.
รู้เร็ว ปรับตัวไว เกาะติด BUSINESS MEGATRENDS
นำธุรกิจสู่ชัยชนะในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง
.
ในการทำธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเทรนด์เสมอไป อันที่จริงการเป็นผู้ตาม หรือ Trend Follower ก็มีข้อดีเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะได้เห็นตัวอย่างการลองผิดลองถูกหรือการปรับตัวแล้ว ผู้ประกอบการยังมีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อลงมือทำ แม้จะเป็นผู้ตามเทรนด์ แต่ก็นับว่าตามหลังผู้นำไม่มาก โดยยังมีโอกาสสูงที่จะพลิกบทบาท และสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน
แล้วเทรนด์ธุรกิจที่ต้องตามให้ทันมีอะไรบ้าง ?
ข้อมูลจาก โครงการประเทศไทยในอนาคต Future Thailand ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มิติที่ 5 เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในหลากหลายด้าน ทั้งสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎระเบียบ และการเมืองต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดเป็น ‘8 เมกะเทรนด์’ ซึ่งเป็นแนวโน้มของรูปแบบธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องตามติด และวางกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งใน 8 แนวโน้มนั้นจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อมกัน
แนวโน้มที่ 1 Neo-Ecological Business
เทรนด์การทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นผลมาจากแรงขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวโน้มของธุรกิจในอนาคตจึงควรนำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ขัดต่อกฎระเบียบ หรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มที่ 2 Ethical Business Operation
การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม จากกระแสสังคมและการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมต่าง ๆ ทำให้ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความใส่ใจในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น และต่อต้านการซื้อสินค้าจากธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบ เช่น ธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานเกินเวลา หรือ การทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งในอนาคต ธุรกิจจะถูกตัดสินจากความคิดเห็นของผู้บริโภคเป็นหลัก
ดังนั้น ธุรกิจในอนาคตจะต้องแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ง่าย
แนวโน้มที่ 3 Everything as a Service
ธุรกิจจะมีการปรับรูปแบบจากการผลิตสินค้าเพื่อขาย เป็นการให้บริการสินค้า แทน โดยมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งธุรกิจรูปแบบดังกล่าวกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เกิดจากแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ ที่เข้าถึงง่ายขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังสงสัยว่า ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องปรับให้เป็น Everything as a Service หรือไม่ ? อาจเริ่มจากการถามตนเองในคำถามดังนี้เสียก่อน
- ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจของคุณ ต้องการมอบประสบการณ์ในการใช้แก่ลูกค้าหรือไม่ ?
- คุณค่าที่จะมอบให้ลูกค้าคืออะไร ?
- การนำเสนอข้อมูล โดยมุ่งเน้นที่ความน่าเชื่อถือของผลิคภัณฑ์ที่นำเสนอ อาทิ คุณภาพ
- การคำนึงถึงโครงสร้างต้นทุน อาทิ ค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ
แนวโน้มที่ 4 Digital Touch Point
ธุรกิจต้องพัฒนาช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่ใช้สื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเกิด COVID-19 อาทิ การใช้ Social Media ในการติดต่อลูกค้าและโปรโมทผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัด Live Events บน Social Media Platforms หรือโฆษณาแฝง
ทั้งนี้ โฆษณาแฝงที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีจะมีลักษณะแนบเนียน ไม่เน้นการขายที่ชัดเจน เพราะธรรมชาติของลูกค้ารุ่นใหม่นั้นมีลักษณะที่ชอบค้นหาและตัดสินใจด้วยตัวเอง
แนวโน้มที่ 5 Micro Supply Chain
การบริหารจัดการ supply ให้มีระดับที่เหมาะสม เป็นผลมาจากการมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และความสามารถทางการขนส่งที่ไร้พรมแดน การผลิตในอนาคตจะสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า ทั้งรูปแบบและจำนวน โดบสามารถค้นหาวัตถุดิบได้จากซัพพลายเออร์ทั่วโลกอย่างง่ายดาย
แนวโน้มที่ 6 Smart Production
การผลิตจะมุ่งสู่การผลิตอัจฉริยะ ธุรกิจได้นำแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการจัดการที่ต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ Smart Production คงต้องพิจารณาก่อนว่า สามารถตอบโจทย์ความท้ายหรือสร้างโอกาสให้กับองค์กรได้หรือไม่ รวมถึงศึกษาว่าหากจะก้าวไปสู่ Smart Production มีเกณฑ์หรือปัจจัยใดบ้างที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ
แนวโน้มที่ 7 Big Data Analytic & AI
การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมสร้างนวัตกรรมที่เหนือความคาดหมาย เพื่อตอบโจทย์รสนิยมของผู้บริโภค
ตัวอย่าง สิ่งที่ใช้ AI ทำ
- รวบรวมข้อมูลลูกค้า เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าแบบเชิงลึก
- การวิเคราะห์ Big Da เพื่อทำ A/B Testing
- ทำ Individualism Marketing เพื่อนำไปสร้างคอนเทนต์การตลาด
แนวโน้มที่ 8 On-Demand Workforce
การบริหารแรงงานยุคใหม่ที่มีความยืดหยุ่น เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่อยากเข้าสู่ระบบการทำงานประจำ แต่อยากทำงานเป็น Gig Worker, Freelance มากกว่า องค์กรอาจต้องพิจารณาว่าแรงงานที่ต้องการจะหาจากที่ใดได้บ้าง และจะมีวิธีบริหารอย่างไรให้เหมาะสม
ต่อไปก็ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์และตัดสินใจแล้วว่า แนวโน้มหรือเทรนด์ในข้อใดบ้าง ที่เหมาะสมกับวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของคุณในอนาคต
ที่มา: คุยสบายบ่ายวันศุกร์กับ Productivity GURU EP.51 Global Mega Trends กับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2023 โดย คุณนันทพร อังอติชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
👉 รับชมย้อนหลัง คลิก https://youtu.be/W99gTtmKH2Y