติด แต่ควรเปิดใจรับรู้สิ่งใหม่และพร้อมที่จะเรียนรู้มันตลอดเวลา
เป็นที่ทราบกันดีว่าในการผลิตสินค้า หรือการให้บริการ ถ้าจะบริหารจัดการให้ได้ดีจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีว่าคือ S-I-P-O-C
ในการคิดก็เช่นกันก็มีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นลำดับและกำหนดเป็นกระบวนการ เรียกว่า กระบวนการคิด ด้วยส่วนผสมขององค์ประกอบที่แตกต่างกันในกระบวนการคิดก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางความคิดที่ต่างกัน สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการทำความเข้าใจกับบริบท ที่มาที่ไป มูลเหตุจูงใจ หรือสภาพแวดล้อมของสิ่งที่กำลังจะศึกษาให้แจ่มแจ้งชัดเจนเสียก่อน เมื่อทบทวนจนแน่ใจว่ามีความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลต่างๆเพียงพอแล้ว จึงค่อยตั้งคำถาม หัวข้อ หรือโจทย์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่เรากำลังสนใจ จากนั้นจึงกำหนดวัตถุประสงค์ของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาให้ดีขึ้น เมื่อทำได้ครบจบถึงตรงนี้ เราก็จะสามารถมองออกได้ว่ากระบวนการคิดที่เราจะต้องดำเนินการต่อไปนั้น ควรจะใช้กระบวนการคิดที่สอดรับกับแนวคิดแบบใดใน 5 แบบ ดังนี้
กระบวนการคิดแบบที่ 1 (Critical Thinking process) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ t เล็ก ได้แก่ เครื่องมือ หรือ เทคนิคที่ใช้ในการแยกแยะข้อมูลความจริง การวิเคราะห์ปัญหาและหาสาเหตุ สำหรับสายโรงงานคงคุ้นเคยกับ 7 QC tools หรือการทำ QC story ร่วมกับ L ใหญ่ (Left brain) การใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก (คิดอย่างมีเหตุมีผล) โดยไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ (r – right brain) ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการคิดแบบนี้เป็นแนวคิดในเชิงปรับุปรุงแก้ไข หรือทำให้ฟังก์ชันดีกว่าเดิม (productive idea)
กระบวนการคิดแบบที่ 2 (Creative Thinking process) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ t เล็ก ได้แก่ เครื่องมือ หรือ เทคนิคที่ใช้ในการออกแบบ อาทิ design thinking หรือ brainstorming หรือ scamper โดยใช้ l (แอลเล็ก) หรือไม่ต้องใช้สมองซีกซ้ายมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับการใช้ใช้จินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ (R – Right brain) เป็นหลัก ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการคิดแบบนี้เป็นแนวคิดในเชิงออกแบบสร้างสรรค์ (creative idea)
กระบวนการคิดแบบที่ 3 (Innovative Thinking process) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ T (ทีตัวใหญ่ หมายถึง Technology) ไม่ว่าจะเป็น deep technology หรือ digital technology ร่วมกับ L สมองซีกซ้ายมากมาก และ R สมองซีกขวามากมาก ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการคิดแบบนี้เป็นแนวคิดในเชิงนวัตกรรม (innovative idea)
กระบวนการคิดแบบที่ 4 (System Thinking process) ยังคงใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวา ร่วมกับการคิดในเชิงโครงสร้าง (Structure) การจัดวางองค์ประกอบ ลำดับขั้นตอน ตลอดจนการวางแผนที่เป็นระบบที่เราคุ้นเคยกันดี PDCA ผลลัพธ์ของกระบวนการคิดแบบนี้ใช้ในการจัดวางโครงสร้างองค์กร การออกแบบกระบวนการทางธุรกิจ หรือการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและองค์กร (HR/OD)
กระบวนการคิดแบบที่ 5 (Strategic Thinking process) ยังคงใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวา ร่วมกับการคิดถึงการเปลี่ยนแปลง (Change) ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม(รูปแบบการดำรงชีวิต โครงสร้างประชากร ค่านิยมทางสังคม) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (การวิจัยและพัฒนา และความก้าวล้ำนำหน้าในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (การค้าของภูมิภาคและของโลก ฐานะทางเศรษฐกิจของประชากร สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ) การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม(สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ climate change) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ กฎระเบียบและการปกครองในแต่ละประเทศ ภูมิภาค และของโลก ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการคิดแบบนี้นำไปสู่ฉากทัศน์และการกำหนดแรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลง
เพื่อให้มองเห็นถึงกระบวนการคิดแต่ละแบบ และผลลัพธ์ที่ได้ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกระบวนการอย่างเป็นรูปธรรม ขอแสดงให้เห็นดังรูปต่อไปนี้ จะเห็นได้ว่าสินค้าทั้ง 3 แบบในรูปมาจากพื้นฐานแนวคิดทางธุรกิจที่แตกต่างกัน และต้องการผลลัพธ์ทางธุรกิจในเชิงมูลค่าที่ไม่เหมือนกัน
สินค้าอุตสาหกรรม (Industrial product) หรือการผลิตสินค้าที่มีสเปคหรือมาตรฐานตายตัวชัดเจน ให้ความสำคัญที่ฟังก์ชัน (Functions) การใช้งานพื้นฐานเป็นหลัก อีกทั้งมีระบบการผลิตที่ทำได้ง่าย สามารถผลิตได้จำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ (Low cost) ในราคาที่แข่งขันได้ เนื่องด้วยสินค้าของผู้ผลิตแต่ละรายที่แข่งขันกันนั้นก็ไม่ได้มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรืออาจเรียกว่า ขายสินค้าเหมือนๆกัน ราคาจึงกำหนดโดยตลาด (market price) รองเท้าแตะในภาพขายราคาไม่เกิน 100 บาท ในขณะที่ต้นทุนประมาณ 80 บาท ใครขายแพงกว่าย่อมขายได้ยาก ในขณะที่ขายถูกกว่าคู่แข่งก็จะมีกำไรน้อยมาก ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมประเภทนี้จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดที่เป็น Critical Thinking เป็นหลัก คือเน้นเรื่องประสิทธิภาพ และต้นทุนที่ต่ำ เพื่อให้มีกำไรมากขึ้น
สินค้าสร้างสรรค์ (Creative product หรือ Design product) คือเน้นการสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น ขายรูปลักษณ์ที่ตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึก (Feeling) ของผู้ซื้อ เน้นถูกใจใช่เลย ยิ่งสามารถออกแบบได้ไม่ซ้ำ หรือมีการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อลูกค้าเฉพาะคน เฉพาะกลุ่มได้ยิ่งดี ที่สำคัญอาจต้องสอดรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาดหรือแฟชั่นที่นิยมในแต่ละยุคสมัย ราคาสินค้าลักษณะนี้จึงสามารถบวกเพิ่มค่าออกแบบและแบรนด์สินค้าเพิ่มเติมจากราคาสินค้าทั่วไปที่มุ่งเน้นแค่ฟังก์ชันพื้นฐาน มีคุณค่าในเชิงส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นและลูกค้าก็ยังยินดีที่จะจ่าย จากรองเท้าแตะธรรมดา เมื่อออกแบบใหม่ใส่สีสันลวดลายก็สามารถขายได้ในราคามากกว่า 200 บาท ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 100 บาท ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมประเภทนี้จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดที่เป็น Creative Thinking เป็นหลัก คือเน้นความแตกต่าง หลากหลาย และตอบสนองต่อลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมที่สุด
สินค้านวัตกรรม (Innovative product) เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการในปัจจุบันให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ความแตกต่างในเชิงฟังก์ชันการใช้งานที่ต้องเหนือกว่าคู่แข่งแบบชนิดที่ก้าวตามไม่ทัน แต่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นหนึ่งเดียว และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added product – HVA) การคิดแบบก้าวกระโดดหรือก้าวล้ำนำไปข้างหน้านี้จึงเป็นการคิดที่สร้างปรากฏการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงอนาคต (Future) แน่นอนเมื่อมีวัสดุที่ดีจากเทคโนโลยีพิเศษ จึงสามารถตั้งราคาให้สูงได้มากและลูกค้าก็ยังยินดีที่จะจ่าย ในภาพรองเท้าที่สามารถใส่ลงน้ำได้และแห้งเร็ว หรือรองเท้าที่สามารถใส่เดินในป่ายึดเกาะได้ดี สามารถขายได้ในราคามากกว่า 1,000 บาท ในขณะที่ต้นทุนไม่เกิน 500 บาท
ในปัจจุบันองค์กรต่างๆจึงหันไปให้ความสำคัญกับการยกระดับความคิดให้กับพนักงานทุกคนในองค์กร เพราะแค่ทำงานซ้ำๆตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติไม่ใช่ทางออกของการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจอีกต่อไป เมื่อมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสินค้า (product standard) หรือมาตรฐานการจัดการ (management standard) กลายเป็นเพียงพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องมี แต่ถ้าจะทำให้ได้ดีกว่า เหนือกว่า (more is better) ทุกคนจำเป็นต้องให้เวลากับกระบวนการคิดให้มากขึ้น
ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก
‘Capability Development Program 2023’ พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง