4 กุมภาพันธ์ 2022

Pfizer เผยวิธีจัดการ ‘Hybrid Work’
ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมพิชิตทุกเป้าหมายและได้ใจพนักงาน

กว่าสองปีที่ผ่านมา การระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเราต่างปรับตัวกันแทบไม่ทัน ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ทำให้เราได้เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบางธุรกิจอย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงเกิด Emerging Trends หรือ กระแสที่เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดที่คนทำธุรกิจต้องจับตามอง โดยเฉพาะกระแส ‘การทำงานแบบผสมผสาน – Hybrid Work’

บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด – Pfizer ได้เล่าถึงแนวทางปฏิบัติงานแบบ Hybrid Work หรือ Hybrid Workplace ว่าเป็น 1 ใน Emerging Trends ที่เกิดขึ้นและถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยถูกนำไปปรับใช้แล้วกับหลาย ๆ องค์กร ซึ่ง Pfizer เองก็เป็นหนึ่งในนั้น บทความนี้เราจึงตั้งใจพาทุกคนมาเรียนรู้วิธีบริหารจัดการองค์กร และการดูแลพนักงานภายใต้การทำงานแบบ Hybrid Work ให้เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ผ่านประสบการณ์และคำแนะนำของ Pfizer ไปพร้อมกัน

Hybrid work and Work from home

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับนิยามของ Hybrid Work ตามแบบฉบับของ Pfizer กันก่อน หากใครคิดว่า ‘Hybrid Work = Work from Home’ อาจเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย เพราะแท้ที่จริงแล้ว Hybrid Work คือ การทำงานในรูปแบบที่มีพนักงานบางกลุ่มทำงานที่ออฟฟิศ และบางกลุ่มไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home เท่านั้น พนักงานสามารถมีอิสระในการเลือกสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ โรงแรม ร้านอาหาร หรือหากจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้เช่นกัน

3 สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้ Hybrid Work มีประสิทธิภาพ

Business team Meeting Working Talking Concept

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่หลายองค์กรกังวลและตั้งคำถามมากที่สุดสำหรับการทำงานแบบ Hybrid Work นั่นก็คือ ‘ประสิทธิภาพของการทำงาน’ หากไม่ได้พบเจอกันเลย องค์กรจะมีการบริหารจัดการ หรือวิธีสื่อสารระหว่างกันอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ประสิทธิภาพลดลง หรือจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกหรือไม่ ? ในฐานะขององค์กรที่ใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid Work นั้น Pfizer ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า

หากต้องการให้ Hybrid Work มีประสิทธิภาพ ไร้ปัญหา องค์กรวางใจ
และพนักงานสบายใจ ต้องคำนึง 3 สิ่ง ดังนี้

วัฒนธรรมการทำงาน
Working Culture

อันสืบเนื่องมาจากความกังวลในด้านต่าง ๆ เช่น ความไม่สบายใจจากการที่ไม่ได้พบหน้ากัน โดยเฉพาะกับหัวหน้างานที่มักจะกลัวว่า การที่ไม่เห็นลูกน้องอยู่ในสายตา จะทำให้ลูกน้องไม่ทำงานหรือใช้เวลางานไปทำกิจกรรมอื่น จึงพยายามจับจ้องตลอดเวลา ส่งผลให้ลูกน้องเกิดความกดดันและความเครียด จนกระทบกับประสิทธิภาพของการทำงาน

องค์กรควรทำอย่างไร ?

  • กำหนดนโยบายให้ชัดเจน ทั้งกฎระเบียบ ระยะเวลาการดำเนินงาน ใครบ้างที่สามารถหรือไม่สามารถทำงานในรูปแบบนี้ได้ รวมถึงข้อตกลงในการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานไม่ติดขัด และสบายใจทุกฝ่าย
  • วัดกันที่ผลงาน หรือ Result Driven Base กำหนดวิธีวัดผลและตั้งเป้าหมายให้กับพนักงาน โดยไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเวลาเริ่มงานหรือเลิกงานมากนัก โดยวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่ช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
  • เชื่อใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เฉพาะองค์กรที่มีการ Hybrid Work เท่านั้น เพราะ Trust คือสิ่งพื้นฐานที่ทุกองค์กรควรมี
  • สื่อสารอย่างเหมาะสม สร้างวัฒนธรรมที่สามารถพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผล ปราศจากการใช้อารมณ์ หมั่นสร้างความเข้าใจและช่วยเหลือกันเมื่อเกิดปัญหา

ความผูกพันต่อองค์กรและคุณภาพชีวิตของพนักงานที่อาจลดลง
Engagement & Wellbeing

ในบางครั้งการไม่ได้พบเจอเพื่อนร่วมงานเป็นเวลานาน อาจทำให้ความรู้สึกผูกพันหรือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรขาดหายไป รวมถึงความสะดวกสบายในการทำงานที่แม้พนักงานสามารถเลือกสถานที่ทำงานเองได้ แต่ก็อาจต้องเผชิญกับความไม่สะดวกสบายบางอย่าง เช่น เก้าอี้ หรือ โต๊ะทำงานไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาทางร่างกายตามมา

องค์กรควรทำอย่างไร ?

  • พูดคุยและหากิจกรรมทำร่วมกัน อาจเป็น Virtual Activity ที่สร้างความบันเทิง เพื่อลดความเครียดจากการทำงาน เช่น ทำอาหารร่วมกัน เล่นเกมต่าง ๆ ออกกำลังกายร่วมกันออนไลน์
  • ห่วงใยสุขภาพของพนักงานมากขึ้น หากเป็นไปได้องค์กรอาจจัดหาอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงาน นอกจากจะช่วยให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังเป็นการสร้างความผูกพันต่อองค์กรให้แก่พนักงานอีกด้วย

ความสามารถด้านดิจิทัล
Digital Literacy

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกดิจิทัล อาจทำให้มีพนักงานบางกลุ่มไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ยิ่งการทำงานแบบ Hybrid Work นั้นจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง การที่พนักงานขาดทักษะ หรือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอาจทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

องค์กรควรทำอย่างไร ?

  • จัดให้มีการ Training ให้ความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยี หรือโปรแกรมสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน
  • สร้างทีม Real-Time Support เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งานจะได้สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างทันท่วงที
  • เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีพอในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะแต่ละองค์กรย่อมมีลักษณะ หรือความพร้อมที่แตกต่างกันออกไป คำแนะนำของ Pfizer ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น จึงเป็นเพียงแนวทางที่องค์กรควรนำไปปรับเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับองค์กรตนเอง โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ การรู้จักองค์กร รู้ว่าคนในองค์กรเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นปัจจัยในการกำหนดแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานแบบ Hybrid Workplace นั้นมีผลิตภาพ สามารถสร้างสรรค์ผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมาย มอบความสุขให้แก่พนักงาน และนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

ที่มา : สัมมนาออนไลน์ Productivity Trend Talk: Are you ready for Hybrid Working ? หัวข้อ How to Manage Age Diversity in Your (Hybrid) Workplace โดย คุณศศิวิมล วงศ์ไวโรจน์ – ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

หลักสูตรแนะนำ

หลักสูตร How to Manage Hybrid/ Remote Working that “Work”
(บริหารการทำงานรูปแบบ Hybrid/ Remote Work)

 

 

 

 




Writer