CP Group กับ How to ขับเคลื่อนองค์กรฝ่าวิกฤตด้วย
“ความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน”
เราเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคและการได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วม สำหรับกลุ่มบุคลากรที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่องค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำองค์กรให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและนำองค์กรเข้าสู่ความปกติรูปแบบใหม่ (New normal)
ความเสมอภาคจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม
หากเราจะส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในองค์กร ก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันก่อน เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและคำนึงถึงไปพร้อม ๆ กัน
เมื่อ ความเท่าเทียม (Equality) คือ การเน้นหลักความเท่ากัน ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติ หรือ โอกาส เท่ากันหมด ในขณะที่ ความเสมอภาค (Equity) เน้นหลักความเป็นธรรม เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อแต่ละบุคคลตามความต้องการและลักษณะเฉพาะ ด้วยการจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อไปลบกับข้อจำกัด
ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาค
บนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคม
เราพยายามส่งเสริมให้องค์กรยึดมั่นในหลักการ การส่งเสริมคุณค่า หรือ value ไม่ได้เน้นเชิงธุรกิจ หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงปัจจัยทุกด้าน หรือ ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance) ซึ่ง ปัจจุบันคนอาจจะมองว่าตัว Social นั้นส่งเสริมได้ยากหรือน้อยที่สุด เพราะจับต้องยาก แต่เรามองว่าในเรื่องของความเท่าเทียมและความเสมอภาคเป็นเรื่องหนึ่งที่จะสามารถทำได้เป็นรูปธรรมแล้วสามารถจับต้องได้
ปัจจุบันความหลากหลายมีในทุกมิติ ทั้งทัศนคติ วัฒนธรรม ความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ รสนิยมทางเพศ ลักษณะและข้อจำกัด ซึ่งสังคมให้ความสำคัญกับองค์กรที่เปิดรับและเปิดกว้าง และเราจำเป็นที่จะต้องเอื้อให้คนเหล่านี้สามารถที่จะใช้ทักษะ ความสามารถของเขาเหล่านี้ในการทำงานได้อย่างเต็มที่
การส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาคในองค์กรบนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคมนั้น จะนำไปสู่การยอมรับหรือการอยู่ร่วมกัน (Inclusion) และให้การยอมรับคุณค่าของความแตกต่างระหว่างบุคคล พนักงานจะรู้สึกได้รับการยอมรับและมีคุณค่าจากเพื่อนพนักงานในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และที่สำคัญคือเขาสามารถที่จะดึงพลัง หรือว่าความสามารถของเขาออกมาเพื่อผลักดันองค์กรได้อย่างเต็มที่
องค์กรขนาดใหญ่อย่าง CP Group
ส่งเสริมความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน อย่างไรบ้าง
เครือเจริญโภคภัณฑ์เรามีธุรกิจที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งหมด 14 กลุ่มธุรกิจ หลัก ๆ ของเราคือเรื่องของเกษตรอาหาร กับ ค้าปลีก ค้าส่งและการกระจายสินค้า และการโทรคมนาคม และก็มีธุรกิจอื่นอย่างเช่น พลาสติก บรรจุภัณฑ์ E-Commerce การธนาคาร หรือว่ายานยนต์ ธุรกิจของเรากระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่จะต้องรับมือกับความหลากหลายและอยู่ร่วมกันเป็นโจทย์ใหญ่ของเราภายใต้กรอบของการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันพนักงานของเราทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 4 แสน 5 หมื่นคน ยิ่งทำให้เราต้องเน้นในเรื่องของความเท่าเทียม และความเสมอภาค โดยเราใช้วิธีการขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน ดังนี้
- เริ่มมาจากความมุ่งมั่นของท่านประธานบริษัท มีการประกาศความมุ่งมั่นในเครืออย่างชัดเจน เราได้มีการกำหนดจรรยาบรรณธุรกิจและนโยบายของเครือ ครอบคลุมเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งหมด และสร้างความตระหนักรู้ผ่านการฝึกอบรมในรูปแบบต่าง ๆ
- กำหนดยุทธศาสตร์ของเครือ ที่เราเรียกว่าค่านิยม 3 ประโยชน์ คือ Heart เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้ถูกต้องและดีที่สุด Health เรื่องของสุขภาพ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีสุขภาพที่ดี Home จะเริ่มเจาะลึกเข้าไปไม่ใช่แค่เพียงแต่พนักงาน แต่เป็นเรื่องของคู่ค้า หรือตัวลูกค้าของเราด้วย
- ตั้งเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำกับและดูแลกิจการ เรื่องของสิทธิมนุษยชน วิธีลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาผู้นำ และทรัพยากรบุคคลต่าง ๆ
- นโยบายและการปลูกฝัง มีนโยบายที่ทุกคนสามารถหันกลับไปอ่านได้ตลอดเวลา และมีการฝึกอบรม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดใหม่ ประเด็นทั่วโลกที่ภาคเอกชนควรหันมาสนใจผ่านการอบรม
- มีการประเมินและติดตามผลอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของเครือ เราจะตั้งเป้าหมายแต่ละปี ว่าภายในปีนี้เราจะทำอะไรบ้างเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
- ให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร พนักงานทุกคนจะเข้าใจว่าตอนนี้เราดำเนินการไหนแล้ว เรามีอะไรที่จะต้องพัฒนาร่วมกันอีกและมีข้อมูลข่าวสารอย่างไรบ้าง
- การมีส่วนร่วมของพนักงานก็เป็นส่วนที่สำคัญ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกัน เพราะการสื่อสารแบบ 2 ฝั่ง ระหว่างตัวผู้บริหารกับพนักงาน มีประโยชน์เป็นส่วนที่ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ และช่วยสร้างความมีส่วนร่วม ความเชื่อใจและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่อยู่ร่วมกันที่ดีได้
- การเยียวยาและรับข้อร้องเรียน โดยการเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน แล้วนำเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นมากลั่นกรองหาวิธีการเยียวยา เพื่อจะทำให้ทุกคนในองค์กรอยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุด
จากนโยบายสู่วิธีการปฏิบัติ
เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่ดี
สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ได้ผู้สมัครงานที่หลากหลาย
จุดแรกที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างดี เริ่มจากการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานในองค์กรของเราบนพื้นฐานของความหลากหลาย
- ไม่จำกัดทั้งเรื่องของ วัย เพศ ศาสนา อายุ อย่างเช่นกลุ่มที่เป็นเยาวชนในเซเว่น แม้ว่าจะเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของหลักกฎหมาย
- โครงการ 60 ยังแจ๋วของโลตัส ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเพื่อใช้เวลาหลังเกษียณ
- ในกลุ่มศาสนา และ คนพิการ เราก็มีการจ้างโดยไม่เลือกปฏิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น
ให้โอกาสความก้าวหน้าในการทำงานอย่างเท่าเทียม
เราให้พนักงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมการพัฒนาทักษะและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเท่าเทียม พนักงานที่มีความหลากหลายมากมายมีความต้องการเฉพาะ และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการฝึกอบรมของเราต้องให้มีความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มด้วย
ปี 2563 ตัวเลขการจ้างงานทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในอัตราส่วนที่แทบจะเท่าเทียมกันแล้ว แสดงให้เห็นว่าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่งเสริมในเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เช่น การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของสุภาพสตรีให้สามารถขึ้นมามีบทบาทในระดับผู้บริหาร หรือผู้บริหารระดับกลาง และระดับสูง เราพยายามที่จะส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนา แนวทางฝึกอบรมต่าง ๆ ให้ผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นมาถึงจุดที่เป็นผู้บริหารระดับสูงได้
การสื่อสารเกี่ยวกับความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน
เพราะการมีพนักงานที่มีความหลากหลายในองค์กรขนาดใหญ่ การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ความเข้าใจของพนักงานแต่ละกลุ่มเป็นเรื่องที่สำคัญ
- มีช่องทางในการสื่อสารกับพนักงานหลายช่องทาง ไม่ว่าจะแอปพลิเคชัน อีเมล ออนไลน์ หรือการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และความหลากหลาย ทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจถึงความหลากหลาย ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเป็นสื่อที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และเข้าใจได้อย่างเท่าเทียมกัน
ตัวอย่างเช่น ช่วง Pride Month หรือช่วงเวลาที่ชาว LGBT จะมีกิจกรรมร่วมกันแสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ทางบริษัท เช่น True ก็จัดทำโบรชัวร์ หรืออินโฟกราฟิก เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจว่ากลุ่มเพศทางเลือกมีความหลากหลาย หรือว่า LGBTQ , LGBTQ PLUS หมายถึงอะไร คนกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรแล้วกระจายออกทางอีเมล หรือแอปพลิเคชันของพนักงานในเครือ
เสริมสร้างวัฒนธรรมความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน
การสร้างเสริมตัววัฒนธรรมความหลากหลายมีหลายวิธีการ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความมีส่วนร่วม
- จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม เช่น ที่ True จะมีการจัดทำห้องน้ำเสมอภาค เพื่อให้กลุ่มที่เป็นเพศทางเลือกสามารถใช้ห้องน้ำได้อย่างรู้สึกปลอดภัย ส่วนคนพิการก็จะมีห้องน้ำที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในหลายบริษัท เช่น CP ALL จะมีมุมนมแม่ ที่สนับสนุนให้พนักงานตั้งครรภ์ หรือพนักงานที่เป็นแม่สามารถใช้ห้องตรงนี้เพื่อปั๊มนม และการดูแลบุตรระหว่างทำงาน อีกทั้งยังมี ห้องประกอบศาสนกิจ หรือห้องละหมาดให้พนักงานที่เป็นกลุ่มชาวมุสลิม รวมถึง จัดสรรที่จอดรถให้เฉพาะผู้พิการ คนชรา และสตรีมีครรภ์
- เปิดรับการแสดงความคิดเห็น หรือข้อร้องเรียน เพราะเรามีคนจำนวนมากถึง 4แสน5หมื่นคน เมื่อมาอยู่รวมกัน แต่ละคนมีความแตกต่างมาจากพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะมีความต้องการ มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน การเปิดรับความคิดเห็น หรือข้อร้องเรียน ก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก ซึ่งหลักการการรับฟังข้อคิดเห็นมีทั้งหมด 7 ข้อ สิ่งที่ดำเนินการรับฟัง แนวทางปฏิบัติก็จะต้องถูกกฎหมาย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีความโปร่งใส และ เรามีการเก็บความคิดเห็น ข้อร้องเรียนต่าง ๆ เป็นความลับของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ในบางครั้งเรานำข้อร้องเรียน มาเป็นแหล่งความรู้ในการพัฒนาแนวปฏิบัติ หรือเป็นการตอบรับในความต้องการที่แตกต่างกันต่อไป เพื่อเราจะนำมาพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้น
- การรับฟังเสียงของพนักงานทำให้สร้างความเชื่อใจ และเป็นการลดช่องว่างของตัวผู้บริหารและพนักงาน เพื่อเป็นการผนึกกำลังการทำงานกันได้อย่างสบายใจที่สุด และเป็นการเปิดให้เครือได้รับข้อมูลทางธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนมีไอเดียที่แตกต่างกันออกไป และเข้ามาส่งเสริมขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วย นอกจากนั้นการที่คนคนหนึ่งจะแสดงความคิดเห็นออกมาก็ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเปิดช่องทางให้หลากหลายก็ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเหล่านั้นได้ด้วย นอกจากนี้เรามีการรับฟังข้อคิดเห็นของพนักงานข้ามชาติอีกด้วย