21 เมษายน 2022

ความรู้ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยว

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

ครั้งหนึ่งในการทำ Role play ถอดบทเรียนจากวง CoP โดยตั้งประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ใกล้ตัวที่สุดนั่นคือ “ทำส้มตำปลาร้าอย่างไรให้อร่อย” เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมมาจากสายงานที่หลากหลาย ปรากฏว่านอกจากจะได้เคล็ดลับท่วมท้นเกี่ยวกับการตำส้มตำปลาร้า ยังพบว่าการทำส้มตำปลาร้าให้อร่อยนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการปรุงแต่มีองค์ประกอบหลายประการที่ทำให้ส้มตำครกนั้นอร่อยดังใจ

นั่นคือสิ่งที่ยืนยันได้ว่าทุกองค์ความรู้ไม่ได้มีลักษณะเชิงเดี่ยว แต่มีองค์ประกอบที่สัมพันธ์ซึ่งกันละกันทำให้การนำความรู้ไปใช้ได้ผลจริง การถอดองค์ความรู้จึงต้องให้ความสนใจในประเด็นนี้ ด้วยการฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ หรือที่เรียกกันว่า System Thinking จนกลายเป็นวิธีคิดติดตัว

System Thinking ทำให้มองเห็นภาพรวมที่มีองค์ประกอบส่วนย่อยที่สัมพันธ์กัน ช่วยให้เกิดความเข้าใจในปรากฏการณ์ วิธีการชัดเจนมากขึ้น ถ้าไม่มีการคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดการมองอย่างแยกส่วนนำไปสู่ทางตันอย่างง่ายดาย

 

การทำส้มตำปลาร้าให้อร่อย ถ้ามองแยกส่วนจะมุ่งไปที่เทคนิคการปรุง สัดส่วนของการใช้เครื่องปรุง แต่ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นองค์ประกอบของส้มตำปลาร้าที่มีวัตถุดิบหลายชนิด ทั้งวัตถุดิบหลักอย่างมะละกอดิบ ปลาร้า ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ เป็นต้น และวัตถุดิบรองที่เป็นเครื่องปรุงให้มีรสชาติ ได้แก่ พริกสด กระเทียม มะนาว น้ำตาล ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดล้วนมีหลักการในการคัดเลือกคุณภาพที่จะทำให้ส้มตำปลาร้าจานนั้นมีรสชาติที่เป็นเลิศตามต้องการ

 

การฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบทำได้ไม่ยาก เริ่มการมองปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน ปัญหาที่พบในการทำงาน ปรากฏการณ์ต่าง ๆ แล้วลองตั้งคำถามว่าที่เป็นเช่นนั้นมีสาเหตุจากอะไร เชื่อมโยงกับเรื่องใดบ้าง เครื่องมือการวิเคราะห์ปัญหาหลายชิ้นที่สามารถช่วยฝึกทักษะในเรื่องนี้ได้ดี เช่น Mind mapping, Tree Diagram , Fishbone Diagram เป็นต้น

การคิดอย่างเป็นระบบเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการถอดองค์ความรู้ที่จะทำให้ความรู้ที่ได้มานั้นมีความครบถ้วน ดังนั้นก่อนที่จะไปถอดองค์ความรู้ในเรื่องใดก็ตาม ต้องหาข้อมูลเบื้องต้นถึงความเกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อหาความรู้นั้น เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า วิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ก่อนที่จะเลือกใช้วัตถุดิบ เทคโนโลยีใด ๆ หรือทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ ความรู้เกี่ยวกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญขั้นตอนแรกที่ต้องเรียนรู้ และการเรียนรู้ลูกค้าก็จะมีองค์ประกอบย่อยอีกหลายประเด็น

ความรู้ในแต่ละเรื่องมีองค์ประกอบในเนื้อหาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของความรู้นั้น อาจจะมีทั้งส่วนที่เป็นทักษะหรือเป็นวิธีการปฏิบัติที่ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูกมาแล้ว ซึ่งวิธีการมองในภาพรวมสามารถเริ่มจากการหากรอบของความรู้นั้นจากเอกสารต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ เช่น ถ้าต้องการไปหาความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถศึกษาได้จากกรณีศึกษา Best Practices ในเรื่องนี้ จะทำให้เห็นว่ามีเรื่องใดบ้างที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

การมองเห็นองค์ประกอบของความรู้จะเข้ามาช่วยในการตั้งกรอบคำถามในการถอดองค์ความรู้อย่างมีนัยสำคัญ การตั้งคำถามโดยไม่เข้าใจในบริบทความรู้นั้นๆ เป็นความล้มเหลวขั้นแรกของการถอดองค์ความรู้เลยทีเดียว จากประสบการณ์ที่ทำหน้าที่โค้ชในเรื่องนี้พบว่าการตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่ และยากยิ่งกว่าคือการควบคุมทิศทางในการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้เนื้อหาตามกรอบคำถาม แต่ถ้ามีทักษะที่ดีในการคิดอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ถือได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง

การคิดอย่างเป็นระบบไม่เพียงแต่เป็นตัวช่วยกำกับทิศทางการถอดองค์ความรู้เท่านั้น แต่ยังทำให้ได้ความรู้ที่เกี่ยวข้องเกินความคาดหมาย หรือได้เรียนรู้ในประเด็นที่ไม่เคยรู้ จากคำตอบที่ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงของความรู้ที่แตกแขนงออกไปเกินความคาดหวัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าทุกครั้งที่ได้ไปถอดองค์ความรู้สมมุติว่าเป้าหมายไว้คือ 5 แต่สิ่งที่ได้มาอาจจะถึง 10 และยังสามารถนำความรู้นั้นไปต่อยอดในงานได้อีกหลากหลาย

ดังนั้นการถอดองค์ความรู้ที่จะได้รับความรู้ตามความคาดหวังและเกินกว่าความคาดหวังจึงต้องตั้งต้นที่การมองความรู้นั้นในภาพรวม ให้เห็นองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์กันของความรู้นั้น เพื่อที่จะนำความรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล เหมือนการทำส้มตำปลาร้า ไม่ใช่แค่ความรู้ในสัดส่วนของเครื่องปรุง แต่ยังต้องมีความรู้ในการคัดเลือกวัตถุดิบแต่ละประเภท และขั้นตอนในการปรุงที่ถูกต้องนั่นเอง

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น